xs
xsm
sm
md
lg

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จำลอง สร้างอาชีพกลุ่มเยาวชนต่อเรือ อยุธยา ทำรายได้หลักแสนบาทต่อเดือน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่ประชาชนคนไทย และคนทั่วโลกจะได้เห็นริ้วขบวนเรืออันวิจิตรตระการตา โดยเรือสำคัญในขบวนพยุหยาตราชลมารค คือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ซึ่งเป็นเรือที่ถูกนำมาจำลองเป็นของตกแต่ง ประดับสถานที่และมอบเป็นของที่ระลึกในโอกาสสำคัญมากมาย


ช่างต่อเรือจำลอง กลุ่มเยาวชนต่อเรือ สุดยอดโอทอประดับประเทศ

สำหรับช่างต่อเรือจำลอง ชื่อว่า “นายพิพัฒน์ รื่นสาด” กลุ่มเยาวชนต่อเรือจำลอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถือว่าเป็นช่างต่อเรือจำลอง ซึ่งเป็นรู้จักในกลุ่มผู้จัดจำหน่ายเรือจำลอง เพราะด้วยประสบการณ์ ที่ทำมากว่า 17 ปี กับการเป็นช่างต่อเรือจำลอง และช่างต่อเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และเรือพระราชพิธีสำคัญ ทั้ง 4 แบบ ซึ่งการันตีฝีมือได้จากการรับเลือกให้เป็นสุดยอดโอทอประดับประเทศ และผลงานเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จำลอง ของ “นายพิพัฒน์” ยังได้รับเลือกให้โชว์ในกลุ่มไฮไลท์ ในงานสุดยอดโอทอป ปลายปีนี้ (2562) ด้วย


นายพิพัฒน์ เล่าว่า ได้ทำเรือจำลองมาตั้งแต่ปี 2545 โดยได้ไปเรียนต่อเรือจำลองที่ พิพิธภัณฑ์เรือไทย กับ “อาจารย์ไพฑูรย์ ขาวมาลา” ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้สอน วิชาออกแบบ เขียนแบบ และการต่อเรือมาตลอดชีวิตที่รับราชการ โรงเรียนช่างต่อเรือ ปัจจุบัน คือ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมต่อเรือ และที่ไปเรียนต่อเรือในครั้งนั้น เกิดขึ้นมาจากความชอบส่วนตัว ปกติตัวเองเป็นเด็กชอบงานประดิษฐ์ ซึ่งได้รู้จักพิพิธภัณฑ์เรือไทย และอาจารย์ไพฑูรย์ จากรายการโทรทัศน์ และได้ไปสมัครเรียน




ทำเรือสำเภา เพราะตลาดมีความต้องการสูง ตามความเชื่อ ว่า เรือสำเภาช่วยเสริมฮวงจุ้ยเรียกทรัพย์ และทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง โดยลูกค้าหลักของเรือสำเภา คือวัด โดยวัดจะมาสั่งเรือสำเภาและให้เราเขียนลายอักขระตามแบบของแต่ละวัด และทางวัดจะนำเรือสำเภาไปทำพิธีปลุกเสก อีกที่หนึ่ง ตอนนั้นเรียกว่ายอดขายถล่มทลายกันเลยทีเดียว สำหรับเรือสำเภาจำลอง



เริ่มจำลองเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ หลังจากฝึกฝีมือกว่า 5ปี

ทั้งนี้ เมื่อทำมาได้ประมาณสัก 5 ปี เริ่มทำเรือพระราชพิธี ซึ่งการทำเรือพระราชพิธีความยากอยู่ที่การแกะสลักลวดลาย ส่วนการทำโครงเรือไม่ยาก เพราะมีพื้นฐานเรือขุดที่ทำอยู่แล้ว เพียงแต่จะต้องขุดให้ยาวขึ้นมาอีก ตามขนาดอัตราย่อส่วนของเรือพระราชพิธี ซึ่งใช้อัตราส่วน 1 ต่อ 40 ส่วนงานแกะสลัก ได้ไปเรียนรู้เพิ่มเติมในตัวเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และด้วยพื้นฐานทำงานไม้ ต้องขุดต้องแกะอยู่แล้ว ทำให้การเรียนแกะสลักครั้งนี้ไม่ยาก ใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์สามารถแกะสลัก รายละเอียดของเรือพระราชพิธีได้ ทั้ง 4 แบบ






โดยเรือพระราชพิธี ที่ “นายพิพัฒน์” ทำประกอบไปด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายทรงสุบรรณ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ซึ่งการจำลองในครั้งนี้ จะย่อส่วนเก็บรายละเอียดที่เหมือนจริงให้ได้มากที่สุด รวมถึงฝีพายก็เป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่เราไม่ถนัด เดิมใช้งานปั้นดิน ผลิตภัณฑ์เด่นของอยุธยา แต่ปัญหางานปั้นดินคือ แตกหักได้ง่าย ในระหว่างการจัดส่ง จึงได้เปลี่ยนมาเป็นงานหล่อเรซิน ซึ่งมองว่าดูไม่สมราคา ก็เลยเปลี่ยนมาใช้เป็นงานหล่อจากทองเหลือง


ส่วนไม้ที่นำมาใช้ต่อเรือจำลองในครั้งนี้ เลือกใช้ไม้สักทอง ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เพราะเนื้อไม้จะเหนียวเวลานำมาทำงานไม่เสียหาย และได้เนื้อไม้ที่สวยงาม และข้อดีของไม้สักมีคุณสมบัติเนื้อไม้ไม่แข็งมาก เหมือนไม้เนื้อแข็งประเภทอื่นๆ ทำให้การทำงานง่ายขึ้น และไม้สักยังมีความคงทน น้ำหนักเบา เลือกใช้ไม้สักทองมาตลอด และปัจจุบันมีสวนป่า ที่สามารถปลูกไม้สักตัดออกมาจำหน่ายได้ ทำให้หาไม้ได้ไม่ยาก






รับผลิต ส่งดีลเลอร์ไปขายต่อสถานที่ท่องเที่ยวทั่วประเทศ

นายพิพัฒน์ กล่าวถึงช่องทางการจัดจำหน่ายเรือจำลอง ว่า เริ่มจากการมีหน้าร้านที่ศูนย์การค้าเจ เจ มอลล์ ที่สวนจตุจักร และการทำตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่ง และเมื่อช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้หันมาเป็นผู้ผลิตอย่างเต็มตัว โดยได้เซ้งร้านให้กับลูกค้ารายหนึ่ง และทำส่งอย่างเดียว และนอกจากส่งให้ดีลเลอร์รับไปกระจายสินค้าต่อ และยังทำส่งให้ร้านขายของที่ระลึกในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย ส่วนของลูกค้าที่ซื้อเรือสำเภาเองลดน้อยลง แต่เรือพื้นบ้านกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้นจากนักท่องเที่ยว เพราะสินค้าเรือจำลองพื้นบ้านได้ลงขายในนิตยสารไทยสมายด์ บนเครื่องการบินไทย ด้วยเหตุนี้ ทำให้เราได้ลูกค้าต่างชาติมากขึ้นด้วย

สำหรับเรือพระราชพิธี ลูกค้ากลุ่มนี้ จะเป็นสถานที่ต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ โรงแรม โรงเรียน และบ้านที่อยู่อาศัย โดยส่วนของเรือพระราชพิธี ต้องใช้เวลาในการทำลำหนึ่งเป็นเดือน และหลายเดือน ดังนั้นลูกค้าจะต้องสั่งล่วงหน้า ยกเว้นขนาด 60 เซนติเมตร ราคา 9,000 บาท ทำวางขายหน้าร้าน ส่วนขนาด 1.20 เมตร ราคา 35,000 บาท ขนาด 2 เมตร ราคา 80,000 บาท และขนาด 2.50 เมตร ราคา 150,000 บาท ลำใหญ่ที่สุดที่เคยทำขนาด 3 เมตร ราคา 200,000 บาท ทั้งหมดนี้ลูกค้าต้องสั่งล่วงหน้า







ทั้งนี้ ในส่วนของการทำเรือ แต่ละลำมีรายละเอียดหลายชิ้นมาประกอบ ที่ผ่านมา “นายพิพัฒน์”ได้เปิดสอนให้กับเยาวชนที่สนใจ และสอนให้กับชาวบ้านในชุมชน และพอมีงานเข้ามา เขาก็จะกระจายงานให้กับชุมชน และเยาวชนลูกศิษย์ที่ได้สอนไป ช่วยสร้างอาชีพให้กับเยาชน และชาวบ้านในชุมชนด้วย และในช่วงที่มีงานจัดงานการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมาร์ค เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 มีออเดอร์จากโรงเรียน หลายแห่งที่มาสั่งเพื่อนำไปจัดนิทรรศการในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย


พอถามถึงรายได้ “นายพิพัฒน์” บอกว่า เดือนหนึ่งมีรายได้ประมาณหลักแสนบาท ประมาณ 2-3 แสนบาท และลูกค้าจะมาจากการที่ได้ไปออกงานจะมีลูกค้าตามมา และการส่งให้กับดีลเลอร์นำไปกระจายส่งตามสถานที่ท่องเที่ยว ขายเป็นของที่ระลึก ในอนาคตมีแผนที่จะทำเรือพระที่นั่งให้มีขนาดเล็ก เพื่อให้ลูกค้าทั่วไปซื้อไปประดับตกแต่งบ้านได้ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจกับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และเรือพระที่นั่งในแบบอื่นๆ








ประวัติ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์



สำหรับประวัติ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ มีชื่อกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาต้นรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราวปี พ.ศ. 2091 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า “สุวรรณหงส์” ในหนังสือตำนานเรือรบไทยพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงกล่าวไว้ว่า เรือศรีสุพรรณหงส์สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน เป็นเรือพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ต่อขึ้นใหม่เพราะเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ลำเดิมผุพังเกินที่จะซ่อมได้ แต่มาเสร็จสมบูรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนชื่อเป็นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ มีพลตรีพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นนายช่าง ประกอบพิธีลงน้ำ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 จัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง มักใช้เป็นเรือพระที่นั่งทรงของพระเจ้าอยู่หัว โขนเรือเป็นรูปหงส์ ลงรักปิดทองประดับกระจก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือภายในทาสีแดง ความยาวของเรือ 44.9 เมตร ความกว้างของเรือ 3.14 เมตร ความ ลึกของเรือ 0.9 เมตร กินน้ำลึก 0.41 เมตร ฝีพาย 50 นาย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย








เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จำลอง ตัวเรือเรือสุพรรณหงส์จำลอง มีขนาด 120 เซนติเมตร ในการประดิษฐ์นั้นจะขึ้นแบบจากชิ้นไม้ เกลาให้เป็นตัวเรือสุพรรณหงส์แล้วจึงขุดและตกแต่ง แกะสลักลวดลายลงบนตัวเรือ รองพื้นด้วยแชล็ค ขัดตกแต่งให้เรียบ ลงลักปิดทอง ทาสีท้องเรือด้วยสีดำ พื้นเรือทาสีแดง ส่วนประกอบของเรือ กัญญาเรือ ฉัตร ประดิษฐ์จากไม้สัก ตกแต่งด้วยผ้ายกทอง


โทรศัพท์ 08-6099-7781













* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *



กำลังโหลดความคิดเห็น