SME Development Bank เดินหน้า “โครงการสร้างบ้านสร้างอาชีพ” ดันลูกค้า ธอส.เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยถูก 1-3% หวังมีเงินทุนประกอบอาชีพ ตั้งเป้าเข้าถึงแหล่งทุน 20,000 ราย หนุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเติบโตแข็งแกร่งและยั่งยืน
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ( ธพว. หรือ SME Development Bank) เปิดเผยว่า จากที่ธนาคารได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "โครงการสร้างบ้านสร้างอาชีพ" กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อร่วมกันสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในระดับฐานราก (Local Economy) โดยจะสนับสนุนให้ลูกค้าของ ธอส. ซึ่งมีฐานกว่า 1 ล้านราย ที่ต้องการเงินทุนไปประกอบอาชีพสามารถมาขอสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษกับธนาคารได้โดยไม่ต้องนำบ้านมาใช้เป็นหลักประกัน
ขณะนี้ธนาคารเตรียมความพร้อมไว้บริการทุกด้านแล้ว ทั้งทีมงาน และสินเชื่อดอกเบี้ยถูก ได้แก่ สินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว วงเงิน 50,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยเพียง 3% คงที่ 3 ปี ผ่อนชำระได้นานถึง 7 ปี สามารถใช้ บสย.ค้ำประกันฟรี 4 ปีแรก กู้ 1 ล้านบาท ผ่อนเพียง 460 บาทต่อวัน สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนหรือธุรกิจที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) เช่น โฮมสเตย์ บูติกโฮเต็ล ร้านอาหาร ผลิตขนมท้องถิ่น เป็นต้น กลุ่มอาชีพบริการต่างๆ ที่อยู่คู่ชุมชนตัวอย่างเช่น 10 อาชีพ ดังนี้ 1. ช่างตัดผม 2. ช่างเสริมสวย 3. ช่างตัดเสื้อ 4. ช่างซ่อมรถยนต์/รถจักรยานยนต์ 5. ช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า 6. ช่างซ่อมประปา/ไฟฟ้า 7. ช่างไม้/เฟอร์นิเจอร์/ประกอบเรือ 8. ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์/สมาร์ทโฟน 9. ช่างตีเหล็ก และ 10. ช่างทำดอกไม้ประดิษฐ์ รวมถึงกลุ่มธุรกิจเกษตรแปรรูปทั้งอาหารและไม่ใช่อาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์สปา ผลไม้อบแห้ง เครื่องดื่มสมุนไพร และเครื่องสำอาง เป็นต้น
สำหรับ “สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0” วงเงิน 8,000 ล้านบาท โดยผู้กู้ที่ขอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล (บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล) คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพียง 1% คงที่ตลอดระยะเวลาผ่อนชำระนานถึง 7 ปี ปลอดชำระเงินต้น 3 ปีแรก เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีปัญหาทางการเงินสามารถกู้ได้ (แม้เคยปรับโครงสร้างหนี้ หรือผ่อนชำระไม่ต่อเนื่องมาก็ตาม) สำหรับลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ และใช้เป็นเงินหมุนเวียน โดยไม่ต้องใช้ บสย. หรือบ้านมาค้ำประกัน
ส่วน “สินเชื่อสร้างอาชีพวัยเก๋า” วงเงิน 1,000 ล้านบาท เปิดโอกาสผู้ประกอบการอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป รวมระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดถึงอายุ 75 ปี นำไปเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ต่างๆ เพื่อสร้างรายได้หลังเกษียณอายุจากการทำงานประจำ เช่น เปิดร้านกาแฟ ทำฟาร์มสัตว์เลี้ยง ธุรกิจเกษตรอินทรีย์ ฯลฯ รวมไปถึงลงทุนซื้อ "แฟรนไชส์" ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำในการประกอบธุรกิจ รวมถึงนำไปใช้ปรับปรุงกิจการเดิมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สามารถแข่งขันในธุรกิจได้
นอกจากนั้น ธนาคารอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการสินเชื่อ โดยเปิดบริการยื่นขอสินเชื่อผ่านออนไลน์ (https://coreportal.smebank.co.th/) เพียงสแกน QR Code ตามจุดต่างๆ ที่ธนาคารนำป้ายสแกนไปติดตั้งไว้กว่า 10,000 จุดทั่วประเทศ เช่น สถานที่ราชการ หน่วยงานพันธมิตร และเครือข่ายสมาคมต่างๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายในปี 2561 จะมีลูกค้าของ ธอส.มาใช้บริการสินเชื่อจาก ธพว.ประมาณ 20,000 ราย วงเงินกู้ตั้งแต่ 2 แสนบาทถึง 2 ล้านบาทต่อราย มูลค่าสินเชื่อรวมประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้อย่างกว้างขวาง ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจไทยจากฐานรากอย่างแท้จริง
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager