xs
xsm
sm
md
lg

หญ้าหวาน HAPe Stevia ประกาศปฏิวัติอุตฯอาหาร แชร์ส่วนแบ่งตลาดน้ำตาล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





“หญ้าหวาน” สารสกัดจากธรรมชาติที่สามารถทดแทนความหวานเทียบเท่าน้ำตาล กลายเป็นตัวแปรสำคัญ ที่อาจจะกระทบกับตลาดน้ำตาลในอนาคต หลังจาก มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประสบความสำเร็จในการผลิตหญ้าหวาน ที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มร้านอาหาร โดยที่ไม่ทำให้รสชาติความหวานของอาหารเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเทียบกับการใช้ความหวานน้ำตาล




ทำไมคนไทย ต้องหันมาใช้หญ้าหวานแทนน้ำตาล

สำหรับตลาดหญ้าหวานในประเทศไทย ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมาคนไทยไม่ได้ความสำคัญ กับการดูแลสุขภาพเท่าทีควร จนกระทั่ง วันนี้ พบว่า คนไทยมีปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะ คนไทยป่วยเป็นโรค NCDs (Non communicable Diseases) โรคไม่ติดต่อร้ายแรง อย่าง เบาหวาน ความดันและไขมัน เพิ่มมากขึ้น ถึง 14 ล้านคนทั่วประเทศ หรือ เกือบ 20% ของประชากรชาวไทย และอัตราการเสียชีวิต สูงถึงประมาณ 300,000 คนต่อปี

ด้วยเหตุนี้ คนไทยเริ่มหันมาสนใจสุขภาพ โดยเฉพาะความรู้เรื่องการรับประทานอาหารมากขึ้น และ หญ้าหวานก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่คนไทยหันมาเลือกบริโภค เพื่อดูแลสุขภาพให้ปราศจากโรค NCDs และเป็นช่องว่างทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ ที่สนใจตลาดอาหารเพื่อสุขภาพให้ลงมาเล่นในตลาดนี้ อย่าง หญ้าหวาน แบรนด์ HAPe Stevia ของ “นายธัญยธรณ์ โสดากุล” หนุ่มไฟแรงจากบริษัท บุญถึง จำกัด

“นายธัญยธรณ์ โสดากุล” หนุ่มไฟแรงจากบริษัท บุญถึง จำกัด

มารู้จัก หญ้าหวาน พืชสมุนไพรทดแทนน้ำตาล


ก่อนอื่นมาทำรู้จักหญ้าหวาน กันก่อน สำหรับหญ้าหวาน ชื่อสามัญ Stevia (สตีเวีย) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE) เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศบราซิลและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศปารากวัยในทวีปอเมริกาใต้ เรียกว่าหญ้าหวาน เพราะว่าในส่วนของใบหญ้าหวาน นั้นมีความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 10-15 เท่า แต่เป็นความหวานที่ไม่ก่อให้เกิดพลังงาน และที่สำคัญก็คือสารสกัดที่ได้จากหญ้าหวานที่มีชื่อว่า สตีวิโอไซด์ (Stevioside) นั้นเป็นสารที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 200-300 เท่า

และด้วยคุณสมบัติพิเศษ หญ้าหวานจึงเป็นพืชที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้รักสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยได้มีการนำไปใช้ในด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างเครื่องดื่ม ยาสมุนไพร และด้านการแพทย์ ซึ่งแน่นอนว่าชาวพื้นเมืองในประเทศปารากวัยก็รู้จักนำหญ้าหวานมาสกัดเพื่อใช้ในการบริโภคหลายศตวรรษแล้ว โดยนำมาใช้ผสมในเครื่องดื่ม ชงกับชา ฯลฯ และสำหรับต่างประเทศ อย่างประเทศญี่ปุ่นก็ได้มีการใช้สารสกัดดังกล่าวมานานมากเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว โดยนำไปใช้ผสมกับผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ เช่น เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว ผักดอง เนื้อปลาบด เป็นต้น




สำหรับในประเทศไทย หญ้าหวานได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในภายหลัง และได้มีการนำเข้ามาปลูกในช่วงปี พ.ศ.2518 โดยได้มีการนำมาเพาะปลูกในภาคเหนือ ซึ่งจะเพาะปลูกกันมากในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และลำพูน เนื่องจากพืชนิดนี้จะชอบอากาศที่ค่อนข้างเย็น ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิประมาณ 20-26 องศาเซลเซียส และพืชชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดีเมื่อเพาะปลูกในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 600-700 เมตร

ทั้งนี้ ในปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ได้มีการขึ้นทะเบียนให้สามารถใช้สารสตีวิโอไซด์ ซึ่งมาจากหญ้าหวาน เพื่อการบริโภคแทนน้ำตาลได้ เพราะมีความปลอดภัยสูง มีพิษเฉียบพลันต่ำ ไม่เป็นอันตรายหรือมีผลข้างเคียงใด ๆ และที่สำคัญหญ้าหวานยังจัดให้อยู่ในหมวดพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งอีกด้วย โดยฤทธิ์ในการออกรสหวานของสารสตีวิโอไซด์จะไม่เหมือนกับน้ำตาลซะทีเดียว เนื่องจากสารสตีวิโอไซด์จะออกรสหวานช้ากว่าน้ำตาลทรายเล็กน้อย และรสหวานของสารสตีวิโอไซด์จะจางหายไปช้ากว่าน้ำตาลทราย นอกจากนี้สารดังกล่าวยังเป็นสารที่ไม่มีคุณค่าทางอาหารแต่อย่างใด เพราะมีแคลอรีต่ำมากหรือไม่มีเลย และจะไม่ถูกย่อยให้เกิดเป็นพลังงานกับร่างกาย แต่จากข้อด้อยตรงนี้นี่เองก็ถือเป็นจุดเด่นที่เหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิต โรคอ้วน และโรคหัวใจ





เปิดตัวหญ้าหวาน ของ HAPe Stevia หวังปฏิวัติอุตฯอาหาร

นายธัญยธรณ์ โสดากุล เจ้าของสารสกัดหญ้าหวานแบรนด์ HAPe Stevia กล่าวว่า การมาทำธุรกิจหญ้าหวาน ครั้งนี้ มาจากมองเห็นการเติบโตของเทรนด์อาหารสุขภาพกำลังมา ดังนั้น การเลือกทำอะไรเกี่ยวกับสุขภาพ น่าจะได้รับการตอบรับได้ไม่ยากในช่วงนี้ และความตั้งใจส่วนหนึ่งของผม คือ อยากจะทำให้อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคNCDs โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคเบาหวาน ในหมู่คนไทย มีอัตราการเสียชีวิตที่ลดลง จากในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น จากร้านอาหารและของหวานที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย โดยข้อมูลล่าสุดนั้นอัตราการเสียชีวิต จากโรคเบาหวานของคนไทยสูงถึง 12,000 คนต่อปี ซึ่งภายใน 5 ปีนี้ ทาง HAPe และพันธมิตรร้านอาหารและร้านค้า หวังว่าอัตราการป่วยเป็นโรคเบาหวานของ คนไทย ในปี 2567 จะลดเหลือเพียง 10,000คนต่อปี

ทั้งนี้ กว่าจะมาเป็น HAPe Stevia “ธัญยธรณ์” บอกว่า ใช้เวลากว่า 1 ปีในการศึกษาและหาวิธีการทำอย่างไรให้หญ้าหวาน เมื่อนำมาทดแทนความหวานจากน้ำตาล และไม่ทำให้รสชาติของอาหารเปลี่ยน หรือ มีความเฝือน อย่างที่หลายคนกลัว จนได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์หญ้าหวาน 4 รสชาติ ได้แก่ กลิ่นธรรมชาติ เลมอน คาราเมล และชอกโกแลต ซึ่งแต่ละรสชาติเหมาะกับอาหารแตกต่างกัน เช่น หญ้าหวานกลิ่นคาราเมล ต้องการนำเจาะตลาดร้านชานมไข่มุก ส่วนกลิ่นเลมอน เหมาะกับร้านอาหารซีฟูด หรือ ชอกโกแลต เหมาะกับการนำไปชงเครื่องดื่มให้กับเด็ก เป็นต้น โดย หญ้าหวาน 6 หยด เทียบเท่าน้ำตาล2ช้อนชา หรือสามารถลดแคลอรี่จากการเปลี่ยนมาบริโภค หญ้าหวานแทนน้ำตาล ได้ถึง 60กิโลแคลอรี่





แผนการตลาดของ HAPe Stevia เจาะร้านอาหารทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ในส่วนของแผนการตลาด ได้เจาะกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมอาหาร เริ่มจากร้านที่มีชื่อเสียงจากทั่วประเทศ 100 ร้านค้า ให้นำหญ้าหวานไปใช้แทนน้ำตาล ซึ่งร้านเหล่านั้นจะเลือกปรุงรสด้วยหญ้าหวานในเมนูอาหารของทางร้าน และนำมาเป็นจุดขาย เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้า ที่ต้องการรักษาสุขภาพ เช่น เจ้คิวปูม้านึ่ง ดิลิเวอรี่ ร้านส้มตำมัมน้อยของ “น้อย โพธิ์งาม” ร้านคำพูน อาหารอีสาน ร้านกินข้าว ร้านคุณทอง 2020 ร้านขนมเบื้องปริ่มหวาน เป็นต้น ซึ่งตั้งเป้าว่า จะมีร้านอาหารที่ให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น โดยภายในปี 2563 จะมีร้านเลือกใช้หญ้าหวานของ HAPe Stevia เพิ่มเป็น 300 ร้านค้า โดยร้านที่เลือกใช้หญ้าหวานแบรนด์ HAPe Stevia ทางบริษัทจะมีการประชาสัมพันธ์ ให้ผ่านทาง www.hapeofficial.com LINE @HAPe

นอกจากร้านอาหารที่จะนำผลิตภัณฑ์หญ้าหวาน HAPe Stevia ไปใช้แทนน้ำตาลแล้ว ทางบริษัทฯก็ยังมีแผนที่นำไปวางขายในช่องทางอื่นๆ เช่น โมเดิร์นเทรด เพื่อให้ผู้บริโภคที่ต้องการใช้หญ้าหวานแทนน้ำตาลได้หาซื้อได้ง่ายขึ้น หรือ ในเบื้องต้นเจาะกลุ่มลูกค้าออนไลน์ อย่างมาร์เก็ตเพลสต่าง ๆ เช่น การสั่งทางออนไลน์ผ่าน LINE @hape, Shopee และ Lazada ส่วนแผนการบุกตลาดหญ้าหวานของ HAPe Stevia เตรียมใช้งบประชาสัมพันธ์ 20 ล้านบาท ผ่านทุกช่องทางสื่อ






ไม่คาดหวังแข่ง กับ ตลาดน้ำตาล


อย่างไรก็ตาม การเปิดตลาดหญ้า ในครั้งนี้ “ธัญยธรณ์” บอกว่า ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องลงไปแชร์ตลาดน้ำตาล เพราะกลุ่มที่หันมาบริโภคหญ้าหวาน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ป่วย หรือ มีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ป่วยเบาหวาน และด้วยราคาของผลิตภัณฑ์จากหญ้าหวานเอง ก็ยังสูงกว่าน้ำตาลอยู่ ซึ่งในอนาคตมีความเป็นไปได้ถ้ามีการบริโภคหญ้าหวานมากขึ้น ทำให้ราคาลดลงมาเล่นในตลาดน้ำตาลได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ รสชาติที่ต้องบอกว่าบางเมนู การใช้หญ้าหวานก็ยังไม่ได้รสชาติที่คุ้นลิ้น เป็นหลายเหตุผลที่ต้องมีการพัฒนาสารสกัดจากหญ้าหวานให้สามารถนำมาทำอาหารได้รสชาติ ที่ทดแทนน้ำตาลได้ในทุกเมนู

สำหรับการแข่งขันในตลาดหญ้าหวาน สารสกัดจากวัตถุดิบธรรมชาติน้ำตาล 0% ในขณะนี้ การแข่งขันอาจจะยังไม่สูง เพราะมีคนที่ทำตรงนี้ ยังไม่มาก เพราะเป็นตลาดที่ค่อนข้างนิชมาร์เก็ต แต่ในอนาคต เมื่อคนไทยหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดผู้สูงอายุที่จะมีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้สินค้าในกลุ่มหญ้าหวานมีการเติบโตมากขึ้น โดยทางหญ้าหวาน HAPe Stevia ตั้งเป้าจะขอแชร์ส่วนแบ่งการตลาดน้ำตาลไว้เพียง 2% และถ้าเป็นไปได้ภายใน 10 ปี ตั้งเป้าไว้ว่าจะขอเข้าไปแชร์ตลาดน้ำตาลให้ได้ 10%





การผลิตหญ้าหวาน สารสกัดจากวัตถุดิบธรรมชาติ ของ HAPe Stevia ได้ว่าจ้างโรงงานที่เป็นพาสเนอร์เป็นผู้ดูแลการผลิตให้ ส่วนของร้านอาหารที่หันมาใช้ความหวานจากหญ้าหวานแทนน้ำตาล ทั้ง 100 ร้านค้าที่เป็นพันธมิตรของเราขณะนี้ ก็จะใช้หญ้าหวานเพียงบางเมนู เท่านั้น ซึ่งหลังจากที่ร้านอาหารหลายๆ ร้านเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับเราก็ได้รับการตอบรับที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่ต้องการอาหารลดน้ำหนัก หรือ ผู้ป่วยเบาหวาน

ทั้งนี้ ข้อดีอีกอย่างหนึ่ง ที่ร้านอาหารกล้าตัดสินใจใช้หญ้าหวานของเรา เพราะการเลือกใช้หญ้าหวานแทนน้ำตาล ไม่ได้ส่งผลให้ต้นทุนอาหารเพิ่มขึ้น เพราะการใช้หญ้าหวานเพียง 1หยด ทดแทนการใช้น้ำตาล 1 กรัม ดังนั้น ต้นทุนจะถูกกว่าการใช้น้ำตาลถึง 10-20%




ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ในการบุกตลาดหญ้าหวานของ HAPe Stevia ไม่ได้ประสบความสำเร็จเสียทีเดียว เพราะมีร้านอาหาร และเครื่องดื่ม สนใจที่จะใช้หญ้าหวานแค่ส่วนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ยังคงไม่ตอบรับที่จะใช้ เพราะไม่มั่นใจในรสชาติว่า อาหารที่ใช้หญ้าหวาน แทนน้ำตาล จะได้รสชาติอย่างที่ต้องการ หรือ ตอบโจทย์รสชาติอาหารของลูกค้าหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ อาจจะต้องใช้เวลา แต่ถ้าผู้บริโภคมีความต้องการ เชื่อว่า ทำให้ร้านอาหารสนใจที่จะใช้หญ้าหวานเพิ่มมากขึ้นในอนาคต


สนใจติดต่อ LINE @hape





* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *



กำลังโหลดความคิดเห็น