xs
xsm
sm
md
lg

“ฟู้ดแทร็คเกอร์” ชูผลวิจัยเชิงลึกมาร์เก็ตบัซซ พบอาหารญี่ปุ่น-ไก่ทอดครองใจผู้บริโภคคนไทยสูงถึง 60%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รูปจากซ้าย: แกรนท์ บาร์โทลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมาร์เก็ตบัซซ, มาร์เติน คัลเลนเบิร์ก และจิม ฟราลิค  ผู้ร่วมก่อตั้ง ฟู้ด แทร็คเกอร์
ผลสำรวจประจำเดือนของ ฟู้ด แทร็คเกอร์ จากผู้บริโภคคนไทยที่นิยมกินอาหารจานด่วนและอาหารจานเดียวที่ร้านอาหารเป็นประจำ พบว่าในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมามีจำนวนผู้บริโภคที่นิยมรับประทานอาหารญี่ปุ่นเป็นประจำสูงถึง 60% จากผู้บริโภคที่ทำการสำรวจจำนวน 3,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับผู้บริโภคที่นิยมรับประทานไก่ทอด และได้รับความนิยมสูงกว่าพิซซาและแฮมเบอร์เกอร์อีกด้วย

"จิม ฟราลิค" หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ฟู้ด แทร็คเกอร์ ซึ่งอยู่ในแวดวงร้านอาหารในตลาดไทยมากกว่า 10 ปี กล่าวว่า “ร้านอาหารจานด่วนและร้านอาหารทั่วไปในไทยมีการเติบโตเป็นอย่างมาก ผู้บริโภคคนไทยชื่นชอบการกินอาหารญี่ปุ่นมากขึ้น ในขณะเดียวกันร้านอาหารญี่ปุ่นก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความนิยมอาหารญี่ปุ่นของคนไทยจึงเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา”

ทุกวันนี้ ด้วยความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทั้งในแง่ความต้องการของผู้บริโภค พฤติกรรมผู้บริโภค แม้แต่การแข่งขันที่สูงขึ้น ฟู้ด แทร็คเกอร์ และมาร์เก็ตบัซซ จึงได้ร่วมกันปรับเปลี่ยนวิธีการทำวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคให้ตรงความต้องการของอุตสาหกรรมค้าปลีกในไทยมากยิ่งขึ้น โดยฟู้ด แทร็คเกอร์ ได้ทำการวิจัยด้วยวิธีที่แตกต่างเพื่อเป็นโอกาสให้ร้านอาหารต่างๆ จากขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง สามารถติดตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคได้แบบไม่เคยมีมาก่อน

ฟู้ด แทร็คเกอร์ ได้ทำการวิจัยทางการตลาดในกลุ่มคนจำนวนมากทุกๆ เดือน โดยการใช้แพลตฟอร์มบนมือถือของมาร์เก็ตบัซซ และสามารถจัดหาข้อมูลรายงานผลวิจัยที่ตรงความต้องการของลูกค้าที่ทำกิจการค้าปลีกได้ จากการทำแบบสอบถามบนมือถือนี้เอง ฟู้ด แทร็คเกอร์สามารถวิเคราะห์ผลวิจัยเกี่ยวกับผู้บริโภคได้ในเวลาที่รวดเร็ว คุ้มค่าและประหยัดกว่าการสำรวจในรูปแบบอื่นๆ เช่น การสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว เป็นต้น

"มาร์เติน คัลเลนเบิร์ก" ผู้ร่วมก่อตั้งฟู้ด แทร็คเกอร์ กล่าวว่า “ทุกๆ เดือนเราจะทำแบบสอบถามบนมือถือเพื่อถามผู้บริโภค 3,000 คน เกี่ยวกับการใช้บริการและความรู้สึกที่มีต่อแบรนด์ที่ให้บริการร้านอาหารจานด่วนและร้านอาหารทั่วไป จำนวน 65 แบรนด์ และด้วยข้อมูลที่เราเก็บรวบรวมมาทั้งหมดนั้น เราสามารถที่จะทำรายงานที่เฉพาะเจาะจงเพื่อให้ตรงความต้องการของลูกค้าของเราได้ รวมถึงบางบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ลงทะเบียนใช้บริการ Tracking แบบรายเดือนกับเรา บริการของเราเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจร้านอาหารมากกว่า 10 แบรนด์ในประเทศไทย

"แกรนท์ บาร์โทลี่" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมาร์เก็ตบัซซ กล่าวว่า “สัดส่วนของผู้ใช้มือถือในประเทศไทยมีมากกว่า 60% และส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตชุมชนเมือง เราสามารถทำการวิจัยบนมือถือได้อย่างง่ายดาย เพราะแพลตฟอร์มมือถือช่วยให้เราเชื่อมต่อกับผู้บริโภคมากกว่า 12 ล้านคน และเมื่อผู้บริโภคตอบแบบสอบถามครบถ้วน พวกเขาจะสะสมคะแนนหรือรางวัล แพลตฟอร์มบนมือถือของมาร์เก็ตบัซซช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยเกี่ยวกับผู้บริโภค ทั้งยังมีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงอีกด้วย”

ปัจุจบัน ฟู้ด แทร็คเกอร์ได้มุ่งความสนใจไปที่อุตสาหกรรมอาหารจานด่วนและร้านอาหารทั่วไปในไทย และยังมีแผนที่จะนำเสนอบริการอื่นๆ ในอุตสาหกรรมนี้อีกด้วย และแม้ว่าฟู้ด แทร็คเกอร์ จะเน้นบริการทางการตลาดให้กับร้านอาหารที่ลูกค้านั่งกินที่ร้าน แต่ก็เริ่มมีการขยายตัวไปยังตลาดร้านอาหารประเภทดีลิเวอรีด้วยเช่นกัน ตลาดดีลิเวอรีในไทยมีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้ง Food Panda, Line Man และ Uber Eats ได้ประชัน แข่งขันกันอย่างดุเดือด และยังมีผู้เล่นต่างชาติอีกมากมายที่กำลังรอคอยจังหวะที่จะแทรกตัวเข้ามาในอุตสาหกรรมอาหาร และเพื่อให้ครอบคลุมตลาดในเซกเมนต์ดังกล่าว ฟู้ด แทร็คเกอร์ตั้งเป้าเตรียมฐานข้อมูลขนาดใหญ่ในส่วนของการดำเนินกิจการของร้านอาหารในไทยไว้เพื่อรองรับโดยเฉพาะ

มร.คัลเลนเบิร์ก ยังกล่าวต่ออีกว่า “เรารู้ว่าหลายๆ บริษัทไม่สามารถรองรับการทำวิจัยได้ด้วยตัวเอง และผลวิจัยที่ได้นั้นก็เป็นเรื่องทั่วไปหรือเป็นเพียงข้อมูลการตลาดทั่วไป ในขณะที่เราได้มีการทำวิจัยเดือนละครั้งและให้รายงานได้แบบเฉพาะเจาะจง มุ่งความสำคัญไปยังสิ่งที่ลูกค้าต้องการรู้จริงๆ เราสามารถจัดหาข้อมูลในเชิงลึกที่ดีกว่าให้ลูกค้าในราคาที่สมเหตุสมผล รวมถึงส่งมอบรายงานได้เร็วกว่าบริษัทอื่นๆ นี่ถือเป็นงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพ โดยกลุ่มลูกค้าของเราในขณะนี้เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมร้านอาหารชั้นนำ ซึ่งเรายังมีแผนที่จะขยายบริการไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น โรงแรม, ธนาคาร และสินค้าอุปโภคบริโภคอีกด้วย”


กำลังโหลดความคิดเห็น