xs
xsm
sm
md
lg

เผยส่งออกของไทยแม้จะติดลบ แต่ยังดีกว่าหลายประเทศในเอเชีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


EXIM BANK ชี้การส่งออกของไทยแม้จะติดลบ แต่ยังดีกว่าหลายประเทศในเอเชีย เพราะมีตลาดส่งออก และผลิตภัณฑ์หลากหลาย แต่ระยะยาวต้องเร่งยกระดับผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้ารองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก

ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) วิเคราะห์สถานการณ์ส่งออกของไทยว่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจ และการค้าโลกซบเซา ไทยมีมูลค่าส่งออกหดตัว 3 ปีติดต่อกัน และมีแนวโน้มว่าจะยังหดตัวต่อเนื่องในปี 2559 ล่าสุด มูลค่าส่งออกเดือนกรกฎาคม 2559 หดตัวร้อยละ 6.4 อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากข้อเท็จจริง พบว่าสถานการณ์การส่งออกของไทยในปัจจุบันยังอยู่ในสถานะที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญในเอเชีย สะท้อนจากมูลค่าส่งออกของไทยในปี 2559 ติดลบน้อยกว่าเกือบทุกประเทศ เป็นรองเพียงเวียดนาม และญี่ปุ่น โดยการส่งออกของเวียดนาม ที่ยังขยายตัวได้ สาเหตุหลักมาจากการส่งออกของบริษัทต่างชาติที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ของมูลค่าส่งออกรวม โดย เฉพาะกลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่งย้ายฐานการผลิตเข้าไปในเวียดนาม

ขณะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยในตลาดโลกยังทรงตัว ขณะที่หลายประเทศในเอเชียมีส่วนแบ่งตลาดลดลงอย่างชัดเจน อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอินเดีย ซึ่งภาวะส่งออกของไทยที่ยังอยู่ในระดับดีกว่าหลายประเทศคู่แข่งสำคัญมาจากหลายสาเหตุ คือ การที่ไทยมีโครงสร้างตลาดส่งออก และสินค้าส่งออกที่มีความหลากหลาย โดยตลาดส่งออกของไทยกระจายไปในหลายประเทศ นอกจากนี้ สินค้าส่งออกของไทยยังกระจายตัวในหลายผลิตภัณฑ์ และไทยยังมีเกราะป้องกันความผันผวนของการค้าโลกจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 10 ของมูลค่าส่งออกรวม โดยเฉพาะกลุ่มอาหารที่ไทยมีศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันสูง เห็นได้จากมูลค่าส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ยังขยายตัวในแดนบวกต่อเนื่อง ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบต่อการส่งออกโดยรวมได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างตลาดส่งออก และสินค้าส่งออกของไทยที่กระจายตัวมากกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ เป็นเพียงภูมิคุ้มกันภาคส่งออกของไทยในระยะสั้น แต่ในระยะยาวภาคส่งออกของไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัว เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเฉพาะการปิดจุดอ่อนในภาคการผลิตที่ต้องยกระดับไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง หรือสินค้านวัตกรรม ซึ่งราคามักไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจโลก การให้ความสำคัญ และต่อยอดการวิจัย และพัฒนาในภาคการผลิต รวมถึงเรียนรู้ และนำเทคโนโลยีรุ่นใหม่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ “Internet of Things” มาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจนเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุค Industry 4.0 ที่เน้นการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ และเชื่อมโยงเข้ากับระบบดิจิตอลอย่างเบ็ดเสร็จ ขณะเดียวกัน ก็ต้องเสริมจุดแข็งที่ดีอยู่แล้วของสินค้าไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป และอาหารที่มีข้อได้เปรียบจากความพร้อมด้านวัตถุดิบ และความเชี่ยวชาญของผู้ประกอบการ ตลอดจนยกระดับแบรนด์สินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

ขณะเดียวกัน การขยายการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อสร้างฐานการผลิต และตลาดการค้าแห่งใหม่ โดยเฉพาะประเทศที่ผู้ประกอบการไทยยังไม่เคยมี หรือมีธุรกรรมค่อนข้างน้อยที่เรียกว่า New Frontiers ซึ่งเต็มไปด้วยโอกาสใหม่ๆ เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ช่วยขับเคลื่อนให้ภาคส่งออกของไทยเติบโตในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น