xs
xsm
sm
md
lg

(รับชมคลิป) “แม็คกรุ๊ป” ตั้งป้อมรบ e-Commerce ปัดฝุ่น mcshop สู้ออนไลน์ช้อปปิ้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นางชนัญญารักษ์ เพ็ชร์รัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MC
บมจ.แม็คกรุ๊ปเผยผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 63 โกยกำไร 20% รายได้เติบโต 12% แตะ 1,132 ล้านบาท ทำนิวไฮในรอบ 3 ปี ย้ำสัญญาณ Turnaround ประกาศเกมรุก ใช้ Big Data วิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภคเชิงลึก เชื่อมต่อออฟไลน์-ออนไลน์ เพิ่มประสิทธิภาพซัปพลายเซน ปรับโฉมร้านขาย เน้นตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น พร้อมปัดฝุ่น mcshop.com อัดโปรฯ หวังดึงส่วนแบ่งการตลาดออนไลน์ชอปปิ้ง โปรยยาหอมจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 0.35 บาท ในวันที่ 4 มีนาคม 2563

นางชนัญญารักษ์ เพ็ชร์รัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากภาพรวมผลการดำเนินงานไตรมาส 2 รอบปีบัญชี 2563 (1 ต.ค.-31 ธ.ค. 2562) รายได้และอัตรากำไรสุทธิทำสถิติสูงสุดในรอบ 3 ปี สวนกระแสภาพรวมเศรษฐกิจและตลาดค้าปลีกที่ปรับตัวชะลอลง สะท้อนสัญญาณ Turnaround อย่างชัดเจนนั้น เกิดจากแผนงานการบริหารจัดทัพเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับพื้นฐานธุรกิจ โดยภาพรวมผลการดำเนินงานไตรมาส 2 รอบปีบัญชี 2563 (1 ต.ค.-31 ธ.ค. 2562) มีรายได้จากการขายสินค้าและอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ทำสถิติสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยรายได้จากการขายสินค้ารวม 1,132 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) เติบโต 9.4% โดยเฉพาะร้านค้าปลีกของตนเอง (Free-Standing Shop) ที่เพิ่มขึ้น 18.4% แตะ 671 ล้านบาท ห้างสรรพสินค้า (Department Store) เพิ่มขึ้น 9.4% แตะ 368 ล้านบาท และร้านค้าออนไลน์ (E-Commerce) เพิ่มขึ้น 41.3% แตะ 94 ล้านบาท ผลักดันรายได้เติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปีต่อเนื่อง และรักษาอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 14-16% โดยอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) รักษาระดับอยู่ที่ 58% เท่ากับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการบริหารจัดการต้นทุนสินค้า อีกทั้งบริษัทยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้จากการขาย (SG&A) อยู่ที่ 36.5% ปรับลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 39.5% ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) เพิ่มขึ้นเป็น 19.8% จาก 18.6% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้มีการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใหม่ โดยเน้นความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก จากเดิมที่บริษัทเป็นผู้กำหนดความต้องการของลูกค้าเอง โดยจะเน้นยกระดับคุณภาพสินค้าแบรนด์แม็คยีนส์ ผ่านกลยุทธ์หลัก 4C ได้แก่

1. Customer-centric and Data-driven Approach โดยจะดึง Big Data ที่มีมายาวนานกว่า 45 ปี นำมาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Insight) ผู้บริโภค เพื่อออกแบบและพัฒนาสินค้าใหม่ได้ตรงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย สอดรับเทรนด์ยุคปัจจุบัน


2. Customer Base Expansion สร้างประสบการณ์ชอปปิ้งรูปแบบใหม่ ด้วยการเชื่อมต่อออฟไลน์ที่มีกว่า 600 จุดในปัจจุบันเข้ากับออนไลน์ (O2O) อย่างไร้รอยต่อ ขยายความร่วมมือพันธมิตรแบรนด์ใหม่ๆ และใช้ Influencer กระตุ้นการรับรู้และจดจำแบรนด์ในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่


3. Connected Supply-chain บริหารจัดการซัปพลายเชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด


4. Captivated Brand Experience สร้างประสบการณ์ที่ดีในแบรนด์สินค้า ผ่านคอนเซ็ปต์ Authentic Chic

“ท่ามกลางเศรษฐกิจปัจจุบันที่มีความท้าทายรอบด้าน ทั้งการระบาดของไวรัสโคโรนา สงครามการค้า และกำลังซื้อที่ชะลอลง เราต้องบริหารจัดการให้ทุกอย่างดีตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ทั้งการสร้าง Brand Value ที่เพิ่มขึ้น และคัดสรรสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้า ไปพร้อมๆ กับการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ในช่องทางต่างๆ ทั้งแอปพลิเคชัน หรือออนไลน์ชอปปิ้งผ่าน mcshop.com ที่ได้มีการปรับปรุงระบบให้มีความทันสมัย รวดเร็ว และตรงความต้องการของลูกค้ามากที่สุด” นางชนัญญารักษ์กล่าว

ด้านศิริลักษณ์ คนไว นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ กล่าวถึงแนวโน้มทิศทางธุรกิจของ MC ว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันราคาหุ้น MC ปรับตัวขึ้นมา 50% จากความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม เรามองว่าอาจจะเร็วเกินไปที่จะคาดหวังการเติบโตระดับสูงต่อเนื่องสำหรับ MC เนื่องจากเรามองว่าการเติบโตใน 2 ไตรมาสที่ผ่านมาเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า รวมทั้งการเข้าสู่ช่วงจับจ่ายใช้สอยใน 2QFY19/20 (ตุลาคม-ธันวาคม) โดยเราคาดการเติบโตเฉลี่ย 3 ปีข้างหน้า (FY2019/20F -2022/23F) อยู่ที่ 7.9% ต่อปี ซึ่งเรามองว่ายังต้องรอพิสูจน์การเติบโตมาจากความร่วมมือกับพันธมิตรที่จะกระจายสินค้าจำหน่าย และการเติบโตผ่านทางช่องทางออนไลน์ ซึ่งบริษัทมุ่งเน้นเพิ่มการเติบโตในอนาคต นอกจากนี้ เรายังกังวลต่อการบริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัด (70% ของรายได้รวม) ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม ดังนั้น เรามองว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาปัจจุบันสะท้อนต่อความคาดหวังการฟื้นตัวแล้ว

ขณะที่รายงานกำไรปกติ 2QFY19/20 ดีกว่าที่เราและตลาดคาดไว้ที่ 227 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45% YoY และเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 103 ล้านบาทใน 1QFY19/20 โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เติบโตได้ดีกว่าคาดมาจากรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น 12% YoY และ 41% QoQ มาที่ 1,132 ล้านบาทจากช่องทางสาขาของบริษัทเองที่การเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ที่ 9.4% ฟื้นตัวจาก -7.2% ใน 2QFY18/19 และ 2.3% ใน 1QFY19/20 และออนไลน์ที่เติบโตได้ดี 41% YoY บวกกับความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่าย ส่งผลให้รักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ 58% และให้ EBITDA margin และ Net profit margin ใน 2QFY19/20 เพิ่มขึ้นมาที่ 24.7% และ 20.1% ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ผลประกอบการ 6MFY19/20 อยู่ที่ 330 ล้านบาท เติบโต 31.9% YoY เราปรับประมาณการกำไรของ MC สำหรับปี FY2019/20-21/22F ขึ้น 15-29% ตามลำดับ เพื่อสะท้อนผลประกอบการในครึ่งปีแรกที่ดีกว่าที่เราคาดไว้ เรามองว่าจะเป็นปีที่บริษัทผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยบริษัทอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ โดยหันกลับมาเน้นความเป็น Denim Centric และออกผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกับพันธมิตร เพื่อขยายเข้าสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ และหาพาร์ตเนอร์ในการกระจายสินค้า รวมทั้งเน้นการเติบโตผ่านช่องทางออนไลน์ โดยจะใช้จุดแข็งที่มีคือช่องทางการจำหน่ายสินค้ากว่า 600 จุดทั่วประเทศรองรับการทำออนไลน์ O2O (Online to Offline) ประกอบกับการปรับระบบหลังบ้าน (Value chain) ให้มีความสอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรามองว่าจะต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์

ทั้งนี้ ตามการปรับประมาณการผลประกอบการ ราคาเป้าหมายใหม่ของเราอยู่ที่ 10.10 บาท อิงจาก PER 14 เท่าปี FY2019/20F เทียบเท่า PEG 1.9 เท่า โดยปัจจุบัน MC ซื้อขายอยู่ที่ PER 15.4 เท่า และ PBV 2.32 เท่าปี FY2019/20F หรือคิดเป็น PEG ที่ 1.9 เท่า ซึ่งเรามองว่าราคาหุ้นในปัจจุบันไม่ถูกแล้ว และสะท้อนต่อความคาดหวังการเติบโตไปแล้ว ดังนั้น เรายังคงแนะนำ “ถือ” MC ยังเป็นหุ้นที่มีปันผลสูงและปันผลต่อเนื่อง ล่าสุดประกาศจ่ายเงินปันผล 0.35 บาทต่อหุ้น (XD 20 ก.พ. 2020)

ขณะที่วิชชุดา ปลั่งมณี นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า กล่าวว่า เรามองการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและรูปลักษณ์ใหม่ของบริษัทเพื่อสร้างการเติบโต ค่อนข้างมีความท้าทายภายใต้อุตสาหกรรมการแข่งขันในตลาดที่รุนแรง ขณะเดียวกันยังมีแรงเสียดทานจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่แข็งแรง ซึ่งอาจมีผลต่อกำลังซื้อโดยรวมที่หดตัวลง รวมถึงรสนิยม ความชอบในรูปแบบของแฟชั่น ซึ่งเป็นไปตามสมัยนิยมที่บริษัทยังคงต้องติดตามเพื่อค้นหาความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคเพื่อผลิตสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า โดย MC อยู่ระหว่างการปรับตัวเข้าสู่ช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่ม ทั้งการจำหน่ายผ่าน Department Store ในตลาดเช่น BIGC, TESCO LOTUS พร้อมมองการขยายธุรกิจในรูปแบบ integrated ในรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้พัฒนาสินค้าและองค์กร รวมถึงมองโอกาสการขยายฐานไปยังต่างประเทศและการทำ M&A ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการสร้างรายได้และผลกำไรในอนาคต

ขณะเดียวกัน บริษัทมีฐานะเป็น Net Cash รวมถึงมีเงินสด เงินลงทุนระยะสั้นอยู่เป็นจำนวนมากราว 1.3 พันล้านบาท ณ สิ้นปีการเงิน 2562 นอกจากนั้นยังมีกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานราว 400-600 ล้านบาท ซึ่งเรามองว่าเพียงพอสำหรับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี การลงทุนพัฒนาระบบ Supply Chain การลงทุนดังกล่าวเพื่อเป็นการสนับสนุนกลยุทธ์ New S-Curve ของทางบริษัท แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีความพร้อมในการลงทุนเพื่อการขยายตัวในอนาคต

นอกจากนี้ MC มีความน่าสนใจหลังจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบบริษัท พร้อมกับการเข้าสู่การแข่งขันในตลาด โดยยังคงรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรจากระดับมาร์จิ้นที่ 55-60% มากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มค้าปลีกที่ 25-30% ขณะเดียวกัน จุดเด่นที่ดีคือการจ่ายปันผลที่สม่ำเสมอ ภายใต้ผลตอบแทนเงินปันผล 5-6% ต่อปี โดยการจ่ายปันผลปีละ 2 ครั้ง เราเริ่มต้นคำแนะนำ เก็งกำไร ราคาเป้าหมายปี 2563 ที่ 12.90 บาท ทั้งนี้ ผลประกอบการที่เติบโตพร้อมกับ SSSG ที่กลับมาเป็นบวกสูง สะท้อนต่อราคาตลาดไปพอควร YTD ราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นมาแล้ว 46% ขณะเดียวกัน ในระยะสั้นคาดผลประกอบการ 3Q63 ของ MC จะทำได้น้อยกว่า 2Q63 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลที่ดีสุดของปีไปแล้ว

ทั้งนี้ เราประเมินราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2563 ไว้ที่ 12.90 บาท ด้วยวิธีประเมินมูลค่าคิดลดกระแสเงินสด (DCF) WACC 8.43% Terminal Growth 2% คิดเป็น PE ที่ซื้อขายในระดับที่ 15 เท่า น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต 5 ปีที่ 16 เท่า ในขณะที่กลุ่มแฟชั่นมีค่าซื้อขายระดับ PE โดยเฉลี่ย 16.3 เท่า และกลุ่มค้าปลีกมีค่าซื้อขายระดับ PE เฉลี่ย 28 เท่า เราเริ่มต้นคำแนะนำ “เก็งกำไร” คาดผลการดำเนินงานของบริษัทจะกลับมาฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร รวมถึงการใช้กลยุทธ์ใหม่ๆ ถึงแม้ว่าบริษัทจะได้มีการขายธุรกิจ Time Deco ออกไปในไตรมาส 1Q63 อย่างไรก็ดี เราคาดธุรกิจหลักจะกลับมาฟื้นตัวและสามารถเห็นการเติบโตของผลประกอบการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เราคาดบริษัทมีกำไรปกติ 580 ล้านบาท และปี 2564 ที่ 605 ล้านบาท เห็นการเติบโต 4% YoY และ 4.2% YoY ตามลำดับ ได้แรงหนุนจากการรักษาระดับมาร์จิ้นและการควบคุมค่าใช้จ่ายขายและบริหาร และรายได้ที่เติบโต



กำลังโหลดความคิดเห็น