ในวิกฤตโควิด มีมุมดีดีของเกษตรกร เพราะต่างประเทศสนใจหันมานำเข้าสินค้าเกษตรมากขึ้น อย่างผู้ประกอบการรายนี้ “นายณฐพงษ์ วรรธนะมณีกุล” บริษัท วิไลอินเตอร์ จำกัด ผู้ส่งออกมะพร้าวน้ำหอม ไม่ได้รับกระทบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดแต่อย่างใด เพราะตลาดมะพร้าวน้ำหอมส่งออก ช่วงนี้ ออเดอร์เพิ่มขึ้นตลอด โดยเฉพาะตลาดจากประเทศจีน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อน
จากแผงผลไม้ตลาดไท สู่ผู้ส่งออกมะพร้าวน้ำหอม
“ณฐพงษ์” เล่าว่า ตนเองส่งออกมะพร้าวน้ำหอมไปยังประเทศจีน มานานกว่า 4 ปี โดยจุดเริ่มต้นที่เข้ามาสู่ธุรกิจส่งออกมะพร้าวน้ำหอม มาจากเดิมเปิดแผงขายผลไม้อยู่ที่ตลาดไท และเห็นโอกาสการเติบโตของตลาดมะพร้าวน้ำหอม ที่ส่งออกไปประเทศจีน เพราะในช่วงนั้นตลาดจีนมีความต้องการมะพร้าวน้ำหอมจากประเทศไทยจำนวนมาก ผมก็เลยบินไปเพื่อหาคู่ค้าในตลาดจีน และได้คู่ค้าที่รับมะพร้าวน้ำหอม
ทั้งนี้ ตลาดจีนเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และในช่วงที่ผมเริ่มทำส่งออกมะพร้าวน้ำหอมช่วงนั้น เป็นช่วงเริ่มต้นที่ตลาดจีนสนใจมะพร้าวน้ำหอมจากประเทศไทย ทำให้การเติบโตของเราไปได้ด้วยดีมาตลอด ผมอาจจะเป็นผู้ส่งออกรายใหม่ ในช่วง 4 ปีก่อนหน้านี้ แต่มีลูกค้าที่ซื้อต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่หลายประเทศเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การส่งออกมะพร้าวน้ำหอมของเรา ก็ไม่ได้ลดลง เพราะยังมีออเดอร์การสั่งมะพร้าวน้ำหอมเข้ามามากเหมือนเดิม โดยเฉพาะในช่วงนี้ออเดอร์จะมากกว่าเดือนก่อน เพราะเป็นช่วงฤดูร้อนความต้องการมะพร้าวน้ำหอมเพิ่มขึ้น แต่ปัญหา คือ ผลผลิตของเกษตรกรในช่วงนี้ เจอภัยแล้งผลผลิตออกน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
สำหรับจำนวนการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมไปประเทศจีน ของ “ณฐพงษ์” จากเดิมอยู่ที่วันละ 2-3 ตู้คอนเทนเนอร์ แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูร้อน ผลผลิตมีน้อยจะส่งได้แค่เฉลี่ยวันละ 1-2 ตู้คอนเทนเนอร์ เดือนหนึ่งประมาณ 20-30 ตู้เท่านั้น แต่ถ้ามีผลผลิตมะพร้าวน้ำหอมมากกว่านี้ สามารถส่งได้มากกว่านี้ เพราะในช่วงที่ผลผลิตออกมากๆ เราเคยส่งออกได้มากถึง 50 ตู้คอนเทนเนอร์ และเช่นเดียวกับผู้ส่งออกมะพร้าวน้ำหอมรายอื่นๆ ที่ได้รับออเดอร์สั่งมะพร้าวน้ำหอมเข้ามามากในช่วงนี้ เหมือนกัน แต่เจอปัญหาเดียวกัน คือ ผลผลิตออกไม่เพียงพอต่อการส่งออก
“อย่างไรก็ตาม การส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศ ในช่วงที่ผ่านมา ผมเจอปัญหาจากการปิดประเทศของจีน ท่าเรือต่างๆ หยุดทำการจากผลกระทบไวรัสโคโรน่า ช่วงนั้น ผลไม้ที่ส่งออกไปจะค้างที่ท่าเรือ และค้างในโกดัง ทำให้ผู้ส่งออกเจอภาวการณ์ขาดทุน แต่ยังโชคดีที่จีน กลับมาฟื้นตัว และเปิดประเทศได้เร็ว ทำให้เราสามารถส่งออกผลไม้ และมะพร้าวน้ำหอมได้ตามปกติ ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แม้กำลังซื้อของผู้บริโภคจีนจะถดถอยไปบ้าง แต่ในเรื่องของอาหารการกิน เขายังสามารถซื้อกินได้ตามปกติ ผลไม้จากประเทศไทยจึงไปได้ดีสำหรับตลาดจีน"
จีนตลาดหลักส่งออกมะพร้าวน้ำหอมและผลไม้จากไทย
ทั้งนี้ จีนเป็นตลาดส่งออกผลไม้รายใหญ่ของไทย และเป็นหนึ่งในตลาดที่นิยมบริโภคผลไม้ไทย โดยปัจจุบัน มีสัดส่วนของผลไม้ไทยส่งออกไปยังจีนถึง 70% โดยในอนาคตโอกาสของผลไม้ไทยในตลาดจีนยังสามารถเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากจีนมีขนาดตลาดที่ใหญ่ และมีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดสำหรับสินค้าเกษตรและผลไม้ในจีนกระจายอยู่ตามเมืองต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งผลไม้ไทยส่วนใหญ่จะถูกนำเข้าผ่านทางฮ่องกง เซินเจิ้น และกว่างโจว หลังจากนั้นจึงนำไปกระจายไปยังมณฑลอื่น ๆ ต่อไป
ในส่วนของตลาดยุโรปและอเมริกา ไม่ใช่ตลาดหลักในการส่งออกผลไม้จากประเทศไทย ไทยมีการส่งออกผลไม้ไปประเทศยุโรปและอเมริกา ไม่ถึง 10% และ ในสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ที่หลายประเทศในยุโรปและอเมริกาปิดประเทศ ทำให้การส่งออกไปประเทศเหล่านั้น ลดลงไปบ้าง เพราะทุกคนอยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้ออกมาจับจ่ายใช้สอย การเลือกซื้อผลไม้ลดน้อยลงไปด้วย
“ณฐพงษ์” กล่าวถึงราคามะพร้าวน้ำหอมไทย ว่า ราคามะพร้าวน้ำหอมไม่แน่นอน ในช่วงที่จีนปิดประเทศ ส่งออกไม่ได้ ราคาผลผลิตลงไป เหลือราคาหน้าสวนอยู่ที่ 6-7 บาท แต่วันนี้ ปรับตัวขึ้นมา โดยราคาหน้าสวนอยู่ที่ลูกละ 12 บาท และมีแนวโน้มว่าอาจจะขยับไปถึงลูกละ 17 บาท ในอนาคตเพราะผลผลิตมีน้อย แหล่งปลูกมะพร้าวน้ำหอม มีมากในแถบจังหวัดราชบุรี นครปฐม และ สมุทรสาคร (บ้านแพ้ว) จากราคามะพร้าวน้ำหอมที่สูงขึ้น เพราะความต้องการในตลาดส่งออกเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกมะพร้าวน้ำหอมกันมากขึ้นด้วย
สำหรับสถานการณ์ตลาดผลไม้ภายในประเทศ ในส่วนของมะพร้าวน้ำหอม และผลไม้อื่นๆ ในช่วงที่ไทยเจอกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด ส่งผลกระทบต่อการขายปลีกอยู่บ้าง เพราะด้วยกำลังซื้อของคนไทยน้อยลง เลือกซื้ออาหารที่จำเป็นก่อน จากเดิมที่ซื้อผลไม้ด้วย วันนี้ บางคนก็ไม่ซื้อผลไม้ ทำให้ยอดการขายผลไม้ ตกลงไปบ้าง ทุกคนอยู่บ้านไม่ได้ออกมาจ่ายตลาด ก็ไม่ได้ซื้อผลไม้ ทำให้ยอดขายปลีกภายในประเทศลดลงไป เป็นต้น
การแข่งขันตลาดมะพร้าวน้ำหอมไทยในต่างประเทศ
ส่วนการแข่งขันในตลาดส่งออกมะพร้าวน้ำหอมของไทย จะมีคู่แข่งหลักไม่กี่ราย เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา อินเดีย ฯลฯ แต่ประเทศไทยเราก็ยังเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดต่างประเทศ เพราะมะพร้าวน้ำหอมจากประเทศไทยมีความหอมหวาน เพียงแค่ประทับตราว่า “มะพร้าวอ่อนน้ำหอมจากประเทศไทย” ก็กินขาด ทุกเชื้อชาติต่างยอมรับว่าน้ำมะพร้าวของเราหอมหวานอร่อยที่สุดในโลก แต่เอกลักษณ์ความเชื่อถือนี้จะยืนยาวแค่ไหน เพราะขณะนี้ ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมให้มีความหอมหวานเช่นเดียวกับประเทศไทย แม้วันนี้ เขาอาจจะยังไม่หอมหวานเท่า แต่วันหนึ่งเขาอาจจะพัฒนาให้หวาน หอมได้เช่นเดียวกับไทย ทำให้เราหยุดที่จะพัฒนาไม่ได้ และจะทำอย่างไรให้ติดผลดี และมีน้ำหอมหวานสม่ำเสมอ เพื่อรักษาความเป็นมะพร้าวน้ำหอมเบอร์หนึ่งของโลกเอาไว้ให้ได้
ส่วนราคามะพร้าวน้ำหอมจากประเทศไทย ต้องบอกว่า มะพร้าวน้ำหอมของเรามีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่งมาก เช่น มะพร้าวน้ำหอมไทยที่ขายในประเทศจีน ราคาสูงถึงลูกละ 70 บาท แต่ถ้าขายในยุโรปลูกละ 100 บาทขึ้นไป ในขณะที่ มะพร้าวจากประเทศคู่แข่ง อย่างเช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา อินเดีย ฯลฯ ราคาถูกกว่ากันมาก และประเทศเหล่านั้นจะไม่ได้ใช้ “ความหอม” เป็นจุดขาย แต่จะเน้นความเป็นมะพร้าวอ่อนสีเขียวที่สด ราคาถูก ฯลฯ
สำหรับใครที่สนใจ ส่งออกสินค้าเกษตร มีขั้นตอนการส่งออกมาแนะนำ ดังนี้ อันดับแรก ขออนุญาตเป็นผู้ส่งออกสินค้าของไทย กับกรมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้บัตรประจำตัวผู้ส่งออกไว้ใช้ในการออกหนังสือรับรองและใบอนุญาตต่างๆโดยผู้ยื่นคำขอจะต้องเป็นนิติบุคคล (บริษัท/ห้างหุ้นส่วนจำกัด) 2. การยื่นเอกสารใบรับรองปลอดโรคพืชจากกรมวิชาการเกษตร 3. การเตรียมเอกสารสำหรับใช้ในการนำเข้าไปยังจีน 4. พิธีการศุลกากรจากกรมศุลกากรส่งออกสินค้าจากไทย
สนใจโทร.08-9160-4404
* * * คลิก Likeเพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ"รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุดและร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager