สถานการณ์ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถือว่าอยู่ในช่วงขาขึ้นมาตลอด เพราะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทย เมื่อ 36 ปี โดยคาดการณ์ว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 2563 นี้ ก็จะเติบโต เช่นเดียวกับปีทีผ่านมา โดยได้แรงหนุนจากการตกงานของแรงงานไทยที่ตั้งเป้าไว้สูงถึงหลักแสนคน จากการปิดตัวของโรงงาน บริษัท ห้างร้าน ฯลฯ
สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 2562 ที่ผ่านมามีจำนวนธุรกิจแฟรนไชส์เปิดดำเนินกิจการทั้งสิ้น 584 กิจการ แบ่งออกเป็น แฟรนไชส์อาหาร 140 กิจการ เครื่องดื่มและไอศกรีม 135 กิจการ การศึกษา 104 กิจการ เบเกอรี่ 45 กิจการ บริการ 41 กิจการ ค้าปลีก 35 กิจการ โอกาสทางธุรกิจ 34 กิจการ ความงาม 25 กิจการ งานพิมพ์ 16 กิจการ อสังหาริมทรัพย์ 7 กิจการ และหนังสือ วิดีโอ 2 กิจการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2561มีจำนวน 536 กิจการ โดยภาพรวมธุรกิจแฟรนไชส์เกิดใหม่เฉลี่ยประมาณ 19%
จับตาแฟรนไชส์ธุรกิจออนไลน์ มาแรง ปี 63
นางสาวสมจิตร ลิขิตสถาพร นายกสมาคมเอสเอ็มอี และแฟรนไชส์ไทย กล่าวถึงแฟรนไชส์ไทย ว่า สำหรับในปี 2563 คาดการณ์ว่าสถานการณ์ของแฟรนไชส์ น่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพราะ ความต้องการคนทำธุรกิจส่วนตัวมีมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากจำนวนคนว่างงานที่เพิ่มขึ้น หันมาทำธุรกิจ โดยการซื้อแฟรนไชส์ ส่วนในมุมของเจ้าของแฟรนไชส์ หรือ แฟรนไชส์ซอร์ จะเพิ่มขึ้นตามความต้องการของแฟรนไชส์ซี
สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่มาแรงในปี 2563 “นายกสมาคมเอสเอ็มอี และแฟรนไชส์ไทย” มองว่า กลุ่มธุรกิจบริการน่าจะมาแรงและมีโอกาสทีดีกว่า เนื่องจากในตลาดยังมีอยู่น้อย และสอดรับกับการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้แฟรนไชส์ในกลุ่มธุรกิจบริการใหม่ เช่น ธุรกิจบริการขนส่ง ธุรกิจดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ บริการทำความสะอาด เพราะไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยนไป ทำให้ธุรกิจบริการด้านนี้ได้รับการตอบรับที่ดี บริการนวดแผนไทย บริการด้านความงาม ธุรกิจบริการให้คำปรึกษา บริการด้านการศึกษาทางออนไลน์ บริการเครือข่าย เป็นต้น ซึ่งธุรกิจบริการที่กล่าวมาจะเน้นช่องทางตลาดออนไลน์ ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มาแรงและรวดเร็วในปี 2563
ทั้งนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ ถ้าไม่ปรับตัวก็โดนดิสรัปชั่นเหมือนกัน และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เจ้าของกิจการก็ต้องปรับตัวให้ทัน ส่วนธุรกิจแฟรนไชส์ ที่ได้รับการตอบรับดีในปี 2562 ที่ผ่านมา เริ่มได้เห็นธุรกิจบริการที่กล่าวมาข้างต้น เพิ่มมากขึ้น แต่แฟรนไชส์ที่นิยม ก็ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่ม เพราะทุกคนก็ยังต้องกินต้องใช้ อาหารคงยังเป็นตัวเลือกที่เหล่าแฟรนไชส์ซีให้ความสนใจ
ส่วนราคาแฟรนไชส์ ที่ได้รับความสนใจในปี 2562 แฟรนไชส์ที่มีราคาหลักแสนบาท เพราะด้วยภาวะเศรษฐกิจไม่ดีนัก ทำให้นักลงทุนที่ซื้อแฟรนไชส์ไม่กล้าเสี่ยงจะลงทุนสูงกับแฟรนไชส์ที่ราคาหลักล้านบาท ซึ่งในปี 2563 แฟรนไชส์ที่คาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี น่าจะยังคงเป็นแฟรนไชส์ ราคาหลักแสนบาท ถึงไม่เกิน 3 ล้านบาท เพราะถ้าเกิน 3 ล้านบาท โอกาสเสี่ยงสูง ด้วยเศรษฐกิจในปีหน้ายังอยู่ในเกณฑ์ไม่ดีนัก ศักยภาพการลงทุนไม่เกิน 3 ล้านบาท
การเติบโตแฟรนไชส์ไทยในต่างประเทศ
นางสมจิตร กล่าวว่า ในส่วนการขยายตลาดแฟรนไชส์ ไปต่างประเทศ ปี 2562 ที่ผ่านมาแฟรนไชส์ไทยได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศมาก โดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศจีน สนใจแฟรนไชส์ร้านอาหารจากประเทศไทยมาก แต่ปัญหา คือ แฟรนไชส์ไทย ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอ ที่จะพร้อมไปเปิดตลาดต่างประเทศ หรือไม่ ร้านอาหาร หรือภัตตาคารที่คนจีนต้องการ ไม่พร้อมจะเปิดขายแฟรนไชส์ เช่น S&P หรือ MKสุกี้ เป็นต้น หรือแฟรนไชส์ร้านอาหารไทย ซึ่งยังไม่มีแบรนด์แฟรนไชส์ร้านอาหารไทยที่ได้มาตรฐาน และมีศักยภาพเพียงพอ เปิดตลาดต่างประเทศ ทั้งที่มีร้านอาหารหรือ ภัตตาคาร ที่มีศักยภาพหลายร้านในประเทศไทย แต่ส่วนใหญ่ไม่สนใจทำแฟรนไชส์ เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้แฟรนไชส์ไทย ไม่ได้มีโอกาสไปเปิดตลาดในต่างประเทศเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดแฟรนไชส์ไทยที่ไปเปิดตลาดในต่างประเทศ ในปี 2562 ถือว่าเป็นปีหนึ่งที่ แฟรนไชส์ไทยได้เปิดตลาดในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า กัมพูชา ลาว หรือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เพราะอย่างประเทศเพื่อนบ้าน พม่า กัมพูชา หรือ ลาว มีลักษณะความเป็นอยู่ การกิน การใช้ชีวิต คล้ายกับ ภาคอีสานของไทย ก็จะชื่นชอบที่จะซื้อแฟรนไชส์ จากประเทศไทยไปเปิดเป็นจำนวนมาก เช่น แฟรนไชส์พิซซ่า ร้านสเต็ก ร้านบะหมี่ อย่างแบรนด์ชายสี่หมี่เกี้ยว มีสาขาในต่างประเทศจำนวนมาก ร้านขนมปังจ้าวดังแถวเยาวราชก็ได้เปิดแฟรนไชส์ในประเทศเพื่อนบ้าน และมีอีกหลายแบรนด์ที่ได้ขยายสาขาแฟรนไชส์ในประเทศเพื่อนบ้าน
ทางสมาคมแฟรนไชส์ และไลเซนส์ (FLA) ได้ทำการรวบรวมข้อมูลแบรนด์แฟรนไชส์ไทยที่ขยายสาขาไปต่างประเทศในปี 2562 ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า มีแบรนด์แฟรนไชส์ที่ไปต่างประเทศ แล้วจำนวน 49 แบรนด์ โดยมูลค่าตลาดของแบรนด์แฟรนไชส์ไทยที่ขยายไปต่างประเทศประมาณ 12,000 ล้านบาท
สำหรับแบรนด์แฟรนไชส์ไทย ที่มีการขยายสาขาไปต่างประเทศ ประกอบด้วย แฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่ม 33 แบรนด์ แฟรนไชส์ การศึกษา 7 แบรนด์ คาร์แคร์ 2 แบรนด์ ความงามและสปา 4 แบรนด์ และอื่นๆ 3 แบรนด์
แผนส่งเสริมแฟรนไชส์ของ กระทรวงพาณิชย์
กระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินการพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการธุรกิจให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยแฟรนไชส์ที่เข้าร่วมโครงการ จะมีผู้เชี่ยวชาญประเมิน วิเคราะห์ จุดอ่อน จุดแข็ง ของแต่ละธุรกิจ ที่สำคัญยังมีการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก ณ สถานประกอบการ เป็นรายธุรกิจ และเสริมในเรื่องการศึกษาดูงานธุรกิจที่เป็นต้นแบบที่ดี ส่วนการผลักดันธุรกิจแฟรนไชส์เพื่อขยายไปยังต่างประเทศ ได้มอบกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดำเนินการ เช่น การนำธุรกิจแฟรนไชส์ เข้าร่วมงาน Top Thai Brands หรือ Mini Thailand Week ในต่างประเทศ
ปัจจุบัน มีธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการพัฒนาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จำนวน 2,734 ราย โดยมีธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการ (Franchise Standard) จำนวน 273 ราย แบ่งตามประเภทธุรกิจ ดังนี้ ธุรกิจอาหาร จำนวน 118 ราย ธุรกิจเครื่องดื่ม จำนวน 58 ราย ธุรกิจการศึกษา จำนวน 39 ราย ธุรกิจบริการ จำนวน 30 ราย ธุรกิจความงามและสปา จำนวน 14 ราย และธุรกิจค้าปลีก จำนวน 14 ราย
ภาพรวมแฟรนไชส์ไทย ในปี 2562
สำหรับ 10 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนธุรกิจแฟรนไชส์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 20% ในปี 2562 มีมูลค่าตลาดของธุรกิจแฟรนไชส์อยู่ที่ประมาณกว่า 2.5 แสนล้านบาท โดยแฟรนไชส์ธุรกิจอาหารมีสัดส่วนการลงทุนหรือเปิดกิจการมากที่สุด ทั้งแบรนด์แฟรนไชส์ไทยและต่างชาติ และยังมี แฟรนไชส์ธุรกิจบริการ ธุรกิจด้านการศึกษา ธุรกิจเบเกอรี่ และเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีการเติบโตสูงเช่นกัน
ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2562 ผู้ประกอบการแบรนด์แฟรนไชส์ตลาดบน มีความพยายามนำธุรกิจแฟรนไชส์ไปเปิดตลาดในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ขณะที่แบรนด์แฟรนไชส์ขนาดกลาง ที่มีจำนวนสาขา 20-30 สาขา จะให้ความสำคัญกับการมองหาทำเล และให้ความสำคัญกับการพันธมิตรทางธุรกิจมากกว่าการมองตลาดต่างประเทศ ส่วนแบรนด์แฟรนไชส์รายเล็ก ที่มีการลงทุนต่ำตั้งแต่หลักพัน ไปจนถึงหลักหมื่น ในปี 2562 เห็นการเปลี่ยนแปลงของแฟรนไชส์ในกลุ่มนี้ค่อนข้างเยอะ โดยจะเห็นการเข้าและออกจากระบบมากเป็นพิเศษ เพราะผู้ประกอบการบางรายเห็นคนอื่นทำแฟรนไชส์แล้วประสบความสำเร็จ เกิดการลอกเลียนแบบ แต่พอเข้ามาทำจริงๆ กลับไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องออกจากระบบ
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ จะยังคงเติบโตได้ในปี 2563 ไม่ต่ำกว่า 10% ไม่ว่าเศรษฐกิจเป็นเช่นไร เพราะจำนวนคนที่ต้องการออกมาเป็นนายของตัวเอง หรือเป็นเจ้าของกิจการเล็ก มีมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ หรือ คนที่ต้องเผชิญภาวะตกงาน การเลือกทำธุรกิจแฟรนไชส์จะเป็นทางเลือก เพราะเชื่อว่าการลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์มีประโยชน์ เพราะไม่ต้องเสียเวลาสร้างธุรกิจขึ้นมาเอง
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager