xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรอินทรีย์ทำแสนง่าย! “ฟาร์มเพชรล้านนา” เกษตรกรแห่ขอความรู้เพิ่มรายได้มหาศาล (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมื่อผู้คนใส่ใจในอาหารการกินมากขึ้น ทุกอย่างต้องสะอาด ปลอดสารพิษ โดยเฉพาะพืชผักต่างๆ ต้องเป็นออร์แกนิก เกษตรกรต้องปรับตัวเพื่อความยั่งยืน ทำให้ “ฟาร์มเพชรล้านนา” อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ มีคนจากทั้งภาครัฐและเอกชนแวะเวียนไม่ขาดสาย รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรจากฟาร์มก็ได้รับการตอบรับดี ผลิตส่งขายในโมเดิร์นเทรดภาคเหนือยังไม่เพียงพอ หลังได้รับเงินทุนจาก SME Development Bank ช่วยสานฝันต่อยอดธุรกิจให้เป็นจริง

หนุ่มวิศวะไฟฟ้า เรียนต่อในระดับปริญญาโท “องอาจ ปัญญาชาติรักษ์” ผู้บริหารฟาร์มเกษตรอินทรีย์เพชรล้านนา ได้ผันตัวเองมาคลุกแผ่นดิน ทำให้แผ่นดินเป็นดินแดนที่บริสุทธิ์ปลอดสารพิษจากการทำเกษตรแบบผสมผสาน ทั้งปลูกผัก ทำสวน ปลูกข้าว ทำฟาร์มปศุสัตว์ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ แกะ ควาย ปลูกข้าวโพด ส้มโอ มะม่วง ฯลฯ บนเนื้อที่ 100 ไร่ นำผลผลิตจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดภาคเหนือ ซึ่งขณะนี้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

แต่ฟาร์มแห่งนี้เขาไม่ได้เป็นผู้บุกเบิก แต่เป็นทายาทธุรกิจที่รับไม้ต่อจากบิดาคือ “นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์” ที่เริ่มจากการทำสวนส้มโชกุนเจ้าแรกในภาคเหนือ และปลอดสารพิษด้วย เมื่อ 30 ปีที่แล้ว จากนั้นก็ขยายพื้นที่ทำเกษตรผสมผสาน เป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด รวมถึงการทำปศุสัตว์ ก็เลี้ยงปล่อยอิสระ ทำให้ผลผลิตที่ได้มีความปลอดภัย อย่าง ไข่ไก่ ก็ส่งขายให้ท็อปส์ นำไปติดแบรนด์ My Choice
องอาจ ปัญญาชาติรักษ์ ผู้บริหาร ฟาร์มเกษตรอินทรีย์เพชรล้านนา


“การที่ผมเข้ามาสานต่ออาชีพการทำฟาร์มอินทรีย์ต่อจากคุณพ่อที่ทำมานานประมาณ 30-40 ปี ผมอยากทำให้สำเร็จ และให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรไทยในการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะมีความยั่งยืน มีรายได้ที่มั่นคง และยังเป็นเทรนด์ที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ขณะที่วัตถุดิบในฟาร์มจะเป็นการหมุนเวียน คือ มูลสัตว์ก็นำมาทำเป็นปุ๋ย ปลูกข้าวโพดเพื่อมาเป็นอาหารสัตว์ ทำให้วัตถุดิบในฟาร์มกว่า 80% ถูกนำมาหมุนเวียน ไม่ทิ้งเป็นขยะ เป็นต้น”
ผลไม้ลดๆ จากฟาร์มเพชรล้านนา ปลอดสารเคมี
ส่วนผลผลิตอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพืชผลทางการเกษตรก็ส่งออกให้โมเดิร์นเทรด เช่น ผักปลอดสารพิษของชาวบ้าน ไข่ไก่ยิ้ม ส่งให้ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่มีผลผลิตประมาณ 5,000 ฟอง/สัปดาห์ รวมถึงยังจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ด้วย ซึ่งมียอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน
เฟอร์นิเจอร์จากไผ่
คุณองอาจยังเผยถึงข้อดีของการทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มเติมด้วยว่า ที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้พยายามทำให้ชาวบ้านและเกษตรกรเห็นว่าหากปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์จะได้อะไรบ้าง อย่าง สุขภาพจะดีขึ้น รายได้ที่เพิ่มขึ้น และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นก็จะมีฟื้นคืนสู่ธรรมชาติอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งถือเป็นเทรนด์การทำเกษตรที่ยั่งยืน และเชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ผลิตอาหารอินทรีย์อันดับ 1 ของโลก และเป็นครัวออร์แกนิกของโลกได้ไม่ยาก หากเกษตรกรไทยทำได้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
ผลผลิตทางการเกษตรปลอดสาร
“ในปีหนึ่งๆ จะมีเกษตรกรเข้ามาดูงานหลายพันคนอย่างต่อเนื่อง มาเรียนรู้ ฝึกฝน พร้อมปรับเปลี่ยนทัศนคติจากการทำเกษตรแบบใช้สารเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ มาดูว่าการทำเกษตรนอกเขตชลประทานทำได้อย่างไร การทำเกษตรในหน้าแล้งนั้นทำได้ เรียนรู้การทำเกษตรแบบผสมผสานที่ทำได้ไม่ยาก ซึ่งเกษตรกรที่เข้ามาเรียนรู้ไม่เพียงแต่จะได้รับองค์ความรู้กลับไปเท่านั้น แต่เรายังได้ความรู้จากเกษตรกรเหล่านี้ด้วย และนำมาปรับใช้ที่ฟาร์มเช่นกัน”
ไข่ไก่ยิ้ม ส่งขายที่ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต
นอกจากนี้ “ฟาร์มเกษตรอินทรีย์เพชรล้านนา” ยังได้สนับสนุนเรื่องการปลูกไผ่ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคต เพราะสามารถนำมาแปรรูปและเพิ่มมูลค่าได้ด้วยการนำไปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ ลำโพงจากไผ่ไม่ใช้ไฟฟ้า ไม่ต้องเสียบปลั๊ก พกพาง่าย หรือนำไปทำเป็นถ่านหุงต้ม และเร็วๆ นี้คุณองอาจเตรียมนำไผ่ไปทำเป็นพื้นปาร์เกต์ เนื่องจากไผ่มีความแข็งแรงมาก

มาวันนี้ฟาร์มเกษตรอินทรีย์เพชรล้านนาจะเติบโตไม่ได้เลยหากไม่ได้รับการสนับสนุนในเรื่องเงินทุนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Development Bank ในการต่อยอดธุรกิจ โดยเฉพาะการแปรรูปไผ่เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง โดยขอสินเชื่อ 1 ล้านบาท ดอกเบี้ยเพียง 1% เท่านั้น พร้อมทั้งยังได้รับคำแนะนำ และองค์ความรู้ต่างๆ นำมาปรับใช้ในการต่อยอดธุรกิจอีกด้วย
เนื้อไก่สดปลอดสารเร่งฮอร์โมน
ติดต่อFacebook : ฟาร์มเกษตรอินทรีย์เพชรล้านนา , pethlanna.organic.farm
โทร 08-5489-9916
E-mail : pethlanna.farm@hotmail.com
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *




กำลังโหลดความคิดเห็น