xs
xsm
sm
md
lg

Wastegetable เปลี่ยน “ขยะเศษอาหาร” เป็น “สวนผักกลางเมือง”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้ว่าวันนี้การแยก “ขยะเปียก” หรือ “เศษอาหาร” ออกจาก “ขยะแห้ง” หรือ “ขยะอื่นๆ” จะเป็นเรื่องที่หลายบ้าน หลายบริษัท หลายองค์กร ปฏิบัติกันเป็นกิจวัตรปกติ แต่สุดท้ายปลายทางก็มักจะทิ้งให้รถขยะมาเก็บไปกำจัด ดังนั้น เมื่อมีการนำขยะเศษอาหารไปจัดการอย่างเป็นระบบโดยได้มูลค่าเพิ่มด้วยแล้ว ย่อมเป็นแนวทางหรือโครงการที่น่าสนใจ

โครงการ “นครแห่งการแปลงเศษอาหารให้กลายเป็นสวนผักกลางเมือง” หรือ “Wastegetable” เป็นโครงการที่ใช้องค์ความรู้จาก “การออกแบบระบบบริหารจัดการขยะเปียก” และ “การออกแบบเชิงภูมิสถาปัตย์” มาร่วมกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการจัดการ “ขยะเศษอาหาร” ให้กลายเป็น “ปุ๋ย” เพื่อใช้ในการสร้าง “สวนผัก” ขึ้นใน “พื้นที่ว่างเปล่าในใจกลางเมือง” โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน , กลุ่มกิจการเพื่อสังคม“ผัก Done”, กลุ่มคนรักษ์อนุเสาวรีย์ชัย และกลุ่มเครือข่ายชุมชนถนนเจริญกรุง ซึ่งประกอบด้วยภาคธุรกิจ ร้านค้า ศูนย์การค้า และองค์กรต่างๆ ในพื้นที่


โครงการฯ มุ่งเน้นไปที่การจัดการ “ขยะเศษอาหาร” ซึ่งเป็นขยะที่มีปริมาณมากที่สุด และเป็นปัญหาที่ยังไม่มีองค์กรใดลงมาพัฒนาอย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นการจัดการที่ยากลำบาก ด้วยเพราะรูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมืองที่ต้องพึ่งอาหารเตรียมสำเร็จ และยังไม่ค่อยมีพฤติกรรมการคัดแยกขยะเปียกหรือขยะเศษอาหารออกจากขยะประเภทอื่น ในขณะที่ขยะประเภท Reused และ Recycled เป็นขยะที่มีมูลค่า จึงมีหลายองค์กรขับเคลื่อนและจัดการอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนแล้ว


โครงการฯ เป็นการเน้นกระบวนการจัดการขยะอินทรีย์ (ขยะเปียกหรือขยะเศษอาหาร) อย่างครบวงจร คือ ตั้งแต่การแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะประเภทอื่น เพื่อนำมาหมักหรือจัดการเปลี่ยนขยะให้เป็นทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปของปุ๋ยและดิน เพื่อนำไปใช้ในการเพาะปลูกพืชผักสำหรับกลับมารับประทานอีกครั้ง โดยพื้นที่ที่จะดำเนินการปรับให้เป็นแปลงปลูกผักในโครงการนี้ ได้แก่ บริเวณพื้นที่ว่างไม่ได้ใช้ประโยชน์บนตึกสูง และตามตรอกซอกซอย เพื่อให้เกิดสวนผักกลางเมืองที่ปลูกด้วยดินและปุ๋ยที่หมักจากขยะเศษอาหาร

โครงการนี้มีพื้นที่นำร่อง 2 แห่ง คือ 1) พื้นที่รอบอนุสาวรีย์ชัยฯ โดยมีห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน เป็นศูนย์กลางการจัดกระบวนการรวบรวมขยะเศษอาหารแปลงเป็นก๊าซหุงต้ม (Bio Gas) และปุ๋ย โดยการลงทุนติดตั้งเครื่องผลิตปุ๋ยและก๊าซชีวภาพจากขยะเศษอาหารด้วยเทคโนโลยีเครื่อง Cow Tech ที่มีปริมาณรองรับเศษอาหารวันละ 150 ถึง 200 กิโลกรัมและเปลี่ยนดาดฟ้าอาคารที่มีพื้นที่ประมาณ 800-1,000 ตารางเมตร ให้เป็นสวนผักดาดฟ้ากลางเมือง เพื่อผลิตผักสลัดจากดิน เป้าหมายของพื้นที่นี้คือ เกิดการรวบรวมสมาชิกที่เห็นคุณค่าของขยะเศษอาหาร


2) พื้นที่ Co-Vegetable Garden Space บริเวณบริษัท Yip in Tsoi ที่ใช้เป็นศูนย์กลางในการจัดการขยะเศษอาหาร ทั้งจากภายในองค์กร และรวบรวมจากชุมชนเพื่อนบ้านรอบๆ บริษัทย่านถนนเจริญกรุง ตลาดน้อย โดยใช้พื้นที่ว่างของบริษัท Yip in Tsoi เป็นศูนย์กลางการแปลงขยะเศษอาหารของภาคีที่เข้าร่วมโครงการฯ ใช้การจัดการขยะเศษอาหารให้เป็นปุ๋ย ด้วยกล่องหมักปุ๋ยจากเศษอาหาร (Pak Done Compost Box) ในระดับขนาดครัวเรือนและร้านอาหารขนาดเล็ก เพื่อสร้างกระบวนการแปลงขยะเศษอาหารกลับไปเป็นปุ๋ยสำหรับเพาะปลูก (Close Loop Wasted Management) ให้เห็นเป็นรูปธรรม และเน้นการนำปุ๋ยที่ได้มาใช้ในแปลงผักบริเวณศูนย์จัดการขยะเศษอาหาร บนอาคารจอดรถของ บริษัท Yip in Tsoi ที่ว่างตามริมทางเดิน ริมอาคารร้านค้า และตรอกซอกซอย เกิดเป็นสวนผักคนเมืองใจกลางถนนเจริญกรุง


พื้นที่ Co-Vegetable Garden Space นี้จะใช้เป็นพื้นที่สำหรับการจัดนิทรรศการ การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงให้กับคนเมือง และร่วมสร้างวัฒนธรรมการจัดการขยะเปียกบนถนนเจริญกรุงเพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาชุมชนเมืองเก่าสีเขียว เพื่อเป็นอัตลักษณ์ของเมืองเก่าถนนเจริญกรุง จุดเด่นของโครงการนี้คือ เป็นโครงการที่เน้นการสร้างนวัตกรรมทางสังคมในการสร้างการมีส่วนร่วมของคนเมือง สู่การสร้างสรรค์เมืองสีเขียวที่ยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น