xs
xsm
sm
md
lg

สทน.พลิกโฉม "ส้มตำปูปลาร้า" ในยุคโควิด กับ ปูเค็ม-ปลาร้า ฉายรังสี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส้มตำเป็นเมนูที่เคยมีผู้เชี่ยวชาญออกมาบอกว่า ช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ได้ เพราะด้วยส่วนผสมที่มีสารอาหารที่สามารถต้านอนุมูลอิสระได้ดี อย่างมะละะกอ แต่ปัญหาของส้มตำปู ปลาร้า อยู่ที่ปูดองเค็ม และปลาร้า ที่มีสิ่งปนเปื้อนไม่ว่าจะเป็นพยาธิ เชื้อจุลินทรีย์ ที่ติดมากับทั้ง 2 วัตถุดิบหลัก

วันนี้ คนไทยที่ชื่นชอบเมนูส้มตำ ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะมีทางเลือกที่สามารถรับประทาน ตำปูปลาร้าได้อย่างปลอดภัย จากการนำปูเค็ม และน้ำปลาร้าไปฉายรังสี ดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทช่วยเหลือผู้ผลิตปูเค็ม และน้ำปลาร้า รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นอีกหลายชนิด ให้สามารถยืดอายุการเก็บรักษา และช่วยฆ่าเชื้อโรคติดมาอาหารเป็นการสร้างการรับประทานอย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันภัยจากโรคโควิด และโรคต่างๆ ที่อาจจะมาจากการรับประทานอาหารที่ไม่ปลอดภัยได้




สำหรับที่ผ่านมา ทางสถาบันได้มีการนำงานวิจัยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ มาใช้กับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาก่อน แต่ครั้งนี้ ทางสทน.ต้องการที่จะลงมาสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิตอาหารพื้นถิ่น และกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้เข้าถึงงานวิจัยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในครั้งนี้ โดยอาหารพื้นถิ่นซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายอยู่เป็นจำนวนมากแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค เช่น ไส้อั่ว น้ำบูดู น้ำปลาร้า ปูดองเค็ม ฯลฯ อาหารพื้นถิ่นเหล่านี้ ได้รับความนิยมทั่วประเทศ และไปถึงตลาดต่างประเทศ ซึ่งมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านอาหาร ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถต่อยอดขยายตลาดไปได้อีก ไม่ว่าจะเป็นในห้างสรรพสินค้าชื่อดัง หรือส่งออกไปขายต่างประเทศ





โดยทางสทน. ได้ทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น สถาบันการศึกษา อย่างสถาบันราชภัฎ ราชมงคล และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูลปัญหาต่างๆ จึงนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาตัวสินค้า จนสามารถขยายไปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่จะนำไปขายในห้างสรรพสินค้า หรือส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของอาหารพื้นบ้าน ด้วยเหตุนี้ ล่าสุดได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการ เช่น ผู้ผลิตปูดอง สนใจต้องการจะนำปูดองมาฉายรังสี และน่าจะเป็นผู้ประกอบการปูดองรายแรกของประเทศไทย ที่ผ่านการฉายรังสีฆ่าเชื้อโรค ก่อนนำออกมาจำหน่าย ซึ่งต้องบอกว่าการฉายรังสี ครั้งนี้อยู่ในปริมาณที่ปลอดภัย ไม่ได้เป็นอันตรายต่อการบริโภค ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าจะได้รับประทานปูดองเค็มแบบปลอดภัยมากขึ้น เป็นต้น






นายวสันต์ กอบุตร เจ้าของผู้ผลิตปูดองเค็มฉายรังสี ภายใต้แบรนด์ ปูฉาย ปูเค็มอนามัย เล่าว่า ได้ทำโรงงานปูเค็มเล็กขึ้นมา เมื่อปลายปี 2019 ซึ่งปูเค็มของเรา แตกต่างจากในท้องตลาดเพราะเป็นปูเค็มดองที่ผ่านการฉายรังสี และที่ต้องนำปูเค็มไปฉายรังสี เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาของปูเค็ม เมนูยอดนิยมของที่อยู่ในส้มตำ คือ ไม่สะอาด มีพยาธิ จุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และปูเค็มที่ใส่ส้มตำมีปัญหา ที่พบบ่อยคือไม่สด กินเข้าไปทำให้ท้องเสียได้ ถึงกระนั้น คนไทยชื่นชอบการรับประทานส้มตำปู ตลาดปูเค็มจึงใหญ่มาก จากผลการสำรวจพบว่า คนไทยกินส้มตำปูเดือนหนึ่งเป็นล้านครก ยังไม่รวมเมนูอื่นๆ ที่ทำจากปูเค็ม และประเทศไทยก็ยังต้องนำเข้าปูเค็มจากต่างประเทศ

ด้วยเหตุนี้เอง ผมก็เลยตัดสินใจ ทำปูเค็มขาย โดยปูเค็มของเราจะต้องเป็นปูเค็มที่สะอาด ซึ่งผมได้รู้จักกับการฉายรังสีในอาหารมาก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว จึงได้นำปูเค็มไปฉายรังสี เพื่อฆ่าพยาธิ จุลินทรีย์และอื่นๆ และที่แตกต่างจากปูเค็มทั่วไป คือ เลือกคัดปูเค็มที่สดใหม่มาทำเท่านั้น และรสชาติ คือ ต้องไม่เค็มเกินไป เพราะปูเค็มที่ขายในท้องตลาดจะมีรสชาติที่เค็มมาก ซึ่งการฉายรังสีไม่ได้ช่วยฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ยังช่วยยืดอายุปูเค็มได้อีกด้วย ขณะนี้อยู่ในช่วงแนะนำสินค้า ผ่านทางเฟซบุ๊ก ชื่อว่า ปูฉายปูเค็มอนามัย




สร้างอัตลักษณ์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ป้องกันการปลอมปน

นอกจาก การยกระดับอาหารพื้นถิ่นแล้ว ทางสทน.ยังให้ความสำคัญกับ การยกระดับสินค้าเกษตรของไทย ด้วย โดย ในส่วนของพืชผลทางการเกษตร สทน. นำเอาเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดยได้ร่วมกับสถาบันราชภัฏร้อยเอ็ด ทำโครงการการยืนยันอัตลักษณ์ของข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งที่ผ่านมามักจะมีการปลอมปนและนำข้าวจากแหล่งอื่นมาแอบอ้างว่าเป็นข้าวทุ่งกุลาร้องไห้ ถึงแม้ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้จะถูกขึ้นทะเบียนว่าเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ จีไอ (Geographical Indication) แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่มีวิธีพิสูจน์ที่สามารถยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

สทน. จึงร่วมกับสถาบันราชภัฏร้อยเอ็ดรวบรวมตัวอย่างข้าวหอมมะลิในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ แล้วนำมาวิเคราะห์องค์ประกอบของธาตุในข้าวตัวอย่างด้วยวิธีการของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ สร้างเป็นฐานข้อมูลข้าวในทุ่งกุลาร้องไห้ เพราะข้าวในแต่ละพื้นที่จะมีองค์ประกอบของธาตุแตกต่างกันไปตามสภาพของดิน ดังนั้น หากมีการนำข้าวอื่นมาปลอมปน หรือแอบอ้าง เราจะสามารถตรวจพิสูจน์ได้ว่าเป็นข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ โดยเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลที่ทำไว้ คาดใช้เวลาประมาณ 4 ปี ในการรวบรวมตัวอย่าง สร้างเป็นฐานข้อมูลที่จะนำไปสู่ความมั่นใจในการตัดสินใจ และสามารถเปิดให้บริการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์ของข้าวได้ นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการเก็บฐานข้อมูลของกาแฟดอยช้าง และกาแฟดอยตุง และที่กำลังให้ความสนใจสร้างฐานข้อมูลอีกชนิดหนึ่งคือ ข้าวสังข์หยด

รศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน.


สทน. ฉลอง 15 ปี ตั้งเป้ายกระดับผปก.อาหาร และสินค้าเกษตรได้มาตรฐานปลอดภัย

รศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. กล่าวว่า เทคโนโลยีการฉายรังสีในประเทศไทยจะเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 จนกระทั่ง รัฐบาลไทยได้ให้ความเห็นชอบในการรับความช่วยเหลือจากประเทศแคนนาดา จึงดำเนินการสร้างโรงงานฉายรังสีแบบเอนกประสงค์ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมอาหารฉายรังสีในประเทศไทย แต่ข้อมูลการฉายรังสียังถูกรับรู้ในวงแคบ ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงข้อมูลอาหารฉายรังสี หรือรับรู้แบบผิด ๆ ว่าอาหารฉายรังสี คือ อาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ในส่วนของผู้ประกอบการที่มาใช้บริการฉายรังสีเอง ก็ไม่อยากบอกผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์ของตนผ่านการฉายรังสี เพราะกังวลว่าผู้บริโภคจะเข้าใจผิด และอาจจะส่งผลกระทบกับต่อยอดขายสินค้า ทำให้อาหารฉายรังสีไม่เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับเท่าที่ควร อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการอาหารอีกจำนวนมาก ยังไม่เข้าใจว่า กระบวนการฉายรังสีอาหารสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ปลอดเชื้อได้ ดังนั้น การฉายรังสีอาหารในผลิตภัณฑ์ที่คนไทยบริโภค จึงยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร





ปัจจุบันมีผู้ประกอบการของไทย ที่เห็นความสำคัญนำอาหารมาฉายรังสี เช่น กลุ่มอาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง ผลไม้ สมุนไพร เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อาหารสุนัข สำหรับประโยชน์ที่ได้รับ นอกจากจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยในตัวสินค้าแล้ว ยังช่วยส่งเสริมในเรื่องการส่งออกอีกด้วย เพราะหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกต่างก็ให้การยอมรับว่าอาหารฉายรังสีมีความปลอดภัยสำหรับการบริโภค




การก้าวสู่ปีที่ 15 ก็จะเป็นก้าวที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งที่ท้าทายมากสำหรับสถาบัน เราต้องการที่จะเป็นองค์กรที่มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องของวิชาการ เรื่องของความสามารถในการให้บริการที่ตอบโจทย์กับประเทศและสังคม สทน. ตั้งเป้าหมายใน 3 ส่วนคือ เรื่องแรกคือการวิจัยและพัฒนา ตั้งเป้าไว้ว่าในช่วง 5 ปี ข้างหน้า สทน. จะต้องเป็นหน่วยงานชั้นนำด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของประเทศในกลุ่มอาเซียน เพราะในช่วง 4 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยจะมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านนิวเคลียร์ของประเทศเกิดขึ้น 2 โครงการ ที่จะช่วยยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาและเรื่องการให้บริการในด้านต่างๆ เช่น เครื่องไซโคลตรอน ขนาด 20 mpv ที่จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการแพทย์ การตรวจวินิจฉัยโรค การผลิตสารเภสัชรังสี ชนิดใหม่ๆที่ในอดีตเราไม่สามารถผลิตได้ การวิจัยและพัฒนาวัสดุชนิดใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยลดมูลค่าการพึ่งพาจากต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก ส่วนที่สองคือ เครื่องโทคาแมค เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงที่ประเทศไทยเตรียมไว้สำหรับอนาคต เรื่องที่สองคือ การให้บริการด้านต่างๆ ของสทน. โดยตั้งเป้าใน 4 ปีข้างหน้า จะสร้างมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการได้มากถึง 25,000 ล้านบาท และส่วนที่สาม คือ พัฒนาการบริหารและการขัดการภายในองค์กรของสทน.ให้มีความก้าวหน้าและทันสมัยยิ่งขึ้น
นี่คือ โครงกสร้างพื้นฐานที่ สทน.เตรียมให้กับประเทศ เพื่อที่จะให้ประเทศไทบก้าวไปข้รางหน้าได้อย่างมันคง และเพื่อรองรับกับการพลิกโฉมการทำงานที่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ช่วยยกระดับสินค้าเกษตร และอาหารพื้นถิ่น ให้มีมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อรองรับการขยายตลาดในห้างสรรพสินค้า และตลาดต่างประเทศ รศ.ดร. ธวัชชัย กล่าวในที่สุด







* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น