xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนผลไม้รวมตัว หันมาพึ่งตลาดออนไลน์ หลังเจอพิษโควิด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลาดผลไม้ออนไลน์ จากเจ้าของสวนเริ่มแข่งขันกันดุเดือด หลังทุกสวนต่างหาผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดออนไลน์ มาช่วยทำตลาดให้ หวังระบายผลไม้ช่วงฤดูร้อนออกสู่ตลาดให้ทันกับผลผลิตที่เริ่มออกมาจำนวนมากในขณะนี้

โดยตลาดออนไลน์เป็นช่องทางการตลาด ที่ชาวสวนภาคตะวันออก และอีกหลายพื้นที่ คาดหวังที่จะมาช่วยระบายผลผลิตออกสู่ตลาดผู้บริโภคคนไทยในช่วงจังหวะนี้ ซึ่งผลไม้จากจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ที่ออกผลผลิตในฤดูร้อน นี้ ประกอบด้วย ทุเรียน เงาะ มังคุด มะม่วง ขนุน ลองกอง ฯลฯ รวมถึงผลไม้ภาคอื่นๆ ก็เริ่มทยอยออกในช่วงนี้เช่นกัน




ที่ผ่านมา ทุกปี ในสถานการณ์ปกติ ชาวสวนก็จะนำผลผลิตมาวางขายหน้าสวน หรือไม่ ก็เปิดขายบัตรให้นักท่องเที่ยว เข้าไปชิมผลไม้จากต้นกันแบบสด เรียกว่า บุพเฟ่ต์ผลไม้ แต่ในปีนี้ ชาวสวนไม่สามารถเปิดสวนให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชิมได้ ชาวสวนจำเป็นต้องหาช่องทางตลาดใหม่ โดยรวมตัวกัน ทำตลาดออนไลน์

อย่างไรก็ตาม การนำผลไม้ เช่น ทุเรียน มาขายออนไลน์นั้น ได้รับความนิยมในช่วง2-3 ปีที่ผ่านมา หลังจากกระแสตลาดออนไลน์บูม ซึ่งการทำตลาดผลไม้ออนไลน์ มีทั้งเจ้าของสวนทำเอง และพ่อค้าคนกลางนำไปทำ แต่หลังจากเกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เจ้าของสวนก็มีการรวมตัวกัน หันมาทำตลาดออนไลน์ เป็นเหตุผลที่ทำให้ผลไม้ออนไลน์ จากภาคตะวันออก แข่งขันกันดุเดือด โดยเฉพาะ ทุเรียนออนไลน์ แบบดีลิเวอรี่






บ.ศุภชัญญา ผู้สร้างแบรนด์ผลไม้ จากจันทบุรี ส่งห้างฯ

นางสุภาพร กลิ่นหอม เจ้าของบริษัท ศุภชัญญา จำกัด เล่าว่า เดิมบริษัทรับทำแบรนด์ผลไม้ให้ลูกค้าในแถบจังหวัดจันทบุรี และส่งขายในห้างสรรพสินค้า และส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ และทำโรงงานผลิตผลไม้แปรรูป ซึ่งตอนนี้ ตลาดผลไม้แปรรูปเพื่อการส่งออก และตลาดในห้างสรรพสินค้า เจอผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยอดขายลดลงทุกอย่าง ผลไม้แปรรูป ก็ไม่มีออเดอร์เข้ามา ขายในห้าง พอห้างปิดการสั่งผลไม้ไม่มี

ทั้งนี้ ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนหันมาทำตลาดออนไลน์ โดยชาวสวนที่ขายผลไม้ไม่ได้ ก็มาให้เราช่วยขายให้ และตอนนี้ มีชาวสวนจันทบุรี มาให้เราช่วยขายผลไม้ให้จำนวนมาก มีทั้งที่เราเคยทำแบรนด์ให้ และชาวสวนรายอื่นๆ การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ เกิดขึ้นมาจากชาวสวนผลไม้ในจังหวัดจันทบุรีมารวมกลุ่ม และ นำผลไม้มาขายตรงให้กับลูกค้า ผ่านทางช่องทางออนไลน์






นางสุภาพร บอกว่า ในขณะที่ความต้องการผลไม้จากต่างประเทศในช่วงนี้ มีการชะลอตัว เช่นกัน เพราะโดยส่วนตัวปกติช่วงนี้จะมีออเดอร์การสั่งซื้อเข้ามาจากประเทศจีน แต่ในช่วงนี้ ไม่มีออเดอร์เข้ามาเลย ซึ่งสาเหตุอาจจะเป็นเพราะบ้านของเขาก็ยังไม่เปิดเต็มตัว ทำให้การค้าขายก็ยังไม่เต็มที ในส่วนของผลไม้ที่ทางบริษัทจัดส่งไปหลักๆจะเป็นผลไม้อบแห้ง พอผ่านมาระยะหลังออเดอร์ไม่มีเช่นเดียวกัน และพอสถานการณ์เป็นแบบนี้ ทำให้เราต้องปรับตัวหันมาขายผลไม้สด ให้กับลูกค้าคนไทย และส่วนหนึ่งได้ช่วยเกษตรกรในการขายผลผลิตอีกทางหนึ่งด้วย

สนใจ ติดต่อ FB: Supachanya





“สวนละไม” สวนผลไม้ เจ้าของบุฟเฟ่ต์ผลไม้ชื่อดัง จ.ระยอง

นายไพโรจน์ ปิติพันธรัตน์ เจ้าของสวนละไม หลายคนจะรู้จักสวนละไม จากการเปิดสวนเป็นแหล่งท่องเที่ยว และ การขายบัตรบุฟเฟ่ต์ผลไม้ตามฤดูกาล บนพื้นที่กว่า 500 ไร่ เดิมอดีตในช่วงนี้ คือ กลางเดือนเมษายน ไปจนถึง ต้นเดือนกรกฎาคม จะมีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวที่สวนละไมเพื่อรับประทานผลไม้สดๆ ที่เก็บจากต้น ในรูปแบบของบุฟเฟ่ต์ หัวละ 400 บาท โดยในแต่ละวันทางสวนละไม สามารถขายบัตรบุฟเฟ่ต์ผลไม้ ได้หลายพันใบ โดยเฉพาะเสาร์ อาทิตย์ เกือบหมื่นราย และตลอดเส้นทางที่เดินทางมาที่สวนละไมแห่งนี้ จากทางเข้าประมาณ 3 กิโลกรัม มีชาวสวนผลไม้นำผลไม้มาวางขาย ตลอดเส้นทาง

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ทางสวนละไม จำเป็นต้องปิดให้บริการบุฟเฟ่ต์ โดยไม่ทราบว่าจะเปิดให้บริการได้เมื่อไหร่ และเมื่อเปิดให้บริการจะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวหรือไม่ แต่ผลไม้ไม่สามารถรอได้ เมื่อถึงเวลาก็ต้องเก็บผลผลิต



นายไพโรจน์ ปิติพันธรัตน์ เจ้าของสวนละไม
นายไพโรจน์ บอกว่า ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ต้องมองหาตลาดใหม่ และหนึ่งในนั้น คือ การให้ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการทำตลาดออนไลน์มาช่วยดำเนินการเปิดเพจขายทุเรียน และเนื่องจากที่ผ่านมามีหน้าเพจแนะนำสวนละไมทางออนไลน์อยู่แล้ว และเพจของเรามีคนติดตามเกือบล้านราย และส่วนใหญ่ก็เคยมาเที่ยวสวนละไมและรู้ว่ารสชาติทุเรียนของที่สวนละไมของเราเป็นอย่างดี ดังนั้น มั่นใจว่าถ้านำผลไม้ เช่น ทุเรียนออกมาขายทางออนไลน์ น่าจะได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนที่รู้จักสวนละไม

สำหรับทุเรียนที่นำมาขายจะเป็นทุเรียนหมอนทอง โดยจะนำทุเรียนขึ้นมาแกะขายที่กรุงเทพฯ และจัดส่งเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเมื่อลูกค้าสั่งซื้อเข้ามาแล้ว ทางเราถึงจะแกะทุเรียน และจัดส่งให้ทันที เพราะทุเรียนจะอร่อย ต้องแกะและกินเลย ทิ้งไว้นานรสชาติเสียได้ และที่ไม่จัดส่งเป็นลูก เพราะรู้ว่าคนส่วนใหญ่แกะไม่เป็น หรือ ดูทุเรียนไม่เป็นว่าสุก กินได้หรือยัง และถ้าลูกค้าไว้ในห้องแอร์ ทุเรียนโดนความเย็นทำให้สุกข้าไปอีก และเมื่อแกะมากินแล้วไม่สุกจะมาต่อว่าเราได้ เราก็เลยเลือกที่จะส่งทุเรียนที่แกะแล้วพร้อมรับประทานให้ลูกค้า


ทั้งนี้ นอกจากการขายผ่านออนไลน์ อย่างเดียวไม่แน่ใจว่าลูกค้าให้การตอบรับมากน้อยแค่ไหน เพราะเราไม่เคยทำมาก่อน ที่ผ่านมาทุเรียนของเรา ขายที่สวนแบบบุฟเฟ่ต์ช่องทางเดียวก็ไม่พอขายอยู่แล้ว ปีนี้ เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ต้องมาขายออนไลน์ และที่สำคัญการแข่งขันในตลาดออนไลน์ สูงมาก ดังนั้น ถ้าไม่สามารถเปิดสวนได้ จำเป็นที่จะต้องนำทุเรียนบางส่วนขายให้ล้งที่มาตีราคาและรับซื้อถึงสวน

ในส่วนของตลาดกลาง หรือ ล้งที่ส่งออกผลไม้ ทุเรียนก็ยังคงไปได้ในตลาดจีน แต่อาจจะมีติดปัญหาบ้างในเรื่องการขนส่ง โดยเฉพาะการส่งสินค้าทางบก ผ่านด่านตรวจที่เข้มงวดกว่าเดิมเพราะสถานการณ์โรคโควิด และประกอบกับการขนส่งทางอากาศส่งได้น้อย เพราะไม่มีเที่ยวบินที่จัดส่งทุเรียน เหลือแค่การส่งทางเรือที่ไม่ติดปัญหาอะไร แต่ต้องเผื่อระยะเวลาในการส่งประมาณ 12 -14 วัน




สำหรับราคาทุเรียนในขณะนี้ ราคาทุเรียนไม่ได้ต่างจากปีที่ผ่านมา โดยราคาขายปลีกผ่านช่องทางออนไลน์ หมอนทองขายกิโลกรัมละ 120-150 บาท (ราคาทั้งลูก) ส่วนราคาที่ล้งมารับซื้อหน้าสวนอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท ในส่วนของทุเรียนภาคตะวันออกในขณะนี้ ยังไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องของผลผลิตล้นตลาด เพราะผลผลิตยังออกไม่เต็มที ถ้าจะออกและพร้อมจำหน่ายจริงทั้งหมดประมาณ เดือนพ.ค. และ มิ.ย. แต่ถ้าดูจากความต้องการของล้ง ยังมีเข้ามาตลอด เพราะความต้องการทุเรียนจากประเทศจีนมีออเดอร์ และสอบถามเข้ามา อย่างต่อเนื่อง แต่ผลผลิตยังไม่พร้อมจัดส่ง อย่างไรก็ตามชาวสวนจะต้องไม่ตัดทุเรียนอ่อนส่งไปขาย เพราะถ้าเจอทุเรียนไม่มีคุณภาพ ครั้งต่อไปก็จะไม่สั่งซื้อเข้ามาอีก จะทำให้เสียหายทั้งวงกว้าง


สนใจ ติดต่อ FB:สวนละไม




กลุ่มผู้ปลูกเมล่อนญี่ปุ่น ส่งห้างฯจ. สุพรรณบุรี

นอกจากผู้ประกอบการเจ้าขอสวนผลไม้ทั้ง 2 ราย ปัจจุบัน มีเจ้าของสวนผลไม้ในพื้นที่อื่นๆ รวมตัวกันขายผลไม้ ทางออนไลน์ อีกเป็นจำนวนมาก รวมถึงเพจขายเมล่อน ชื่อว่า กลุ่มเกษตรกรชุมชน เมล่อนญี่ปุ่น

นางสาวธนัชชา แตงโสภา แอดมินและผู้ประสานงานเพจ กลุ่มเกษตรกรชุมชน เมล่อนญี่ปุ่น
เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่มาเปิดเพจดังกล่าว ว่า ตนเองได้เพิ่งมาเปิดเพจ ขายเมล่อนได้ประมาณ 3 สัปดาห์ เท่านั้น โดยสาเหตุมาจากผลพวงจากพิษเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ห้างสรรพสินค้าปิด ไม่สามารถส่งขายผลผลิตได้ตามปกติ

“ทั้งนี้ จริงๆ แล้วสวนเมล่อนนี้เป็นของพ่อ และ ลุง ซึ่งปลูกเมล่อนอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เขาส่งผลไม้เข้าบริษัทเพื่อไปส่งขึ้นห้าง แล้วบริษัทที่เป็นตัวกลาง ได้โควต้านำผลผลิตขึ้นห้างน้อยลง ทางเราเลยส่งผลผลิตไปได้น้อย บางวันแทบไม่มารับเมล่อนเลย ในขณะที่ผลผลิตออกมาเพิ่มทุกวัน เลยตัดสินใจเข้าไปช่วยพ่อกับลุงขาย โดยการสร้างเพจเปิดขายออนไลน์ จากนั้นก็รวบรวมสมาชิก ที่อยู่ใกล้เคียงกับรวมกลุ่ม จึงเกิดเป็นกลุ่มดังกล่าวนี้ขึ้นมา”

สนใจ ติดต่อ FB:กลุ่มเกษตรกรชุมชน เมล่อนญี่ปุ่น



** * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ"รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุดและร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

SMEs manager


กำลังโหลดความคิดเห็น