xs
xsm
sm
md
lg

สทน. ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพิ่มผลผลิต – พัฒนาข้าวทนดินเปรี้ยว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




รศ. ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน.
เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้กับงานทางการเกษตรอย่างกว้างขวาง ทั้งด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช การเพิ่มผลผลิต รวมไปถึงการช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลผิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหาร โดยไม่มีธาตุกัมมันตรังสีตกค้างหรือหลงเหลืออยู่ในผลผลิต จึงปลอดภัยสำหรับการบริโภค จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าเทคโนโลยีนิวเคลียร์ช่วยลดความอดอยากทั่วโลกได้อย่างมาก

สำหรับประเทศไทยได้นำเทคนิคการปรับปรุงพันธุ์พืชด้วยวิธีการฉายรังสีมาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 จนสามารถคัดเลือกข้าวพันธุ์ใหม่ได้อีกหลายสายพันธุ์ เช่น ข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6 ข้าวเหนียวพันธุ์ กข 10 และข้าวเจ้าพันธุ์ กข 15 นอกจากจะให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ดั้งเดิมแล้วยังมีคุณสมบัติทนทานต่อโรคพืชและความแห้งแล้วด้วย แต่ในปัจจุบัน สภาพแวดล้อมและปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับการทำการเกษตรเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวและรายได้ของเกษตรกรลดลง

รศ. ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน.
สทน. ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าวจึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าวด้วยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวปทุมธานี 1 ด้วยรังสีแกมมา เพื่อเพื่อคุณค่าทางโภชนาการ และบรรเทาภาวการณ์ขาดธาตุอาหารสำคัญในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวปทุมธานี 1 ให้มีปริมาณธาตุเหล็กหรือสังกะสีในเมล็ดสูง เพื่อบรรเทาภาวการณ์ขาดธาตุอาหารและส่งเสริมสุขภาพของประชาชนให้ดีขึ้น และสายพันธุ์ข้าวที่ได้จะเป็นพันธุ์พื้นฐานสำหรับการต่อยอดในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเชิงโภชนาการในอนาคต เกษตรกรจะได้มีพันธุ์ข้าวโภชนาการสูงสำหรับเพาะปลูก อีกทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพของข้าวไทยในการแข่งขันทางการตลาด

2) โครงการพัฒนาพันธุ์ข้าว‘หอมรังสี’ ด้วยรังสีแกมมาให้ทนดินเปรี้ยว โดยการนำสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิ KDML 105 (เป็นพันธุ์ข้าวที่ สทน. ร่วมพัฒนากับกรมวิชาการเกษตรด้วยเทคนิคการฉายรังสี) มาฉายรังสีเพื่อปรับปรุงพันธุ์ โครงการนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ผลผลิตข้าวหอมรังสีสามารถปลูกในพื้นที่ดินกรดจัดในเขตจังหวัดนครนายกและฉะเชิงเทราได้ ขณะเดียวกันก็ให้ผลผลิตสูง เหมาะที่จะให้เกษตรกรในจังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา ปลูกในฤดูนาปีและนาปรังได้


และ 3) โครงการลดการใช้สารเคมีเกษตรและเพิ่มผลผลิตข้าวโดยการเพิ่มผลผลิตและพัฒนาข้าวทนดินเปรี้ยว สาเหตุเนื่องจากมีพื้นที่บริเวณราบลุ่มภาคกลางประมาณ 5.6 ล้านไร่ มีสภาพเป็นดินเปรี้ยวไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก ซึ่งพบมากในบริเวณจังหวัดปทุมธานี นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และบางส่วนของจังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และนอกจากพื้นที่ดินเปรี้ยวในภาคกลางแล้ว บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ และชายฝั่งทะเลตะวันออกของภาคใต้ประมาณ 3.8 ล้านไร่ โครงการวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาข้าวให้เหมาะสมต่อการปลูกในพื้นที่ดินเปรี้ยวในเขตภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศ ในขณะเดียวกันก็ให้ผลผลิตสูง เพื่อเป็นทางเลือกในอาชีพเกษตรกรรมและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร

4) โครงการศึกษาผลของการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับธาตุหายากต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของข้าว ในพื้นที่ราบลุ่มส่วนใหญ่ ผืนดินผ่านการทำเกษตรกรรมานาน ดินที่ถูกใช้ในเพาะปลูกพืชโดยการใช้ปุ๋ยเคมีสารเคมี และยาฆ่าเมลงอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน ส่งผลให้ความอุดมสมบูรณ์ลดลง ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนธาตุอาหารพืช สภาพดินส่วนใหญ่เป็นดินเนื้อหยาบและมีปริมาณอินทรียวัตถุต่ำ ซึ่งปัญหาสภาพดินเสื่อมโทรมเหล่านี้ส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตข้าวของประเทศไทย การนำธาตุหายากในปริมาณที่เหมาะสมมาใช้ในการเพาะปลูก จะส่งผลดีต่อการเกษตรหลายประการ เช่น ช่วยเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ได้, ปรับปรุงคุณภาพดิน, ลดการปนเปื้อนโลหะหนักและสารกำจัดศัตรูพืชได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมทางด้านความปลอดภัยของอาหารได้อีกทางหนึ่งด้วย


ดังนั้นงานวิจัยนี้จะทำการศึกษาผลของการนำแร่ธาตุหายากมาประยุกต์ใช้เป็นสารเติมเต็มในปุ๋ยอินทรีย์สำหรับการเพาะปลูกข้าว เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตข้าวต่อพื้นที่ และเป็นการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวในเวลาเดียวกัน โดยกลวิธีนี้จะช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีและลดการสะสมของสารเคมีในดินในระยะยาวได้อีกด้วย โดยทั้ง 4 โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี คือ ปี 2563-2566 สทน. คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลสำเร็จจากโครงการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาการเกษตรของไทยและยกระดับชีวิต รายได้ ความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้สูงขึ้น และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกข้าวไปแข่งขันในต่างประเทศ


** * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ"รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!* * *

SMEs manager


กำลังโหลดความคิดเห็น