ปัญหาขยะเปียกถือได้ว่าเป็นปัญหาอย่างมากในสังคมเมือง ทั้งในแง่ของการคัดแยกและจัดเก็บ รวมไปถึงการขาดความรู้ในเรื่องของการคัดแยกขยะที่ไม่ถูกต้อง จึงเกิดมาเป็น Bangkok Rooftop Farming และ Wastegetable สร้างกระบวนการนำเศษอาหารมาแปลงเป็นวัสดุปรุงดิน ช่วยในการจัดการขยะเปียกพร้อมทั้งสร้างพื้นที่สีเขียวในพื้นที่จำกัดอีกด้วย
นางสาวปารีณา ประยุกต์วงศ์ เลขาธิการสมาคมเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และผู้ดูแล Bangkok Rooftop Farming และ Wastegetable เล่าว่า โครงการนี้เริ่มมาจากการร่วมมือกันในหลายภาคส่วน ซึ่งเป็นการใช้องค์ความรู้จากการออกแบบระบบบริหารจัดการขยะเปียกและการออกแบบเชิงภูมิสถาปัตย์ มาร่วมกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการจัดการขยะเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ย สำหรับใช้ในการสร้างสวนผักขึ้น
โดยเน้นไปที่การจัดการขยะเศษอาหาร ซึ่งเป็นขยะที่มีปริมาณมากที่สุด ทั้งยังเป็นปัญหาที่ยังไม่มีองค์กรใดลงมาพัฒนาอย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นการจัดการที่ยากลำบาก เกี่ยวเนื่องกับรูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมืองที่ต้องพึ่งอาหารเตรียมสำเร็จ และยังไม่ค่อยมีพฤติกรรมการคัดแยกขยะเปียกหรือขยะเศษอาหารออกจากขยะประเภทอื่นเท่าใดนัก
ทั้งนี้กระบวนการทั้งหมดเป็นการจัดการขยะอินทรีย์ (ขยะเปียกหรือขยะเศษอาหาร) โดยการจัดการในกระบวนการทั้งหมดจะเริ่มตั้งแต่การแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะประเภทอื่น เพื่อนำมาหมักหรือจัดการเปลี่ยนขยะให้เป็นทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบของปุ๋ยและดินเพื่อนำไปใช้ในการเพาะปลูกพืชผักต่อไป
ซึ่งในกระบวนการจัดการนี้นอกจากจะเป็นการช่วยจัดการขยะอินทรีย์และยังช่วยในการจัดสรรพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้งาน เช่น ดาดฟ้าให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดพร้อมทั้งสร้างรายได้และช่วยลดขยะไปพร้อมกัน ส่วนความกังวลในเรื่องของกลิ่น จากกระบวนการทำจะเป็นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยจึงหมดกังวลในเรื่องของกลิ่นและแมลง ไม่สร้างความรบกวนต่อผู้อาศัยในบริเวณใกล้เคียงอย่างแน่นอน
“ทั้ง Bangkok Rooftop Farming และ Wastegetable เป็นนวัตกรรมกระบวนการ (Collective Process Innovation) ที่ทำให้เกิดการสร้างกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน ในกระบวนการนำเศษวัสดุเศษอาหารนำกลับมาสร้างมูลค่า (revaluingcircular economy-zero food waste & upcycling) พร้อมกับพัฒนาระบบอาหาร ปลอดภัยสำหรับเมืองไป ซึ่งเราเปลี่ยนเศษอาหาร เป็นวัสดุปรุงดิน เราปรับพื้นที่ว่าง เป็นฟาร์มผักบนดาดฟ้า เราปลูกผักปลอดภัย เป็นอาหารคนเมือง”
นอกจากนี้พื้นที่นำร่อง เริ่มต้นที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน เป็นศูนย์กลางการจัดกระบวนการรวบรวมขยะเศษอาหารแปลงเป็นก๊าสหุงต้ม (Bio Gas) และปุ๋ย โดยการลงทุนติดตั้งเครื่องผลิตปุ๋ยและก๊าซชีวภาพจากขยะเศษอาหารด้วยเทคโนโลยีเครื่อง Cow Tech (ที่มีปริมาณรองรับเศษอาหารวันละ 150 ถึง 200 กิโลกรัม) และเปลี่ยนดาดฟ้าอาคารที่มีพื้นที่ประมาณ 800-1,000 ตารางเมตร ให้เป็นสวนผักดาดฟ้ากลางเมือง เพื่อผลิตผักสลัดจากดิน
สำหรับผู้ที่สนใจ วางแผนโครงการ สร้างสวนผักดาดฟ้าเต็มรูปแบบ สามารถติดต่อได้ที่
เฟซบุ๊ก : wastegetable
และ Bangkok Rooftop Farming - ฟาร์มบนดาดฟ้า
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *