ชีวิตครอบครัวที่ล้มละลายจากการค้าขายของคุณพ่อ ทำให้ชีวิตของเด็กคนหนึ่ง “พลวัต ดีอันกอง” ต้องต่อสู้ดิ้นรน มาตลอดตั้งแต่จำความได้ในชั้นประถมต้น ไม่มีแม้กระทั่งบ้านที่อยู่อาศัย ต้องไปอยู่กับปู่ กับย่า ซึ่งไม่มีรายได้อะไรที่พอจะมาเลี้ยงดูเขาให้สุขสบายเหมือนเด็กทั่วไป ทำให้เขาต้องหาเงินใช้เองตั้งแต่จำความได้
ในวันนี้ “พลวัต ดีอันกอง” คนนี้ จากเด็กชอบเล่นเกม เขากลายเป็น CEO บริษัท อิมเมจ เอนจิน จำกัด ผู้ผลิตเกมเสริมทักษะ สำหรับเด็ก ในโครงการเกมอาร์เทอแลนด์ (Artheland) ในวัยเพียง 23 ปี เขาเป็นยุวสตาร์ทอัป ผู้ออกแบบเกมคนไทยที่สามารถขายเกมไปได้ทั่วโลก 3 ภาษา คือ อังกฤษ จีน และไทย ผ่านทาง Goole Playstore และ Steam ตอนนี้มีรายได้อยู่ที่ 2 ล้าน 3 แสนบาท และตั้งเป้าไว้ว่า ภายใน 3 เดือนนี้ ต้องทำรายได้ 15 ล้านบาท และ ภายใน 1 ปี ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 45 ล้านบาท
“พลวัต” เล่าว่า ชีวิตเขาเริ่มต้นจากศูนย์ ในวัยเด็กชอบเกมแต่ไม่มีโอกาสได้เล่นเกมเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ เพราะที่บ้านยากจนมาก ก็อาศัยวาดเกมที่เราชอบลงบนกระดาษวาดเล่นเอง และวาดให้เพื่อนๆ ได้เล่น ตอนวาดลงบนกระดาษ เหมือนกับว่าเราได้เริ่มออกแบบเกมตามจินตนาการที่เราคิด และความทรงจำในวัยเด็กที่อยากจะได้เล่นเกมผ่านคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือกับเขาบ้าง แต่เป็นแค่ความฝันในวัยเด็ก จนวันหนึ่ง สามารถเก็บเงินและหาซื้อคอมพิวเตอร์ราคาถูกๆมาได้ ทำให้วันนั้น ได้เล่นเกมอย่างที่ฝัน แต่เป้าหมายไม่ได้แค่เล่นเกม ต้องการที่จะทำเกม และเป็นเจ้าของเกมเอง
"กว่าจะมาถึงวันนี้ ผมต้องผ่านการทำงานมาตลอดชีวิต ขายของมาหลายอย่าง เพื่อหาเงินเรียนหนังสือ และหารายได้มากินมาใช้ในแต่ละวัน ที่บ้านไม่ได้ปิดกั้นเรื่องเรียนเขาให้เราเรียน แต่ไม่มีเงินมากพอที่ส่งให้เราเรียน เราก็ต้องหาเงินเรียนเอง จนกระทั่งเมื่อได้มาเรียน คณะเทคโนโลยีมัลติมีเดีย และสร้างภาพเคลื่อนไหว ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่เลือกเรียนคณะนี้ เพราะต้องการสานต่อการทำเกม ที่เราใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็กด้วย"
"ส่วนหนึ่งภาพจำฝั่งใจด้วยว่า ทำไม ไม่มีโอกาสได้เล่นเกมที่เราชอบเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ทำให้เราอยากออกแบบเกมของเราเอง และได้เล่นเกมที่เราชอบ และการเรียนที่แม่โจ้ ได้ความรู้ในการทำเกมเพิ่ม เพราะในช่วงที่ศึกษาอยู่ชั้นมัธยม ก็เรียนรู้การสร้างเกม การออกแบบเกมผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งก็เป็นภาษาอังกฤษ ทำให้เราได้เรียนรู้ภาษาจากการเรียนการทำเกมผ่านออนไลน์ เป็นที่มา ที่ทำให้สามารถทำเกมได้หลายภาษา"
สำหรับความสำเร็จของ “พลวัต” ในครั้งนี้ นอกเหนือจากความมุ่งมั่นตั้งใจของเขาแล้ว ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า เขาเริ่มต้นจากศูนย์ ไม่มีเงิน แม้แต่จะซื้อคอมพิวเตอร์ดี ดังนั้น ความสำเร็จ ครั้งนี้ “พลวัต” บอกว่ามาจากการสนับสนุน ของ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ผ่านกองทุนยุวสตาร์ทอัป (Youth Startup Fund) ซึ่งโครงการยุวสตาร์ทอัป ของ NIA ไม่ได้แค่สนับสนุนด้านเงินทุน แต่มีทีมที่ปรึกษามาช่วยในการทำงานด้วย เรียกว่า ถ้าไม่มีหน่วยงานนี้ผมก็คงจะไม่ได้เดินมาถึงจุดนี้ เพราะเรามีแค่มันสมองถ้าไม่มีทุน ไม่มีที่ปรึกษาคอยช่วยเหลือ การเดินมาถึงจุดนี้ คงเป้นไปได้ยาก
ทั้งนี้ น้องที่มีความฝัน อยากจะเป็นสตาร์ทอัป ในวันนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เปิดรับสมัครน้องเข้าร่วมนำเสนอโครงการเพื่อขอทุน โดยรายละเอียดดังนี้ 1. โครงการ Startup Thailand League เป็นการพัฒนา บ่มเพาะ การประกวดแข่งขันการนำเสนอแผนธุรกิจของนักศึกษาระดับประเทศ และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย และ 2. โครงการ Pre-seed Funding เป็นการสนับสนุนเงินทุนสำหรับต่อยอดธุรกิจจริง ในรูปแบบเงินอุดหนุนสมทบบางส่วนแบบให้เปล่า (90/10)
โดยแบ่งออกเป็น 3 โปรแกรม คือ 1. INCUBATORS INCENTIVE PROGRAM วงเงินสนับสนุน สูงสุด 1,500,000 บาท 2. UNIVERSITY SEED GRANT PROGRAM วงเงินสนับสนุน สูงสุด 750,000 บาท และ 3. INNOVATION LABS PROGRAM วงเงินสนับสนุน สูงสุด 500,000 บาท นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานพันธมิตรอย่าง ธนาคารออมสิน หน่วยงานภาครัฐที่จะมาช่วยสนับสนุนเงินทุนบางส่วนแก่น้องๆ ในการสร้างฝัน ให้สามารถนำไอเดียไปต่อยอดธุรกิจสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง
พลวัต เล่าถึง การเข้าร่วมโครงการต่างๆ เพื่อขอทุน ไม่ใช่แค่ใครมีโครงการก็ไปนำเสนอและได้ทุนมา เพราะถ้าทำเช่นนั้น เงินก็จะสูญเปล่า ถ้าทุนไปตกอยู่กับคนที่ไม่นำเงินไปสานต่อให้เกิดกิจการที่มั่นคง เพราะตนเองตอนรับทุนแต่ละครั้งต้องเจอคู่แข่งที่เขามาร่วมขอทุนกับเรา ซึ่งต้องต่อสู้กับคนอื่นๆ หรือ แม้แต่ผู้ประกอบการ มีประสบการณ์ มากกว่าเรา หรือนักวิชาการ อย่างล่าสุด ขอทุนวงเงิน 1ล้าน5แสนบาท ก็ต้องผ่านการPitching กับอีก 2 โครงการ ซึ่งเป็นนักวิชาการ แต่สุดท้าย เลือกที่จะให้ทุนกับเรา และที่ผ่านมา หลายครั้งสามารถขอทุนมาได้ตลอด เพราะเจ้าของทุนมองเห็นว่ามีศักยภาพและเราทำจริง
สำหรับการวางแผนในอนาคต “พลวัต” บอกว่า ได้เปิดบริษัทและมีรายได้จากการทำเกม มาได้ประมาณ 2 ปี การทำงานเริ่มตั้งแต่ ยังเรียนหนังสือ วันนี้ เมื่อเรียนจบไม่ต้องออกไปหางานเพราะมีกิจการเป็นของตัวเอง ขณะนี้ รับน้องมาทำงานร่วมกันในบริษัท 11คน ส่วนรายได้มาจากการแบ่งเปอร์เซ็นต์ ซึ่งการทำเกมมีคู่แข่ง ทำให้เราต้องพัฒนาตัวเอง คิดออกแบบเกมใหม่ๆ ตลอดเวลา
"ผมตั้งใจไว้ว่า เมื่ออายุ 30 ปี อยากจะมีรายได้สัก 150 ล้านบาท ซึ่งมีความเป็นไปได้ ถ้าผมสามารถคิดออกแบบเกม และทำให้ผู้เล่นเกมจากทั่วโลก ชื่นชอบ ปัจจุบัน การตอบรับจากคนที่มาเล่นเกมของผมตอนนี้อยู่ที่ 5 แสนชั่วโมง มีรายได้อยู่ที่ 2.3 ล้านบาท กลุ่มคนเล่นเกมมีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป จนถึง คนสูงอายุ ก็เล่นเกมของเรา เพราะช่วยให้เขาได้ผ่อนคลาย"
“ถ้าถามความสำเร็จในเชิงรายได้ และการแข่งขันการทำเกม ก็ต้องบอกว่า ผมประสบความสำเร็จ เพราะเกมที่ขายกันตามท้องตลาด มาจากผู้ผลิตรายใหญ่ และไม่น่าจะมีสตาร์ทอัปตัวเล็กแบบเราสักกี่ราย ยิ่งในประเทศไทยยิ่งแทบจะไม่มี ทุนที่เขาใช้ก็หลักร้อยล้าน พันล้าน ในขณะที่ทุนของเราแทบจะไม่มี จะมีบ้างแค่หลักแสน หลักล้านต้นๆ เท่านั้น แต่ที่เราได้เปรียบราคาต่างกันมากเขาขายหลักพัน แต่ของเราแค่หลักร้อย ดังนั้น ไม่ได้คาดหวังว่าจะไปแข่งขันกับเขา แค่มีคนชอบเกมที่เราออกแบบและเล่นเกมของเรา และมีรายได้หลักสิบล้าน ผมก็ถือว่า ประสบความสำเร็จแล้ว เพราะด้วยอายุของผมในวัยเพียง 20 ต้น ยังทำให้ผมได้เริ่มอะไรใหม่ได้อีก ไม่ได้กลัวเรื่องความล้มเหลว และที่สำคัญ ผมเด็กยากจนคนหนึ่งในต่างจังหวัด และวันนี้ ได้จับเงินล้านแค่นี้ ผมก็ดีใจแล้ว”
สนใจโทร. 09-4761-4313
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
www.facebook.com/SMEs.manager">
SMEs manager