บริษัทไมลอทท์ แลบบอราทอรีส์ ผู้ผลิตเครื่องสำอาง เผยถึงทิศทางตลาดเครื่องสำอางไทยในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจช่วงขาลง ว่า ตลาดเครื่องสำอางไทยยังมีช่องว่าง สำหรับผู้เล่นแบรนด์ใหม่ เพราะกลุ่มลูกค้าซึ่งคนรุ่นใหม่อายุน้อย หันมาใช้เครื่องสำอาง และเป็นพฤติกรรมการใช้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้ติดแบรนด์
นางสาวรุ่งระวี กิตติสินชัยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมลอทท์ แลบบอราทอรีส์ จำกัด เผยว่า จากภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก ทำให้ตลาดในประเทศไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้บริโภคให้ความระมัดระวังกับการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งผลลัพธ์เหล่านี้ทำให้ตลาดความงามเองต้องปรับตัว อย่างไรก็ตาม มูลค่าธุรกิจเครื่องสำอางในปีนี้(2563) มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สาเหตุ มาจาก ผู้ที่เริ่มใช้เครื่องสำอาง มีอายุเฉลี่ยน้อยลง และมีพฤติกรรมการใช้อย่างต่อเนื่อง
ส่วน ปัจจัยที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้บริโภค ที่เห็นได้ชัด คือ พฤติกรรมความภักดีในแบรนด์ (Brand Loyalty) ลดลง ดังนั้น ตลาดความงามปี 63 ยังคงเปิดช่องให้กับผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มดารานักแสดงและเน็ตไอดอล ที่หันมาสร้างแบรนด์เครื่องสำอางกันอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงสินค้านำเข้าจากจีนและเกาหลีใต้ในราคาถูก อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้เล่นยังส่งให้การแข่งขันมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม Mass ระดับกลางและระดับล่าง
ผู้บริโภคเป้าหมายในกลุ่ม Mass ระดับกลางและระดับล่าง นับเป็นตลาดที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนค่อนข้างมาก ทำให้แม้แต่ Global Brand หรือแบรนด์ใหญ่ๆ ต่างก็หันมาพัฒนาคอลเลคชั่นเครื่องสำอางในราคาที่ถูกลง เพื่อส่งสินค้าเข้าในกลุ่ม Mass มากขึ้น รวมถึงเริ่มออก Fighting brand ใหม่ๆ ในราคาที่จับต้องได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันและรักษาส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มสินค้านั้นๆ
ทั้งนี้ การจับกลุ่ม Mass ครั้งนี้ จะเน้นแข่งขันกันที่คุณภาพของสินค้า รูปแบบและความแปลกใหม่ ความหลากหลาย มีนวัตกรรมทั้งตัวสินค้าและแพ็คเกจจิ้ง ไปจนถึงด้านราคา รวมถึงต้องสำรวจความต้องการของผู้บริโภค เพื่อที่จะได้สินค้าที่ตอบสนองผู้บริโภคได้ในทุกกลุ่มอายุ และสามารถจัดการอายุของผลิตภัณฑ์ตาม Product Life Cycle ไม่ให้ถึงช่วงขาลง เพื่อเป็นการสร้างความยั่งยืนให้แก่แบรนด์
นางสาวรุ่งระวี กล่าวถึงโอกาสการขยายการเติบโตของเครื่องสำอางไทยว่า ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นฮับหลักของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีศักยภาพเป็นทางผ่านสินค้าส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นทั่วโลก ทั้งยังมีความพร้อมด้านระบบการผลิต Supply Chain ที่ครบวงจร มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีแรงงานทักษะสูง ประกอบกับไม่มีปัญหาข้อขัดแย้งภายในและด้านศาสนา รวมถึงไม่มีความเสี่ยงด้านภัยพิบัติที่รุนแรง ข้อได้เปรียบนี้เป็นปัจจัยที่ตอบโจทย์ในการรองรับการค้าและการส่งออกได้มากขึ้นอย่างมีนัยยะ และเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการเจ้าของแบรนด์ รวมถึงผู้รับจ้างผลิตในประเทศไทย จะสามารถทำธุรกิจกับคู่ค้าต่างประเทศได้มากขึ้น
การเข้าเป็นพันธมิตรกับคู่ค้าต่างประเทศ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงข้อจำกัด ไปจนถึงการรักษาสิทธิประโยชน์ในประเทศนั้นๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนและการทำธุรกิจอย่างมั่นคงกับคู่ค้า เช่น สิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบภายใต้คลังสินค้าทัณฑ์บน การจัดหาหน่วยงานบริการด้านการส่งออก รวมถึงการจัดเตรียมเอกสาร เพื่อประโยชน์ในเรื่องการงดเว้น/ลดหย่อนภาษีให้กับผู้ประกอบการ เป็นต้น ทั้งนี้สำหรับผู้ประกอบรายย่อย ยังต้องคำนึงถึงการควบคุมคุณภาพของสินค้าให้ได้มาตรฐานในประเทศนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าจากการผลิตด้วยตนเองหรือจากการจ้างผลิตสินค้า (OEM) และสินค้าต้องตรงตามพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคด้วย
สำหรับ บริษัท ไมลอทท์ แลบบอราทอรีส์ จำกัด ก็เป็นหนึ่งในบริษัทรับจ้างผลิต (OEM) ที่ทำงานร่วมกับแบรนด์ความงามชั้นนำระดับโลกมานานกว่า 30 ปี สามารถผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการ และตรงตามพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภค ผู้ประกอบการที่สนใจข้อมูลการผลิตเครื่องสำอาง สามารถพบกับ บริษัท ไมลอทท์ ได้ที่งาน นิทรรศการแสดงสินค้าเพื่อธุรกิจความงามระดับโลก “คอสโมพรอฟ ซีบีอี อาเซียน แบงค็อก 2563 (Cosmoprof CBE ASEAN 2020)” 17-19 กันยายน 2563 ณ ศูนย์การแสดงสินค้า และการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี