xs
xsm
sm
md
lg

สกสว.จับคู่ ผปก.กับนักวิจัยยกระดับเพิ่มมูลค่าสินค้านวัตกรรมไทย เร่งขยายตลาดส่งออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จับมือสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสถาบันคลังสมองของชาติ จับคู่ผู้ประกอบการกับนักวิจัยต่อยอดนวัตกรรมไทย เพิ่มมูลค่า เร่งขยายตลาดส่งออกสินค้าไทย

ม.ล.คฑาทอง ทองใหญ่ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงาน “Smart Value Creation” ที่สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสถาบันคลังสมองของชาติ จัดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ในการจับคู่ผู้ประกอบการกับหน่วยงานนวัตกรรมในการต่อยอดและพัฒนาสินค้าให้มีนวัตกรรม โดยกิจกรรมนี้มุ่งเน้นการเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับนักวิจัยจากหน่วยงานนวัตกรรมเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาสินค้าให้มีนวัตกรรม มีคุณภาพ และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าไทยในการส่งออก

รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ
รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า องค์ความรู้จากนักวิจัยในมหาวิทยาลัยถือเป็นสินทรัพย์สำคัญที่จะสร้างนวัตกรรมที่เพิ่มรายได้ให้แก่ประเทศได้ แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่ากว่า 80-90% ของโครงการวิจัยเป็นผลงานที่มีคุณภาพแต่เกิดจากการคิดเอง ทำเอง ของนักวิจัย ที่ยังขาดการเติมเต็มในส่วนของการออกแบบไปถึงผู้ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จริง ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะให้การออกแบบกลไกการทำงาน กล่าวคือ ให้ผู้ประกอบการสามารถเสนอโจทย์วิจัยที่น่าสนใจได้ พร้อมลงทุนในส่วนของการวิจัยส่วนหนึ่ง และรัฐจะหนุนเงินเข้าไปเพิ่มให้ 10 เท่า

ในขณะที่ ผศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการภารกิจส่งเสริมระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สกสว. ได้ให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการและนักวิจัยที่เข้าร่วมงานครั้งนี้ภายใต้การบรรยายหัวข้อ “แหล่งให้ทุนและงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ” ว่า งานวิจัยและนวัตกรรมเป็นฐานสำคัญที่จะช่วยสร้างคุณภาพและความแตกต่างให้สินค้าของตน ดังตัวอย่างผลิตภัณฑ์สินค้าที่ประสบความสำเร็จ
เมื่อนำงานวิจัยและนวัตกรรมเข้าไปพัฒนาสินค้า เช่น ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นภายใต้แบรนด์ “บานาน่า โซไซตี้” ที่เพิ่มมูลค่าสินค้าจากกล้วยน้ำว้ากิโลกรัมละ 25 บาท ไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น กล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์โดมพาราโบลา ที่จำหน่ายได้ในราคา 150 บาท/กิโลกรัม หรือกล้วยตากเคลือบช็อกโกแลต 560 บาท/กิโลกรัม น้ำส้มสายชูและไซรัปจากกล้วย สามารถจำหน่ายได้ในราคาสูงถึง 820 บาท/กิโลกรัม หรือสินค้าแบรนด์ “ปิ่นเพชร” ที่ผลิตและจำหน่ายมะขาม โดยในแต่ละปีบริษัทจะส่งออกเมล็ดมะขามขั้นต่ำเดือนละ 5 ตันไปยังประเทศญี่ปุ่นและจีนเพื่อสกัดเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมสี ที่ขายได้เพียงกิโลกรัมละ 2-3 บาท


ผศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการภารกิจส่งเสริมระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สกสว.
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการทำวิจัยและสร้างนวัตกรรมเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา ใช้งบประมาณ ที่ผ่านมาส่วนหนึ่งมักทำเสร็จแล้วไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้ เกิดภาวะ “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” ดังนั้น งานวิจัยในช่วงหลังจึงเป็นงานวิจัยที่ถูกดีไซน์ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้มากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ต้องการมองหางานวิจัยเพื่อแมตชิ่งการพัฒนาสินค้าของตนควรดูเกณฑ์ Technology Readiness Level (TRL) คือการบ่งชี้ระดับความพร้อมและเสถียรภาพของเทคโนโลยีตามบริบทการใช้งานของงานวิจัยนั้นๆ ที่แบ่งออกเป็น 9 ระดับ โดยเลือกงานวิจัยที่มีการพัฒนาในระดับที่ 4 ขึ้นไป เนื่องจากผ่านกระบวนการวิจัยและทดลองเกินขั้นในห้องแล็บมาแล้ว

ทั้งนี้ ปัจจุบัน สกสว.พร้อมช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ โดยผ่านกลไกต่อไปนี้ คือ 1. งบประมาณสนับสนุนการทำวิจัยและนวัตกรรม ผ่านการจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานให้ทุน หรือหน่วยงานที่ทำวิจัย 2. เชื่อมโยงนักวิจัยกับผู้ประกอบการทั้งในระบบออนไลน์และออฟไลน์ 3. กลไกสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ 4. ส่งเสริมการตลาด โดยทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานอื่นๆ และ 5. ปลดล็อกข้อจำกัดทางกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ

ท้ายที่สุด จะเห็นได้ว่าการพัฒนานวัตกรรมจาก TRL 1 ไปยัง 9 เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและงบประมาณ รัฐสามารถหนุนได้ส่วนหนึ่งแต่เอกชนต้องลงทุนด้วย ก่อนพัฒนาผลิตภัณฑ์พร้อมออกจำหน่ายต้องคำนึงถึงการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ รวมถึงการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตรต่างๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีข้อจำกัดในการจำหน่ายในสินค้าที่ตรงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น