นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานปล่อยคาราวาน รถพุ่มพวง พร้อมส่งเจลธงฟ้าล๊อตแรก บริการประชาชน ในโครงการธงฟ้าฝ่าภัย COVID-19 พร้อมร่วมเวทีเสวนาแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2563 ตลาดไท จังหวัดปทุมธานี ภายหลังการเสวนา เผย 6 มาตรการช่วยเหลือชาวสวนผลไม้ โดยทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ โดยข้อสรุปร่วมกันถึงมาตรการระหว่างทั้ง 2กระทรวงมีรายละเอียด ดังนี้
มาตรการที่1 มาตรการช่วยเหลือชาวสวน เร่งรัด กระทรวงเกษตรออกใบรับรอง GAP ให้กับชาวสวน เพื่อรับการรับรองว่ามาตรฐานและสามารถส่งออกได้ และเข้าไปช่วยในเรื่องของการปรับปรุงแรงงาน ให้มีคุณภาพ เพื่อช่วยเก็บผลไม้
มาตรการที่2 มาตรการช่วยเหลือล้ง สำหรับล้ง มีมาตรการในการช่วยเหลือในรับซื้อรวบรวมผลไม้จากชาวสวน ใน กิโลกรัมละ 3 บาท โดยใช้เงินคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร(คชก.) ของกระทรวงพาณิชย์ ส่วนมาตรการในเรื่องของการช่วยเหลือสหกรณ์ จะมีการชดเชยดอกเบี้ย ให้ร้อยละ 3 เป็นเวลา 6 เดือน ให้กับทางล้ง และสหกรณ์ที่รวบรวมผลไม้ นอกจากนั้น จะช่วยเรื่องค่าบริหารในการรวบรวมเพื่อการส่งออกอีกกิโลกรัมละ 5 บาท
มาตรการที่ 3 สำหรับผู้ประกอบการที่มาทำสัญญาตามพระราชบัญญัติเกษตรพันธสัญญา จะมีการช่วยชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ที่มาทำสัญญาระยะยาวกับเกษตรกรร้อยละ 3 เป็นเวลา 6 เดือน มีงบประมาณตั้งไว้เรียบร้อย แล้วสำหรับฤดูกาลผลิตนี้
มาตรการที่ 4 สำหรับผู้แปรรูปผลไม้มีมาตรการในการช่วยเหลือดอกเบี้ยร้อยละ 3 เป็นเวลา 10 เดือนให้กับผู้แปรรูปผลไม้ในฤดูกาลผลิตนี้
มาตรการที่ 5 ผู้ประกอบการตลาดในประเทศ ประกอบด้วยสหกรณ์ต่างๆ ซึ่งมีอยู่ 800 แห่งทั่วประเทศจะสนับสนุนให้ใช้คาราวานรถธงฟ้าเพื่อช่วยกระจายไปทั่วประเทศแล้วจะมีมาตรการในการรณรงค์เพิ่มการบริโภคในโอกาสเทศกาลต่างๆเพิ่มช่องทางในเรื่องของการค้าออนไลน์ด้วย
มาตรการที่ 6 กลุ่มผู้ส่งออกสำหรับกลุ่มผู้ส่งออก มีมาตรการให้ กระทรวงพาณิชย์เป็นตัวกลางจัดเวทีพบปะกันระหว่างผู้นำเข้าผลไม้ของต่างประเทศ กับ ผู้ส่งออกของไทย โดยพบกันบนออนไลน์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการรวมทั้งการเตรียมแพลตฟอร์มต่างๆที่มีศักยภาพระดับโลกเช่น Tmall ของจีน bigbasket.com ของอินเดีย Amazon.com ที่สิงคโปร์ และ jatujakmall.com รวมทั้ง cloudcommerce.com ของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น และในส่วนของออฟไลน์ ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ทำหน้าที่เซลล์แมน ขายผลไม้ประเทศนั้นๆ
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับแนวทาง การทำตลาดในประเทศ ในส่วนของตลาดออฟไลน์ จะใช้ตลาดกลาง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากตลาดไทและอีกหลายตลาดทั่วประเทศ เป็นแหล่งสำคัญในการช่วยระบายผลไม้ รวมทั้งตลาดสดในหลายพื้นที่ของประเทศและรถเร่ผลไม้พุ่มพวงที่เราจัดขึ้นมาเพื่อกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆเพิ่มการบริโภครวมทั้งการจัดพื้นที่ให้เกษตรกรสามารถมาขายที่ห้างโมเดิร์นเทรด ซึ่งในห้างโมเดิร์นเทรดไม่ได้เน้นมากนัก เนื่องจากเกรงปัญหาเรื่อง social distancing และยังได้มอบหมายให้ พาณิชย์จังหวัดในแต่ละจังหวัด ทำหน้าที่เซลล์แมนขายผลไม้เช่นเดียวกับในต่างประเทศ เช่น สั่งซื้อลองกองจากจังหวัดนราธิวาสไปขายในจังหวัดภาคอีสาน เอามะม่วงจากอีสานส่งมาขายกรุงเทพ เป็นต้น
นอกจากนี้ ในส่วนของตลาดออฟไลน์ในประเทศ ได้หารือกับไปรษณีย์ไทย ซึ่งพร้อมให้ความร่วมมือ โดยจะจัดส่งผลไม้ทางไปรษณีย์ ให้แบบไม่คิดค่าขนส่ง เป็นจำนวน 200 ตัน จะช่วยให้กลุ่มสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรสามารถขายผลไม้ผ่านไปรษณีย์ ซึ่งใช้ชื่อว่า “ไทยแลนด์โพสต์มาร์ท” ช่วยระบายสินค้าทางออนไลน์ได้อีกช่องทางหนึ่ง และกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆเช่น ลาซาด้า ช็อปปี้ แพลตฟอร์มอื่นๆ เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะให้สหกรณ์กลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนได้เอาผลไม้ของตนเองเข้าไปไว้ในหน้าเพจของแพลตฟอร์มต่างๆเหล่านี้ โดยไม่หักค่าบริการ
นายจุรินทร์ กล่าวว่า จากปัญหาการส่งออกผลไม้ ที่ตอนนี้เจอปัญหาอุปสรรค ในการผ่านด่าน ต่างๆ ซึ่งจากสถานการณ์โควิด ทำให้แต่ละประเทศ ใช้เวลาในการตรวจนาน โดยเฉพาะการผ่านด่าน ไปยังเวียดนามข้ามไปยังจีน แต่ทุกอย่างไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้ ยังสามารถทำได้อยู่ แต่มีขั้นตอนกระบวนการที่มากขึ้น ซึ่ง กระทรวงพาณิชย์กำลังประสานเพื่อช่วยคลี่คลาย ส่วนทางเรือยังติดปัญหาบางประการเช่นตู้คอนเทนเนอร์ไม่พอพยายามประสานงานกับหน่วยงานอื่น ส่วนทางอากาศติดปัญหาเรื่องเที่ยวบินที่มีน้อยลงไปมาก ซึ่งกำลังประสานงานกับบริษัทที่เกี่ยวข้องอยู่ว่ามีช่องทางช่วยระบายอย่างไรในอัตราค่าขนส่งที่เกษตรกรผู้ส่งออกสามารถรับ โดยไม่ต้องแบกภาระต้นทุนที่มากเกินจนไม่สามารถแข่งขันได้ในต่างประเทศ
** * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ"รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุดและร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager