xs
xsm
sm
md
lg

ฟันธง ครึ่งปีหลัง ศก.-ส่งออกขาขึ้น ชี้ปมเอสเอ็มอีไทยไม่กล้าโกอินเตอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ  ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)
ฝ่ายวิจัยธุรกิจ EXIM BANK ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังส่งสัญญาณฟื้น จากแรงส่งโครงการ Mega Projects สินค้าเกษตรหลักราคาเริ่มดี รวมถึงท่องเที่ยวยังบูมต่อเนื่อง สอดคล้องการส่งออกจะกลับมาขยายตัวได้ ชี้ปมเอสเอ็มอีไทยยังไม่กล้าโกอินเตอร์เพราะปัญหาขาดสภาพคล่อง เข้าถึงแหล่งทุนยาก และกังวลถึงความเสี่ยง รวมถึงขีดความสามารถการแข่งขันต่ำ แนะเริ่มทำตลาดจากค้าชายแดน และ CLMV โดยลงพื้นที่สำรวจตลาดจริง หาพันธมิตรท้องถิ่น

นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2560 มีแนวโน้มเชิงบวกต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก จากปัจจัยสนับสนุน เช่น โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ หรือ Mega Projects หลายโครงการเริ่มเดินหน้าในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึงภาครัฐยังได้ปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ให้กับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ให้เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว

นอกจากนั้น ราคาสินค้าเกษตรหลักหลายตัวเริ่มฟื้น ส่งให้กำลังซื้อของเศรษฐกิจฐานรากผลักดันกลับมาอยู่ในระดับปกติอีกครั้ง หลังจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กำลังซื้อบางส่วนยังเพิ่มขึ้นหลังโครงการรถยนต์คันแรกทยอยครบอายุถือครอง ทำให้ภาระการผ่อนชำระรถยนต์บางส่วนหมดไป ส่งผลให้เกิดอุปสงค์ใหม่ๆ ในการจับจ่ายใช้สอย ทั้งสินค้าคงทน และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ

อีกทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตต่อเนื่องจะเป็นกลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนได้จากสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวต่อ GDP รวมที่ขยับเพิ่มขึ้นจากตัวเลขหลักเดียวในช่วง 10 ปีก่อน มาอยู่ที่ระดับสูงกว่า 15% แล้วในปัจจุบัน

นางขวัญใจเผยต่อว่า ในส่วนภาคส่งออกกลับมาเป็นกลไกในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจากยอดส่งออกหดตัวติดต่อกันถึง 3 ปี โดยเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2559 และขยายตัวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้หลายฝ่ายมองว่าการส่งออกทั้งปีนี้มีความเป็นไปได้มากที่จะขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ เชื่อว่าการส่งออกไทยกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นอีกครั้ง หลังจากตัวเลขส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกที่โตถึง 5.7% นับเป็นเครื่องยืนยันได้ระดับหนึ่งว่าภาคส่งออกกลับมาเป็นความหวังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยปัจจัยสนับสนุนหลายประการ เช่น เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ราคาน้ำมันยังยืนเหนือระดับปีก่อนหน้า จากข้อตกลงลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC ที่เข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาอุปทานน้ำมันส่วนเกินได้ระดับหนึ่ง และอุปสงค์การใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบมาผลิตเพื่อส่งออกกลับมาขยายตัวสูงหลังหดตัว 3 ปีติดต่อกัน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและการส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการส่งออกที่มีแนวโน้มสดใส ยังมี “ปัจจัยเสี่ยง” ที่ผู้อยู่ในแวดวงการค้าระหว่างประเทศต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกในระยะถัดไป เช่น มาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ภัยก่อการร้ายและความขัดแย้งระหว่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนและยากที่จะคาดการณ์

ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจฯ กล่าวต่อว่า แม้ว่าภาวะส่งออกในครึ่งปีหลังที่มีแนวโน้มดี แต่หากพิจารณาในมิติของผู้ประกอบการมีข้อมูลที่น่าสนใจ การส่งออกส่วนใหญ่มาจากผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 2.7 ล้านราย แต่กลับมีเอสเอ็มอีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่กล้าออกไปต่างประเทศ สะท้อนได้จากมูลค่าส่งออกของเอสเอ็มอีที่คิดเป็นเพียง 27% ของมูลค่าส่งออกของประเทศเท่านั้น ขณะเดียวกัน เอสเอ็มอียังอ่อนไหวต่อปัจจัยความไม่แน่นอนมากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่

“ข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นจึงมีคำถามว่า “ทำไมเอสเอ็มอีไทยจึงเก่งเฉพาะในประเทศ?” และ “ผู้ประกอบการกำลังเผชิญกับข้อจำกัดใด จึงยังมีส่วนในการขับเคลื่อนการส่งออกได้ไม่มากในปัจจุบัน” ซึ่งจากข้อมูลพบว่าข้อจำกัดที่เอสเอ็มอีไทย เผชิญอยู่หลักๆ คือ ปัญหาขาดสภาพคล่อง การเผชิญกับเงื่อนไขการกู้เงินที่เข้มงวด และมีความกังวลถึงความเสี่ยงในการส่งออก” นางขวัญใจกล่าว

นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาในเชิงลึกจะพบว่าเอสเอ็มอีไทยยังด้อยด้านขีดความสามารถทางการแข่งขันธุรกิจ ดังนั้น หากผู้ประกอบการที่คิดจะออกไปทำตลาดในต่างประเทศ ควรเริ่มจากตลาดการค้าชายแดน และกลุ่ม CLMV ซึ่งมีพื้นฐานชื่นชอบสินค้าไทยอยู่แล้ว และมีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคแทบทุกชนิดจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปทำธุรกิจ เอสเอ็มอีไทยควรจะต้องลงพื้นที่สำรวจตลาดด้วยตัวเองเสียก่อน รวมถึงหาพันธมิตรท้องถิ่นที่ไว้วางใจได้ นอกจากนั้น ควรจะซื้อเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงทางการเงินด้วย


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น