กาฬสินธุ์ - รอง ผอ.รพ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ น้อมนำเกษตรทฤษฏีใหม่ ใช้ชีวิตพอเพียงเป็นต้นแบบให้แก่ผู้ป่วย คนไข้ และคนในชุมชน เผยความสุขจากการทำเกษตรนอกเวลาราชการคือกำไรชีวิต สุขใจมากกว่ารายได้ กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กินได้ ปรับบทบาทใหม่เป็นทั้งหมอ และเกษตรกรควบคู่กันไป พร้อมทำแปลงสาธิตถ่ายทอดองค์ความรู้ตามรอยพ่อหลวงรัชกาลที่ ๙ ให้ชาวบ้านได้ศึกษา
ที่บ้านสวนวิลาวรรณ บ้านสะอาดสมศรี ต.นาจารย์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ผู้สื่อข่าวเดินทางไปพบนายลอน มุงคุณ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลดอนจาน อ.ดอนจาน ซึ่งกำลังเก็บผลผลิตพืชผักอยู่ในสวนหลังบ้าน เพื่อเตรียมนำส่งบรรดาแม่ค้าที่สั่งซื้อเข้ามา โดยเฉพาะผักหวานป่า กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีพืช และไม้ผลอีกหลายอย่างที่ปลูกมานานกว่า 5 ปี บนเนื้อที่ 9 ไร่
นายลอน มุงคุณ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลดอนจาน อ.ดอนจาน กล่าวว่า ตนรับราชการมานานถึง 27 ปีแล้ว ทำงานอยู่โรงพยาบาล ได้เห็นคนเจ็บ คนป่วยมากมายหลายโรค หลายอาการ โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง โรคร้ายแรงที่ส่วนใหญ่เป็นผลพวงมาจากพฤติกรรมของการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการยืน นั่ง นอน และการรับประทานอาหาร แรกๆ ยังมองเป็นเรื่องไกลตัว กระทั่งพ่อ และภรรยาป่วยพร้อมกัน
จนกระทั่งพ่อเสียชีวิตลง แม้ว่าเป็นข้าราชการมีเงินเดือน แต่ยังมีค่ารักษาดูแลอีกหลายอย่าง ต้องกู้ยืมเงินในระบบมาจุนเจือครอบครัว และระหว่างที่เฝ้าภรรยาในโรงพยาบาล ได้ติดตามชมสารคดีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ จึงได้ย้อนกลับมาดูตัวเอง คิดทบทวนชิวิตต่างๆนาๆ
โดยมองว่า เราก็ลูกเกษตรกร เรามีที่นา ที่สวน และเรายังพอมีเวลา จึงเริ่มวางแผนการใช้ชีวิตใหม่ด้วยการเริ่มลงมือทำเกษตรตามแนวทางพ่อหลวง จากการหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต และไปที่สวนปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ขอความรู้มาปรับใช้ในสวนของตัวเอง รวมถึงการเข้ารับการอบรม “หลุมพอเพียง” กับพระอาจารย์พระมหาสุภาพ วัดป่านาคำ ต.จุมจัง อ.กุฉินารายณ์
ขณะเดียวกัน ภรรยาได้หาทางบำบัดตัวเองแบบธรรมชาติ จากที่นั่งนานๆ ตลอดทั้งวันเป็นผลทำให้กระดูกกดทับเส้นประสาท ก็ลองปลูกต้นไม้เล็กๆ และเดินเข้าสวนหลังบ้านบ่อยๆ อาการก็เริ่มดีขึ้น จึงคิดได้ว่าแนวทางของพ่อหลวงได้ปลดเปลื้องทุกข์ โรคภัย และสร้างสุขของเราได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะวิถีเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมีแบบ 100%
ในระยะแรกยังทำสวนเกษตรแบบลองผิดลองถูก โดยเฉพาะการปลูกผักหวานป่า สลับกับการปลูกพืชสวน และไม้ยืนต้น เรียนรู้จากประสบการณ์ จนถึงขณะนี้ภายในสวนมีผักหวานป่าแล้ว 500 ต้น จากที่ตั้งเป้าไว้ 1,500 ต้น ในระยะ 5 ปีแรก หรือครึ่งทางของแผน 10 ปี ที่วางไว้ ผักหวานป่าที่ปลูกด้วยการเพาะเมล็ดอายุ 5 ปี เริ่มให้ผลผลิตวันละ 1-2 กก. ที่ขายส่งให้แก่แม่ค้าที่เดินทางมาซื้อถึงสวนราคา กก.ละ 180-200 บาท และยังมีพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ทำให้มีรายได้เข้ามาในครอบครัวอย่างน้อยวันละ 500 บาท
นอกจากนี้ ยังมีมะเขือเทศสายพันธุ์ต่างๆ ที่สามารถเก็บไปส่งให้แก่ลูกค้าที่นิยมรับประทานเป็นอาหารว่าง มะม่วงมีหลายสายพันธุ์ แต่ที่กำลังภูมิใจอย่างมากคือ ผลจากการปลูกต้นยางนา และไม้ยืนต้นอื่นๆ กำลังเติบโต ทำให้พื้นที่มีสีเขียว เกิดสมดุลธรรมชาติ มีความร่มรื่น และอุดมสมบูรณ์ และอีกไม่นานก็จะเกิดเห็ดป่า เห็ดธรรมชาติได้เก็บรับประทาน
นายลอน กล่าวอีกว่า จากงานโรงพยาบาลที่ยุ่ง และต้องอยู่กับคนไข้ตลอดทั้งวัน ตอนนี้ได้แบ่งเวลาพักผ่อนหย่อนใจ คือ การทำสวน ถึงฤดูปลูกข้าวก็ทำนา ซึ่งจะทำนาเฉพาะเก็บไว้กินในครัวเรือน แม้ว่าพื้นที่เดิมเป็นนาข้าวทั้งหมด ตอนนี้ได้แบ่งสัดส่วนเป็นสวนป่า แปลงบวบ สวนกล้วยสลับกับปลูกไม้ยืนต้นเป็นระยะๆ ในลักษณะ 1 สลับ 2
ขณะที่ริมรั้วจะเน้นปลูกไผ่ มะนาว และไม้ผลกินได้จากธนาคารต้นไม้ เรียกว่าปลูกทุกอย่างที่กินได้ และกินทุกอย่างที่ปลูก
การทำสวนของตนจะใช้มูลไก่จากฟาร์มไก่ขนาดเล็กที่เลี้ยงทั้งไก่พันธุ์พื้นเมือง และไก่ไข่ และใช้มูลเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ในสวน ไม่ใช้สารเคมีใดๆ ทุกอย่างปลูกแบบธรรมชาติเป็นอินทรีย์ นอกจากนี้ ยังมีบ่อปลาที่เลี้ยงไว้รับประทานเอง ภายในสวนมีอาหารการกินเต็มพื้นที่โดยที่เราไม่ต้องไปตลาด
ทุกวันนี้ได้ใช้เวลาช่วง 04.00-07.00 น. เป็นเวลาทำสวนเกษตร และไปทำงานในเวลา 08.00-17.00 น. ช่วงค่ำก็จะกลับมาอยู่ในส่วนประมาณ 1 ชม.
แต่ถ้าเป็นวันหยุดอยู่ในสวนทั้งวัน นอกเหนือจากความสุข มีของกินเต็มสวน มีอาหารสุขภาพเต็มบ้านแล้ว ผลผลิตที่ขายได้ก็เป็นรายได้ที่ปลดเปลื้องหนี้สินที่พอกพูนให้ลดลงด้วย
สำหรับ “บ้านสวนวิลาวรรณ” ยังประยุกต์เกษตรผสมผสานของพ่อหลวงรัชกาลที่ ๙ ให้เข้ากับยุคสมัย และบริบทคนเมือง โดยทำแปลงสาธิตให้คนหัวใจเกษตรรักการเกษตรได้ชมเป็นตัวอย่าง โดยย่อสวนเป็นตลาดหน้าบ้าน คือ แปลงเกษตรสำหรับคนเมือง มีที่จำกัด และมีเวลาน้อย เน้นปลูกพืชเพื่อสุขภาพอย่างละนิดละหน่อย ปลูกลงในกระถางเล็กๆ
ส่วนอีกแบบคือ ตลาดช่วงกลาง ที่จะกระจายปลูกพืชกินได้ พืชเศรษฐกิจ เน้นปลูกพืชยืนต้นให้ผลผลิตระยะยาว เช่น ผักหวานป่า มะม่วง และตลาดผสมผสาน เป็นพื้นที่ใหญ่ที่ปลูกพืชไว้หลากหลายอย่างสมดุลกัน มีผลผลิตตลอดปี สลับหมุนเวียนได้ขายตามฤดูกาล
นอกจากจะทำเกษตรในครัวเรือน นายลอน รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลดอนจาน ยังได้นำไปเผยแพร่การกินอยู่จากพืชปลอดสารพิษ การปลูกพืชกินเอง ให้แก่คนไข้ภายในโรงพยาบาลที่ตนเองรับผิดชอบดูแล และเปิดตลาดสุขภาพ ตลาดสีเขียวทุกวันศุกร์ ที่ลานหน้าโรงพยาบาลดอนจาน
ซึ่งทำให้ชาวบ้านเกิดการตื่นตัวหันมารักษ์สุขภาพ ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน และยึดวิถีชีวิตของ รอง ผอ.โรงพยาบาลดอนจาน เป็นแบบอย่างด้วย