เดิม “ผักตบชวา” จำนวนมหาศาลลอยขวางทางน้ำในแปลงนา สร้างความลำบากให้แก่ชาวบ้านใน ต.คลองวัว จ.อ่างทอง อย่างยิ่ง แต่เมื่อกลุ่ม “เกษตรกรบ้านบางตาแผ่น จ.อ่างทอง” นำภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจักสาน เปลี่ยนวัชพืชมาทำเป็น “กระเช้า” กลายเป็นสินค้าคุณภาพเยี่ยม ควบคู่กับมีภาคเอกชนสนับสนุนด้านช่องทางตลาด ก่อให้เกิดการสร้างงาน และสร้ายได้กลับคืนสู่ท้องถิ่น
นางปราณี จันทวร ประธานกลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านบางตาแผ่น ต.คลองวัว อ.เมือง จ.อ่างทอง กล่าวว่า กลุ่มจักสานก่อตั้งในปี 2532 เดิมทีใช้ไม้ไผ่ในพื้นที่มาสานเป็นของใช้ในครัวเรือนตามภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น มีจุดเด่นที่ความละเอียดประณีต แต่ในปี 2534 ได้เปลี่ยนมาใช้ผักตบชวา เป็นวัตถุดิบหลักในการจักสานแทน เนื่องจากมีผักตบชวาจำนวนมากขวางทางน้ำในแปลงนา จะกำจัดอย่างไรก็ไม่หมด จึงนำมาต่อยอด โดยตระเวนไปดูงานในกลุ่มจักสานผักตบชวาในจังหวัดข้างเคียง เช่น นครปฐม สุพรรณบุรี และชัยนาท
หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 แรงงานที่เคยเข้าไปทำงานในเมือง อพยพกลับบ้านมาของานทำกับกลุ่ม ทำให้สมาชิกในกลุ่มเพิ่มขึ้นเป็น 93 คน จากเดิมมีเพียง 14 คน โดยนางปราณี ในฐานะหัวหน้ากลุ่ม ได้รวมกลุ่มสมาชิกอย่างจริงจัง โดยเน้นไปที่การสร้างชุมชนให้เข็มแข็ง ช่วยเหลือเกื้อกูลในกลุ่ม ด้วยการแบ่งงานกันทำตามความเชี่ยวชาญของแต่ละคน เช่น บางคนไม่มีฝีมือเรื่องจักสานเลยแม้จะพยายามแล้ว ก็ให้เขาไปเก็บผักตบชวาขาย หรือสานเปียผักตบ บางคนมีฝีมือทางช่างก็ให้ขึ้นโครงกระเช้าด้วยหวาย ส่วนเรื่องการขายนั้นตัวเองจะรับหน้าที่ไปออกงานต่างๆ เช่น งานโอทอปประจำปี รวมถึงมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อที่กลุ่ม
“ชุมชนของเรายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เราเน้นเรื่องการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ส่งเสริมเรื่องการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น ทำเอง กินเอง ใช้เอง เราสอนลูกสอนหลานเราแบบนี้ ขยัน ถ้าเราอยู่ได้ เราเข้มแข็งแล้ว เราก็พร้อมพัฒนาสินค้า ทั้งรูปแบบและดีไซน์ ให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป” นางปราณี กล่าว
การรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งและแบ่งงานกันทำอย่างชัดเจน ทำให้ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพ คงทน มีการสอนการอบรมเรื่องบัญชีรายรับรายได้ มีการทดลองขึ้นแบบดีไซน์ใหม่ๆตามความต้องการของตลาด ทำให้งานจักสานของกลุ่มได้รับการตอบรับจากทั้งในประเทศ และเริ่มมีออเดอร์จากต่างประเทศเข้ามาบ้าง เช่น ญี่ปุ่นและสวีเดน เพราะชื่นชมในผลงานด้านความประณีต
“ทุกวันนี้สมาชิกในกลุ่มพึงพอใจกับรายได้เสริมจากการสานผักตบชวา บางครอบครัวสามารถยึดเป็นอาชีพหลักได้เลย กลายเป็นว่าทำนาเป็นอาชีพเสริม หลายคนสานผักตบชวาอย่างเดียวจนส่งเสียลูกเรียนจบปริญญาตรี ชุมชนเราค่อนข้างเข้มแข็ง นอกจากช่วยเหลือกันในกลุ่มแล้ว เรายังช่วยเหลือชุมชนใกล้เคียง และในต่างอำเภอ เช่น อ.ไชโย ที่ทางกลุ่มได้กระจายงานให้มา 3-4 ปีแล้ว เข้าไปสอนงาน รับส่งสินค้าให้ รับซื้อสินค้าราคาเดียวกับสมาชิกของกลุ่ม” ประธานกลุ่มฯ เผย
นางปราณี บอกอีกว่า ในส่วนของช่องทางจัดจำหน่าย มีทั้งไปออกงานเอง เช่น งานโอทอป และมีพ่อค้ามารับซื้อไปจำหน่ายที่ตลาดนัดสวนจตุจักร หน่วยงานราชการต่างๆ รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น และล่าสุดได้ผลิตกระเช้าผักตบชวาให้กับ “ท็อปส์” จำนวน 4,500 ใบ
ตลอด 27ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีสมาชิกจำนวน 73 คน มีเครือข่ายอีก 5 กลุ่ม ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด เช่น นครปฐม สุพรรณบุรี และชัยนาท หากรวมสมาชิกทั้งหมด มีมากกว่า 700 คน สามารถสานผักตบชวาได้มากกว่า 100 แบบ โดยในปี 2559 ออเดอร์มากที่สุด ได้แก่ กระเช้า รองลงมาเป็น ผักตบสานใส่ส้มโอ ผักตบสานใส่ทุเรียน ถัง กล่องมีฝาปิด ตามลำดับ
ด้านนายอิทธิพงศ์ คุณากรบดินทร์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เมื่อ 3-4ปีที่แล้ว ในท้องถิ่น เกิดภัยแล้งค่อนข้างรุนแรง ผลผลิตการเกษตรได้รับผลกระทบ กระทรวงจึงเข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะการจัดหาตลาดให้กับผลิตภัณฑ์จักสาน และเป็นตัวกลางประสานกับช่องทางโมเดิร์นเทรด เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต
“จุดแข็งของกลุ่มนี้คือมีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง มีเครือข่าย มีการกระจายรายได้ บางครอบครัวมีรายได้เพิ่มจากการสานผักตบชวา 3-4 พันบาทต่อคน พวกเขาอยู่ได้ อีกทั้งชาวบ้านที่นี่พร้อมเปลี่ยน พร้อมพัฒนาต่อยอด ทั้งดีไซน์ สีสัน และรูปแบบ ตอนนี้กระทรวงกำลังพิจารณาเรื่องแหล่งเงินทุนสนับสนุนให้เกษตรกร เพื่อนำไปบริหารสต๊อกสินค้า”
นายอิทธิพงศ์ กล่าวอีกว่า หนึ่งปัจจัยที่เสริมให้กระเช้าผักตบชวาเป็นที่สนใจ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี มาเยี่ยมบูธตอนนำกระเช้าไปออกงานตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ช่วยให้สินค้าได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง รวมถึง ท่านนายกฯ ให้ไอเดียออกแบบลายกระเช้าสำหรับบรรจุสินค้าโอทอป เพื่อมอบให้กันในช่วงปีใหม่ กระทรวงฯ จึงนำแนวคิดมาต่อยอด โดยพูดคุยถึงแนวทางกับซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งจำหน่ายกระเช้าสินค้าปีใหม่อยู่แล้ว
ทางด้าน นางสาวภัทรพร เพ็ญประพัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ผู้บริหาร เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และ ท็อปส์ กล่าวว่า นโยบายของบริษัทที่เข้าไปช่วยเหลือรับซื้อกระเช้าจากชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อใช้บรรจุสินค้าวางจำหน่ายในช่วงปีใหม่ โดยในปี 2559 ได้เข้าไปรับซื้อกระเช้าผักตบชวา จาก 2 ชุมชน ได้แก่ กลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านบางตาแผ่น ต.คลองวัว อ.เมือง จ.อ่างทอง จำนวน 4,500 ใบ และ กลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้านผักตบชวา ต.ไทยงาม อ.บางเลน จ.นครปฐม จำนวน 2,000 ใบ รวมทั้งหมด 6,500 ใบ โดยผลิตจังหวัดละ 1 แบบ
“อีกหนึ่งไฮไลท์ของกระเช้าในปีนี้ คือกระเช้าที่ออกแบบโดย นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นแบบที่กลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้านผักตบชวา จ.นครปฐม ผลิตให้ท็อปส์ โดยกระเช้าผักตบชวาทั้งหมดจะนำมาบรรจุสินค้าโอทอปและเอสเอ็มอี สินค้าโครงการหลวง ผลไม้จากทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งหมด 7 แบบ จำหน่ายตั้งแต่ราคา 1,199 - 2,190 บาท”
นางสาวภัทรพร กล่าวในตอนท้ายว่า ท็อปส์ ต้องการรับซื้อกระเช้าในประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี ปีนี้ถือจุดเริ่มต้นที่ดี ยิ่งกลุ่มเกษตรกรสามารถวางแผนการผลิต มีการจัดการสต๊อกสินค้าที่มีประสิทธิภาพ สามารถปรับแบบและดีไซน์ ให้เหมาะกับความต้องการกลุ่มลูกค้า ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขาย เช่น กระเช้าผลไม้ ซึ่งมีลูกค้าสั่งจัดทุกวัน โดยท็อปส์ จะเข้าไปรับซื้อตรงกับกลุ่มเกษตรกร เพื่อกระจายรายได้ให้ถึงมือชาวบ้าน โดยไม่ผ่านคนกลาง
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *