xs
xsm
sm
md
lg

บจธ.ประเดิมเวทีแรกเชียงใหม่ รับฟังความเห็นร่าง กม.ตั้งสถาบันบริหารจัดการเพื่อการกระจายการถือครองที่ดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - “เฉลิมเกียรติ” คณะทำงานรองนายกฯ “ประวิตร” ขึ้นแท่นเปิดเวทีครั้งแรกที่เชียงใหม่ ประชุมรับฟังความคิดเห็นร่าง กม.สถาบันบริหารจัดการเพื่อการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม จ่อคลอด มิ.ย. 63 ทุนประเดิม 6,000 ล้าน



วันนี้ (10 ม.ค. 63) ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ พลตำรวจเอก เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน คณะทำงานด้านกฎหมายการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานในพิธีเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน เกี่ยวกับร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการเพื่อการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม (องค์การมหาชน) พ.ศ. .....

สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) จัดขึ้น มีประชาชนและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 200 คน โดยการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เป็นครั้งแรกจากทั้งหมด 6 ครั้ง ที่จะจัดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศจนครบภายในเดือน ม.ค. 63 ซึ่งนอกจากการร่วมประชุมแล้วผู้ที่สนใจยังสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางเว็บไซต์ที่ www.labai.or.th และ http://www.lawamendment.go.th ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 31 ม.ค. 63


พลตำรวจเอก เฉลิมเกียรติกล่าวว่า รัฐบาลโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เล็งเห็นความสำคัญในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในเรื่องที่ดินทำกินมาโดยตลอด ซึ่งได้ดำเนินการผ่านโครงการของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. ให้ดำเนินภารกิจกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย การป้องกันการสูญเสียสิทธิในที่ดินจากการจำนอง ขายฝาก ตลอดจนส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยมีรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้กำกับดูแล


ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ดำเนินการมา บจธ.ได้ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีที่ดินทำกินไป 2,631 ราย 877 ครัวเรือน จำนวนที่ดินที่ บจธ.ดำเนินการ 3,151 ไร่ ในโครงการตามภารกิจของ บจธ.ทุกโครงการจะต้องน้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เรื่อง “ศาสตร์พระราชา” มาเป็นหลักในการพัฒนาที่ดินในโครงการ ขณะที่การจัดประชุมครั้งนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวและรวบรวมนำไปสู่การปรับปรุงเนื้อหากระทั่งมีผลบังคับใช้ต่อไป


ด้านนายกุลพัชร ภูมิใจอวด รองผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการจัดตั้งธนาคารที่ดิน ว่า หลังจากที่มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ในช่วง 3 ปีกว่าที่ผ่านมา ในที่สุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นพ้องกันว่าหน่วยงานที่จะก่อตั้งขึ้นใหม่จะมีวัตถุประสงค์ในทำนองเดียวกับธนาคารที่ดิน ในเบื้องต้นจะใช้ชื่อว่า “สถาบันบริหารจัดการเพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม” (องค์การมหาชน) ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการเพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... ได้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เว็บไซต์ www.labai.or.th และ www.lawamendment .go.th นอกจากนี้จะมีการรับฟังความคิดเห็นโดยการจัดประชุมเกษตรกรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 6 ภาค ภาคละ 200 คน โดยจะมีการขอความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ นอกจากนี้ จะมีการส่งหนังสือสอบถามความคิดเห็นไปยังหน่วยงานภาครัฐอีกด้วย


รองผู้อำนวยการ บจธ.กล่าวต่อไปว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด บจธ.จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 หลังจากนั้นภายในเดือนกุมภาพันธ์จะรวบรวมสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นเพื่อเสนอเรื่องไปยัง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลงานของ บจธ. และนำเสนอไปยังสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาเห็นชอบต่อไป และจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบได้ภายในเดือนมีนาคม คาดว่าพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในไม่เกินเดือนมิถุนายน 2563 โดยมีเงินทุนประเดิมจากรัฐบาลประมาณ 6,000 ล้านบาท


สำหรับอำนาจหน้าที่ของสถาบันบริหารจัดการเพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม (องค์การมหาชน) จะมีความใกล้เคียงกับบทบาทของธนาคารที่ดิน เช่น (1) ดำเนินการให้ได้มาซึ่งที่ดินเพื่อจัดสรรให้แก่เกษตรกรหรือองค์กรชุมชนได้ใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน (2) ส่งเสริม สนับสนุน ประสานงาน และร่วมมือกับองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กร ชุมชน กองทุนหมู่บ้าน สถาบันการเงินประชาชน และสหกรณ์ในการบริหารจัดการที่ดิน (3) ก่อตั้งสิทธิ หรือทำนิติกรรมทุกประเภทกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน (4) ถือกรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิครอบครอง หรือเป็นผู้ทรงทรัพยสิทธิต่างๆ ในสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ (5) โอนหรือรับโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิต่างๆ

(6) ซื้อ จัดหา จำหน่าย ยืม ให้ยืม เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ แลกเปลี่ยนหรือดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิต่างๆ (7) ไถ่ถอนจำนองหรือไถ่ถอนขายฝากที่ดิน (8) ให้สินเชื่อ เพื่อประโยชน์ในการจัดหาและพัฒนาที่ดิน ที่ดินเฉพาะองค์กรชุมชน ถ้ามิใช่องค์กรชุมชน ให้คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาอนุมัติเป็นรายกรณี (9) บริหารจัดการหรือพัฒนาที่ดินที่ผู้มีกรรมสิทธิ์มอบหมายให้ดำเนินการ หรือที่ดินที่สถาบันได้มาด้วยวิธีการอย่างใดๆ เพื่อนำไปดำเนินการจัดสรรให้แก่เกษตรกร






กำลังโหลดความคิดเห็น