xs
xsm
sm
md
lg

พอเพียง เพียงพอ บทเรียนธุรกิจ -ชุมชน ยึดหลักปรัชญาศก.พอเพียง ก้าวข้ามวิกฤต โควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์วิกฤตจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ และประชาชน การรับมือของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม เราได้เห็นผู้ที่ยึดแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาตลอด เขาเหล่านั้นเหมือนมีวัคซีนที่ทำให้ก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้

ร้านอาหาร ภัตตาคาร และที่พัก ของแดรี่โฮม


แดรี่โฮม … มีวันนี้ได้เพราะหลักปรัชญาศก.พอเพียง

“แดรี่โฮม” ผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มและโยเกิร์ตโฮมเมดคุณภาพสดจากฟาร์ม ปัจจุบัน แดรี่โฮม ไม่ได้มีแค่เพียงผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม แต่ขยายกิจการไปสู่ธุรกิจ ภัตตาคาร และร้านอาหาร ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และวันนี้ แดรี่โฮม ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับ ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารอื่นๆ เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว เดินทางมาเที่ยวพักผ่อนและแวะกินอาหารเหมือนเดิม และรัฐบาลได้ประกาศให้ร้านอาหาร และภัตตาคาร เปิดให้บริการได้เฉพาะสั่งกลับบ้านเท่านั้น



“พฤฒิ เกิดชูชื่น” ผู้ก่อตั้ง แดรี่โฮม
“พฤฒิ เกิดชูชื่น” ผู้ก่อตั้งล่าวว่า วันนี้ กิจการร้านอาหาร และภัตตาคาร ได้รับผลกระทบประมาณ 90 % ซึ่งจากผลกระทบในครั้งนี้ ได้นำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้เป็นแนวทางในการบริหารองค์กร ซึ่งตั้งแต่เริ่มต้น โดยก่อนที่จะมาเป็นแดรี่โฮมเราเคยทำธุรกิจแล้วต้องผิดหวัง 2-3 ครั้งด้วยกัน

แต่สำหรับแดรี่โฮมเราเริ่มต้นทุกอย่างแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการเปิดร้านเล็กๆ เพื่อเป็นโชว์รูมผลิตภัณฑ์นมและโยเกิร์ตจากฟาร์ม ที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และเมื่อได้ผลตอบรับดี จึงค่อยๆ ลงทุนเพิ่มในส่วนของเครื่องจักร และที่ผ่านมา การทำฟาร์มของแดรี่โฮม นำแนวทางเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี ตามทฤษฎีของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการทำเกษตรอินทรีย์มาใช้ ซึ่งทำให้สามารถพึ่งพาตนเอง ประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่าย รวมถึงได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพ ปลอดภัยตามอย่างที่ตลาดต้องการ

เมื่อพนักงานในห้องครัว ร้านอาหารทิ้งตะหลิวมาปลูกผัก
หลังจากได้ขยายกิจการมาทำร้านอาหาร และภัตตาคาร “คุณพฤติ” บอกว่า เขาก็ยังคงยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ ลงทุนโดยใช้การลงทุนแบบเก็บเล็กผสมน้อย เก็บหอมรอบริบ ทำให้ไม่ต้องกู้เงินและเสียดอกเบี้ย ทำให้วันนี้ พอจะมีเงินสำรองบ้างไม่ได้มากนัก เพราะธุรกิจภัตตาคารเป็นลักษณะซื้อมาขายไป แต่ทำให้เราสามารถทำธุรกิจ และดูแลพนักงาน โดยไม่ต้องให้พนักงานคนไหนต้องออกจากงาน หรือ ลดเงินเดือน

ทั้งนี้ ในระหว่างพนักงานว่างงาน เราก็หางานให้พนักงานทำ โดยหันมาปลูกผักที่สามารถปลูกได้ในพื้นที่ และเลี้ยงไก่เพิ่ม เพื่อจะได้มีไข่ไก่สะอาดปลอดภัยใช้ในร้าน และเมื่อสถานการณ์กับมาปกติ ร้านอาหารและภัตตาคารสามารถเปิดให้บริการได้ จะมีทั้งไข่ไก่ และผักสดที่ปลูกเองไว้บริการลูกค้า และถ้าเหลือจากการใช้ในงานสามารถส่งขายสร้างรายได้เสริมขึ้นมาอีกทางหนึ่ง และลดต้นทุนวัตถุดิบในการบริหารจัดการต้นทุนของร้านได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการรับซื้อผักสดจากเกษตรกรในพื้นที่ก็ยังคงทำเหมือนเดิม เพราะผักที่เลือกปลูกส่วนใหญ่เกษตรกรไม่นิยมปลูก




นอกจากนี้ ในช่วงนี้ เปิดรับออเดอร์ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งให้พนักงานของเราทำหน้าที่ไปจัดส่งอาหารให้กับลูกค้า ที่ไม่อยากออกจากบ้าน สามารถสั่ง และจัดส่งแบบเดลิเวอรี่ให้ได้ ทั้งในพื้นที่ใกล้เคียงกับร้าน และนอกพื้นที่รัศมีพิกัดของร้าน ก็มีบริการจัดส่ง เช่นกัน เพราะอาหารของเรามีบริการแบบแช่แข็ง สามารถจัดส่งไปนอกพื้นที่อย่าง กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ได้ โดยที่รสชาติอาหารไม่เสีย เช่น สเต็ก ฯลฯ


“นายพฤติ” กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงในวิกฤติโควิด ครั้งนี้ ไม่ได้มีแต่ข้อเสียอย่างเดียว เพราะยังมีข้อดีแฝงอยู่ เพราะหลังจากนี้ ได้ช่องทางการขายใหม่ อย่างออนไลน์ หรือ การจัดส่งแบบดีลิเวอรี่ ซึ่งทางร้านไม่เคยเปิดให้บริการในลักษณะนี้มาก่อน และเป็นประโยชน์ในอนาคตเพราะจะมีบริการใหม่ที่สร้างรายได้เพิ่มให้กับกิจการของเราในวันข้างหน้า เพราะเมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ เขาก็อาจจะไม่อยากออกจากบ้าน และหันมาพึ่งการจัดส่งแบบดีลิเวอรี่ แทน



สนใจ โทร.08-1618-8346



หมู่บ้าน บ้านน้ำทรัพย์ เข้าร่วมโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด



หมู่บ้านน้ำทรัพย์ ยึดหลักศก.พอเพียง สร้างชุมชนเข้มแข็ง หลุดพ้นความยากจน

หมู่บ้านน้ำทรัพย์ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี จากหมู่บ้านที่มีทั้งผู้คนติดยาเสพติดและมีหนี้สิน สภาพหมู่บ้านยากจนแร้นแค้น เป็นภูเขาหัวโล้น ถูกลักลอบตัดไม้ ไม่มีผลผลิตการเกษตร ปัจจุบันกลายมาเป็นชุมชนตัวอย่าง ที่เข้มแข็ง เพราะผู้นำ ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์แห่งพระราชาในหลวง ร.9 มาพลิกฟื้นชีวิตและผืนป่า มาสร้างอาชีพ สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง จนได้รับรางวัลพระราชทานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง

“ชูชาติ วรรณขำ”ผู้ใหญ่บ้านน้ำทรัพย์


“ชูชาติ วรรณขำ” ผู้ใหญ่บ้านน้ำทรัพย์ หมู่ 9 ตำบลแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ผู้พลิกชีวิตของหมู่บ้านแห่งนี้ เล่าว่า เดิมบ้านน้ำทรัพย์ ประสบปัญหามากมาย จากปัญหานำมาสู่การพัฒนาหมู่บ้านในปี 2540 การแก้ปัญหาที่สั่งสมมานานไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเปลี่ยนวิธีคิด รู้จักเชื่อมโยง และใช้ต้นทุนเดิมที่มีอยู่ หลายอย่างที่เคยคิดไว้ ไม่ได้ทำสำเร็จได้ เพราะเราไม่มีเงิน และสุดท้ายค้นพบหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในหลวง ร.9 มาใช้ เชื่อมโยงทุกอย่างโดยมีจิตอาสาเป็นแกนนำ ทำให้เราไม่จำเป็นต้องใช้เงินในแก้ปัญหา เช่นเดียวกับการเกิดสถานการณ์โรคโควิด-19 ในครั้งนี้ หมู่บ้านเราก็ผ่านไปได้ โดยทุกคน มีพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ มีจิตอาสาในหมู่บ้าน


กิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำ ไม่ว่าจะเป็นลดรายจ่ายสร้างรายได้ การทำบัญชีครัวเรือน การสร้างอาชีพ การแบ่งปัน ในยามที่รายได้น้อยลงไป ก็มีการแบ่งปันอาหาร ทำให้คนในชุมชน มีอาหารการกิน มีชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เพราะจิตอาสาป้องกันภัย และไม่บุกรุกป่า และเป็นหมู่บ้านปลอดยาเสพติด จากการใช้แนวทางชุมชนบำบัด โดยชุมชน เพื่อชุมชน






ด้านการเกษตร ชุมชนแห่งนี้ ลดใช้สารเคมี สร้างมาตรฐานการผลิต จนกระทั่งสามารถส่งออกต่างประเทศได้ กำหนดราคาล่วงหน้าได้อีกด้วย และที่สำคัญ คือ คนในชุมชนก็สุขภาพดี และรับประทานผักที่ปลอดภัยจากสารพิษ และหันมาทำน้ำสมุนไพรดื่ม โดยไม่ดื่มน้ำอัดลม


“การทำความดีแทนคำว่ารัก ทำบัญชีถวายในหลวง ร.9 มันเป็นกุศโลบาย จริงๆ แล้วเป็นการทำให้ทุกคนได้รู้ทุน กำไร ถ้าทุกคนรู้จักทุน กำไร จะได้หลีกเลี่ยงเสี่ยงการทำอาชีพที่มีความเสี่ยง เลี่ยงการใช้ต้นทุนสูงสิ่งที่ ‘บ้านน้ำทรัพย์’ ทำมาทั้งหมดจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้ใหญ่บ้านนักพัฒนา ตอกย้ำว่า ทุกอย่างไม่ใช่ทำวันเดียวแล้วจะเห็นผล กว่าจะมาถึงวันนี้ เป็นเรื่องยากมาก เพราะการขับเคลื่อนทุกๆ กิจกรรม ให้ครอบคลุมทั้งหมู่บ้าน ต้องมีครัวเรือนต้นแบบ และบุคคลต้นแบบ เพื่อส่งต่อให้เกิดการขยายผล เมื่อมีหนึ่งคนทำสำเร็จ จะเกิดการเรียนแบบ และลงมือทำตาม”


“ความสำเร็จทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะไม่สูญหาย ตรงกันข้ามจะถูกสืบสานต่อไป ยังคงยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงจากในหลวง ร.9 และมีในหลวง ร. 10 เป็นต้นแบบของจิตอาสา หมู่บ้านน้ำทรัพย์ จะยังคงเป็นศูนย์เรียนรู้ที่ไม่มุ่งพาณิชย์ และพร้อมจะถ่ายทอดความสำเร็จต่อไป ว่าชาวบ้านที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงก็รวยได้ ”




ฟาร์มโชคชัย ยึดวินัยทางการเงิน ตามหลักศก.พอเพียง

ฟาร์มโชคชัย อาณาจักรของธุรกิจที่โดดเด่นในการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ จนทำให้ธุรกิจสามารถผ่านพ้นวิกฤตในยุคที่การเกษตรยังไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้หรือเป็นที่ต้องการของตลาดมากเช่นทุกวันนี้ จากแนวคิดของนักธุรกิจหนุ่มที่ชื่อ “โชค บูลกุล” โดยสิ่งที่ยึดถือมาตลอดตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจ คือ สติ ไม่กู้หนี้ยืมสิน ใช้จ่ายและลงทุนอย่างพอดี


“ตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน จะอนุมัติซื้อเครื่องคิดเลข 2 พันบาท ยังต้องเรียกประชุมบอร์ดว่าควรซื้อหรือไม่ซื้อจนวันนี้ผ่านมาหลายสิบปีธุรกิจเติบโตหลักพันล้าน เราก็ยังมีวินัยการใช้เงินแบบนี้อยู่ คือ รู้จักคุณค่าของเงิน” เขาบอกโดยเชื่อว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถสร้างสมดุลที่พอดี เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นไม่ให้ไหลไปตามกระแสจากระบบทุนนิยมของโลกทุกวันนี้ได้”


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น