xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกร จ. ยโสธร โดนนายทุนยึดที่ทำกิน รวมตัวสร้างอาชีพใหม่ "เกษตรอินทรีย์” ผลผลิตธนาคารที่ดิน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารที่ดิน ตัวช่วยเกษตรกรไร้ที่ทำกิน

ที่ผ่านมา ปัญหาของเกษตรกร คือ การกู้เงินนอกระบบ และไม่ได้รับความเป็นธรรม นายทุนคิดดอกเบี้ยโหด และสุดท้ายโดนนายทุนยึดที่ดินไปเป็นจำนวนมาก โดยรัฐบาล “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้มีที่ดินทำกิน จึงจัดตั้ง สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. ให้ดำเนินภารกิจกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน แก้ไขปัญหาด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย การป้องกันการสูญเสียสิทธิในที่ดินจากการจำนอง ขายฝาก ตลอดจนส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้กำกับดูแล

ทั้งนี้ ทางบจธ.ได้ช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร ในจังหวัดยโสธร และเกษตรกรทั่วประเทศ ไปแล้วจำนวน 323 ราย เนื้อที่ 2,378 ไร่ 2 งาน12.5 ตารางวา รวมถึง “นางธนชน เยาวชน” ผู้ก่อตั้งกลุ่มสหกรณ์ผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ จังหวัดยโสธร และเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์สมุนไพรแปรรูป ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สนองพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี



จากเกษตรกรคิดฆ่าตัวตาย โดนยึดที่ทำกิน กลับมามีชีวิตใหม่


นางธนชน เยาวเรศ ผู้ก่อตั้งกลุ่มผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ จังหวัดยโสธร เล่าว่า ก่อนหน้านี้ ตนเองได้นำที่ดินทำกิน จำนวน11ไร่ ไปจำนองกับนายทุน ในพื้นที่ กู้เงินมา 65,000 บาท และผ่อนชำระไปเรื่อยๆ งวดละ 5พันบาท หนึ่งหมื่นบาทบ้าง ส่งไปแล้วจำนวน 165,000 บาท เหลืออีก 30,000 บาท หาเงินไม่ได้ ก็คิดว่าส่งไปเยอะแล้ว ก็น่าจะพอ แต่ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะพอเราหยุดส่ง เขาก็นำที่ดินของเราไปขายทอดตลาด

ทั้งนี้ ตอนนั้นป้าเครียดมาก เพราะที่ดินแปลงนี้สำคัญกับป้ามาก เนื่องจากตกทอดมาจากปู่ย่า ตายาย และเงินแค่ 30,000 บาท ทำให้ป้าต้องเสียที่ดินทำกินไปเลย เสียใจมาก ขนาดคิดว่าจะฆ่าตัวตายเลยตอนนั้น และได้ปรึกษากับเกษตรจังหวัด ขอความช่วยเหลือ มีวิธีการอะไรที่จะช่วยให้เราไม่ต้องเสียที่ดินแปลงนี้ไป ทางจังหวัดแนะนำให้เราไปพบกับธนาคารที่ดิน ซึ่งขณะนี้คิดว่าธนาคารที่ดินมีจริงเหรอ ไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่ก็แอบมีความหวังและเดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ธนาคารที่ดิน ขอความช่วยเหลือจากเขา ไปบอกกับญาติ และเพื่อนในหมู่บ้าน ว่า ธนาคารที่ดินจะช่วยซื้อที่ดินคืนให้ ซึ่งญาติยังว่าธนาคารที่ดินมีจริงเหรอ


“ พอผ่านไปไม่กี่วัน ทางเจ้าหน้าที่ของธนาคารที่ดิน โทรกลับมา และบอกว่าจะซื้อที่ดินแปลงนั้นให้ป้าดีใจมาก และสุดท้ายป้าก็ได้ที่ดินคืน โดยผ่อนชำระเงินกับธนาคารที่ดิน เป็นเงิน 750,000บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี โดยเริ่มผ่อนชำระเป็นงวดๆละ 6 เดือน จำนวนเงินงวดละ 30,000 บาท ”

นางธนชน กล่าวว่า หลังจากได้ที่ดินกลับมา ป้าคิดว่าจะทำงานอุทิศตัวเพื่อสังคม ถ้ามีโอกาสจะช่วยเหลือคนที่เจอปัญหาเช่นเดียวกับตนเอง เพราะเข้าใจหัวอกคนที่ต้องเสียที่ดินทำกินไป ซึ่งพอได้ที่ดินกลับมา ป้าแบ่งที่ดินตรงนี้ ให้กับเพื่อนบ้านในหมู่บ้านที่ไม่มีที่ดินทำกินได้มีพื้นที่ ปัจจุบันป้าเก็บที่ดินไว้แค่ 2 ไร่ ในการปลูกสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ และพืชสมุนไพรที่ได้นำมาแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเกษตรกรที่ป้าแบ่งที่ทำกินให้เขาก็ปลูกสมุนไพรเช่นกัน

โดยทางเกษตรจังหวัด และธนาคารที่ดิน เห็นถึงความตั้งใจของ “นางธนชน” จึงได้มอบหมายให้เป็นแกนนำในการดูแลเกษตรกรที่เจอปัญหาไม่มีที่ทำกินและต้องการมีรายได้ ซึ่งเป็นที่มาของการ ตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยมีสมาชิกกว่า 300 คน ทุกคนสมาชิกส่วนใหญ่จะเจอปัญหาไม่มีที่ทำกิน ทั้งที่โดนนายทุนยึดไปเหมือนกับ นางธนชน และคนที่ไม่มีที่ทำกินอยู่ก่อนแล้ว



ชาวบ้าน 300 คน ไม่มีที่ทำกิน
รวมตัวตั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์



ทั้งนี้ สมาชิกที่มีกว่า 300 คน ทางจังหวัดก็เลยให้ ตั้งเป็นกลุ่มสหกรณ์ผู้ผลิตและแปรรูปเกษตรอินทรีย์ โดยได้รับงบช่วยเหลือจากทางจังหวัดในการซื้ออุปกรณ์และเครื่องไม้ เครื่องมือต่างๆ เพื่อนำมาใช้การในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ และล่าสุด ยังได้รับการชักชวน จากทางโรงเรียนยโสธร พิทยาสรรค์ เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืช สนองพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่นำออกมาจำหน่าย ไม่ว่า จะเป็นชาสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ด้านความงาม เช่น สบู่ ยาสระผม ฯลฯ ได้รับตราโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช หรือ หลายคนเรียกว่า ตราของสมเด็จพระเทพฯ ยิ่งสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าส่งผลทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น

สำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูปสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ ของกลุ่มสหกรณ์ฯ ดังกล่าวมาข้างต้น ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ในกลุ่มสมาชิกผลิตได้ เพราะต้องควบคุมว่าผลิตแบบปลอดภัย และเป็นเกษตรอินทรีย์จริง และสมาชิกนอกจากจะได้เงินปันผล หลังจากเกิดผลกำไรแล้ว ยังมีรายได้จากการนำผลผลิตสมุนไพรมาส่งขายให้ทางกลุ่มด้วย ส่วนช่องทางการจัดจำหน่าย ใช้การออกบูทแสดงสินค้าตามที่ต่างๆ ของจังหวัดจัดขึ้น และมีลูกหลานมาช่วยขายผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนหนึ่งมาจากการบอกต่อ ของคนที่เคยได้กิน




โดยผลิตภัณฑ์ของกลุ่มสหกรณ์ผู้ผลิตและแปรรูปเกษตรอินทรีย์ ในขณะนี้ ประกอบด้วย ชาสมุนไพรต่างๆ เช่น ชาสมุนไพรยอดกตัญญู ช่วยให้สดชื่น ป้องกันโรคเบาหวาน ความดัน บำรุงน้ำนม ลดไขมัน ฯลฯ ทำมาจากสมุนไพรกว่า 10 ชนิด เช่น เจียวกู๋หลาน ต้นก่องข้าว หม่อน ดอกคำฝอย เป็นต้น ชาสมุนไพรสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ ได้รับความนิยมมาก สำหรับชาสมุนไพรเลิกบุหรี่ และ ยังสมุนไพรหอมไล่ยุง สมุนไพรคลายเครียด ขี้ผึ้งหอมคลายเส้น ส่งขายให้กับ สปา และร้านนวดต่างๆ สบู่เหลวสมุนไพร แชมพูสมุนไพร เป็นต้น


เตรียมสร้างมาตรฐานการผลิต เพื่อขยายตลาด

นางธนชน
กล่าวว่า เนื่องจากตั้งกลุ่มมาได้ไม่นาน การผลิตต่างๆ ก็ยังไม่ได้มาตรฐานจำเป็นที่จะต้องทำให้ได้มาตรฐาน โดยตอนนี้ยังขาดเงินทุน ทำให้ไม่สามารถขอเครื่องหมายต่างๆ ได้ เป็นที่มาทำให้เราขยายตลาด เติบโตได้ไม่เต็มที่ ซึ่งต้องการให้หน่วยงานที่เข้ามาส่งเสริม ช่วยหาทุนเพื่อทำการปรับปรุงสถานที่ เพราะการขอเครื่องมาตรฐานการันตีคุณภาพต่างๆ สถานที่การผลิตต้องได้มาตรฐานกว่านี้

ทั้งนี้ ถ้าสามารถขอเครื่องหมายมาตรฐานต่างๆ ได้ ทำให้เราสามารถส่งผลิตภัณฑ์ของเราเข้าประกวดโอทอปได้ และถ้าได้ดาว ช่วยให้เราสามารถออกตลาดในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการออกบูทในกรุงเทพฯ ได้ ปัจจุบันการตลาดของเรายังแคบอยู่ เพราะอยู่เฉพาะในจังหวัดยโสธรและจังหวัดใกล้เคียง ถ้าขยายตลาดได้ช่วยให้สมาชิกที่มีพื้นที่ปลูกสมุนไพร สามารถขายสมุนไพร และมีรายได้ ปัจจุบันสมาชิกที่ส่งสมุนไพรให้กลุ่มได้วันละ 10-20 กิโลกรัม ราคาสมุนไพรกิโลกรัมละ10 บาท


สำหรับท้ายสุดนี้ นางธนชน บอกว่า ในครั้งนี้ มีชีวิตเหมือนเกิดใหม่ หลังจากได้ที่ดินคืน แม้ว่าจะต้องเป็นหนี้ ถึง 750,000 บาท แต่ถ้ารู้จักใช้เงินและไม่มีหนี้ สามารถผ่านพ้นไปได้ และการตั้งกลุ่มสหกรณ์ เพื่อช่วยสมาชิกในกลุ่มถ้ามีปัญหาเรื่องเงิน จะได้มาหยิบยืม โดยไม่ต้องไปกู้เงินจากนายทุนที่ดอกเบี้ยสูงๆ และโดนฮุบที่ดิน เหมือนกับตนเอง

ด้าน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การจัดทำธนาคารที่ดินในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลต้องการลดความเหลื่อมล้ำ และให้ทุกคนได้มีที่ดินทำกิน ได้มีอาชีพ มีรายได้ อยากจะฝากทุกคนให้ช่วยกันดูแลพื้นแผ่นดินแห่งนี้ และรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินนี้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สนใจโทร.09-8169-9355



* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *



กำลังโหลดความคิดเห็น