xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันอาหาร คาดตัวเลขส่งออกอาหารปี 60 ทะลุ 1 ล้านล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาอุตสาหกรรมฯ จับมือสภาหอการค้าฯ และสถาบันอาหาร เผยข้อมูลอุตสาหกรรมอาหารปี 2559 ไทยเขยิบเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 13 ของโลก คาดสิ้นปี 2559 จะมีมูลค่าส่งออก 972,000 ล้านบาท โต 7% ชี้กลุ่มประเทศ CLMV ขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย แซงตลาดญี่ปุ่น คาดปี 2560 มูลค่าทะลุถึง 1,050,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่ม 8%


นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยถึงสถานการณ์ภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารไทยว่า จากข้อมูลของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center ตัวเลขการส่งออกอาหารตลอดปี 2559 ประเมินว่าจะมีมูลค่า 972,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 เนื่องจากวัตถุดิบการเกษตรของไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นชัดเจนโดยเฉพาะกุ้งที่เริ่มฟื้นตัวจากภาวะโรคตายด่วน(EMS) ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้กลุ่มสินค้า ปศุสัตว์รวมทั้งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีต้นทุนการผลิตลดลง เศรษฐกิจอาเซียนโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ที่ขยายตัว ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพและเคลื่อนไหวเฉลี่ยอยู่ในช่วง 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เอื้ออำนวยต่อสินค้าส่งออก และภัยแล้งในกลุ่มประเทศอาเซียนทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารมากขึ้น มีการลงทุนขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการรายใหญ่ในหลายสาขา อาทิ ไก่ น้ำผลไม้ เครื่อง


ขณะที่สินค้าอาหารส่งออกของไทยส่วนใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า โดยสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวสูง 4 รายการ ได้แก่ น้ำผลไม้ (+24.5%) กุ้ง (+22.0%) สับปะรดกระป๋อง (+12.2%) และไก่ (+8.0%) ส่วนสินค้าอื่นๆ อาทิ ข้าว มีปริมาณการส่งออก(+2.1%)เพิ่มมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี มูลค่าขยายตัว (+2.6%) น้ำตาลทรายปริมาณส่งออกลดลง (-10.4%) แต่มูลค่าขยายตัว (+1.2%) ปลาทูน่ากระป๋อง มีปริมาณส่งออกลดลง(-2.5%) แต่มูลค่าขยายตัว (+2.7%) มันสำปะหลัง (เฉพาะแป้งมันสำปะหลังดิบ) ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น(+10.0%) แต่ราคาลดลงทำให้มูลค่าส่งออกหดตัวลง (-1.0%) เครื่องปรุงรสปริมาณส่งออกและมูลค่าเพิ่มขึ้นตามลำดับ (+5.8%) และ (+6.4%)


ทั้งนี้สัดส่วนตลาดส่งออกอาหารของไทยในปี 2559 แบ่งเป็น อาเซียน(28.4%) (อาเซียนเดิม 13.2% และ CLMV 15.2%) ญี่ปุ่น (13.9%) สหรัฐฯ (11.9%) สหภาพยุโรป (10.0%) แอฟริกา (9.1%) จีน (8.0%) โอเชียเนีย (3.6%) ตะวันออกกลาง (3.4%) และเอเชียใต้ (1.1%) สำหรับตลาดที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกมากขึ้น ได้แก่ อาเซียน (ทั้ง CLMV และอาเซียนเดิม) สหรัฐฯ โอเชียเนีย และเอเชียใต้ โดยขยายตัวสูงมากในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (+19.2%) ส่วนตลาดส่งออกอื่น ๆ ขยายตัวดีในกลุ่มตลาดเดิม ได้แก่ ญี่ปุ่น (+6.2%) และสหรัฐฯ (+9.1%) เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลัก อาทิ สับปะรดกระป๋อง กุ้งแช่แข็ง กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบคลายตัวลง รวมทั้งการส่งออกไก่ที่ขยายตัวดีในกรณีของตลาดญี่ปุ่น ส่วนตลาดใหม่ที่เป็นตลาดที่มีขนาดรองลงไปส่วนใหญ่หดตัวลง ได้แก่ แอฟริกา (-6.1%) จีน(-0.4%) และตะวันออกกลาง (-7.6%) โดยมีสาเหตุจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ ขณะที่ตลาดจีนหดตัวลงครั้งแรกในรอบ 8 ปี เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างข้าว น้ำตาลทราย และแป้งสำปะหลังลดลง


“ในปี 2559 ประเทศไทยเขยิบขึ้นเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 13 ของโลก ปรับตัวดีขึ้น 2 อันดับ จากอันดับ 15 ในปี 2558 โดยพิจารณาจากมูลค่าส่งออกอาหารเฉลี่ยต่อเดือนพบว่า ไทยส่งออกสินค้าอาหารเฉลี่ยเดือนละ 2,216 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเป็นอันดับที่ 3 ในเอเชียรองจากจีนและอินเดีย ส่วนประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ 1 ถึง 4 อันดับแรกของโลกไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน ได้แก่ สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และบราซิล ตามลำดับ ส่วนอันดับที่ 5 คือประเทศจีนที่ขึ้นมาแทนฝรั่งเศสในปีนี้” รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าว

นายณัฐพล กล่าวถึงปัจจัยสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2560 ว่ามาจากเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเพราะในระยะสั้นนโยบายเศรษฐกิจของผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ จะส่งผลด้านบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนผลกระทบจากนโยบายการค้าและการต่างประเทศจะต้องใช้เวลาดำเนินงาน จึงจะส่งผลกระทบในระยะกลางถึงระยะยาว

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2560 ก็มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญหลายประการที่ต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนด้านนโยบายของผู้นำคนใหม่สหรัฐฯ จะทำให้ตัวแปรเศรษฐกิจผันผวนและความเสี่ยงจากการเกิดสงครามการค้า เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวล่าช้าจากปัญหาในภาคธนาคาร และความกังวลเรื่องเสถียรภาพอียูหลังเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ในหลายประเทศ ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย และอิตาลี ส่วนเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวโดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันหลังจาก OPEC และชาตินอกกลุ่มเตรียมลดกำลังการผลิต ความผันผวนของค่าเงินและแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทเทียบกับยูโรและเยน เป็นต้น


ด้านนายสัตวแพทย์บุญเพ็ง สันติวัฒนธรรม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า สำหรับการเติบโตในอุตสาหกรรมอาหารไทย หากในปีหน้าจะเพิ่มมูลค่าเป็น 1 ล้านล้านบาทได้นั้น ผู้ประกอบการจะต้องเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรให้มีราคาสูงขึ้น ต้องมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการแปรรูปอาหารเข้ามาปรับใช้ เพื่อการเจาะตลาดในประเทศแถบยุโรปและอเมริกา


โดยจากตัวเลขการส่งออกกุ้งของไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่า สามารถเจาะตลาดประเทศ CLMV ได้ แม้มูลค่าจะไม่มากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่หากจะเพิ่มมูลค่าให้ได้มากกว่านี้ ต้องเจาะตลาดในภูมิภาคอื่นให้ได้ เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งจะทำให้ตัวเลขส่งออกมากขึ้น ซึ่งเกษตรกรต้องปรับในเรื่องคุณภาพ และมาตรฐานการส่งออกที่แต่ละประเทศกำหนด

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น