xs
xsm
sm
md
lg

บุก“VPF”ฟาร์มหมูสุดสมาร์ท อาณาจักรสุกรครบวงจรเปี่ยมคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รหัสตัวเลขนี้เป็นที่มาของอาณาจักรฟาร์มหมู VPF ในปัจจุบัน
ท่ามกลางผืนดินที่ห้อมล้อมด้วยป่าสีเขียวกว่า 1,000 ไร่ของ อ.แม่ทา จ.ลำพูน ถูกเนรมิตเป็นหุบเขาแห่งการเลี้ยงสุกรของ บริษัท วีพีเอฟ กรุ๊ป (1973) จำกัด แบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตอาหาร เพาะพันธุ์ ชำแหละ ส่งจำหน่ายสู่ผู้บริโภค มานานกว่า 40 ปี ที่เริ่มต้นจากแม่พันธุ์สุกร 4 ตัว กับพ่อพันธุ์เพียง 1 ตัวเท่านั้น ต่อยอดสู่กำลังการผลิตสุกรขุนสูงสุดถึง 230,000 ตัว/ปี

รหัส '4+1=อินฟินิตี้' เป็นสิ่งที่หลายคนตั้งคำถามเมื่อเห็นรหัสนี้ขึ้นป้ายอยู่หน้าทางเข้าบริษัทฯ ว่ามีความสำคัญอย่างไร ซึ่งแท้จริงแล้วจะใช้คำว่าสำคัญคงไม่ถูกต้องนัก เพราะตัวเลขนี้เป็นมากกว่า เพราะหมายถึงจุดกำเนิดธุรกิจ บริษัท วีพีเอฟ กรุ๊ป (1973) จำกัด ที่เป็นรากฐานของการกำเนิดลูกสุกรหลายล้านตัวตลอด 40 ปีที่ผ่านมา
นายวรพงศ์ จีรประภาพงศ์ ผู้จัดการทั่วไปสายงานผลิตภัณฑ์อาหารในเครือวีพีเอฟ และฐานะทายาทธุรกิจ
นายวรพงศ์ จีรประภาพงศ์ ผู้จัดการทั่วไปสายงานผลิตภัณฑ์อาหารในเครือวีพีเอฟ ในฐานะทายาทธุรกิจ ได้ไขที่มาของธุรกิจนี้ให้ฟังว่า ตัวเลขนี้หมายถึงแม่พันธุ์ หมู 4 ตัว และ 1 คือพ่อพันธุ์ ที่เกิดจากเพื่อนของบิดา (นายยุทธพงศ์ จีรประภาพงศ์) ได้นำหมูทั้ง 4 ตัวมาขายให้ตั้งแต่ปี 2516 ซึ่งในช่วงนั้นครอบครัวของเขายึดอาชีพการทำสวน ทำไร่ ไม่เคยทำงานด้านปศุสัตว์มาก่อน แต่ก็ลองศึกษาและเลี้ยงสุกรเรื่อยมา พร้อมกับซื้อวัว และไก่มาเลี้ยงเพิ่มเติมด้วย

“คุณพ่อเป็นคนที่การศึกษาไม่สูง แต่ชอบเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น การอบรม ดูงานจากบริษัทใหญ่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยจดจำข้อมูลและนำมาปรับใช้กับฟาร์มของตนเอง ทำให้รายได้จากการเลี้ยงสัตว์เริ่มแซงหน้าการปลูกพืชสวน พืชไร่ ซึ่งขณะนั้นในฟาร์มมีสัตว์อยู่ประมาณ 500-1,000 ตัว”
เลี้ยงหมูแบบฟาร์มปิด
กระทั่งถึงเวลาต้องเลือกเลี้ยงสัตว์ที่มีอนาคตพร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์ นายยุทธพงศ์ เลือกเลี้ยงสุกร ด้วยเหตุผลที่ว่า หากเลี้ยงโคนมก็ต้องเสี่ยงกับปัญหาน้ำนมล้นตลาด ส่วนไก่ ก็มีผู้ประกอบการรายใหญ่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว ดังนั้นการเลี้ยงหมู น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เนื่องจากยังมีช่องว่างทางการตลาดอีกมาก

เป็นที่รู้กันว่าการเลี้ยงสุกรส่วนใหญ่หากดูแลสภาพแวดล้อมไม่ดีก็อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนรอบข้างได้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขทุกฝ่าย เขาเลือกเดินบนเส้นทาง 'Green Supply Chain' เริ่มตั้งแต่ Green Feed, Green Farm, Green Power, Green Pork, Green Food และ Green Society เข้าสู่การเป็นฟาร์มสีเขียวเต็มรูปแบบ ที่คำนึงถึงด้านความปลอดภัย และการอยู่ร่วมกันกับทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมจัดการพลังงานและความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ ในฟาร์มแห่งนี้ ได้ประยุกต์ใช้การแบ่งปันพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของฟาร์ม ด้วยการให้บุคลากรหรือพนักงานสามารถใช้พื้นที่ภายในเพื่อการเพาะปลูก นำมาซึ่งการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยรายได้เหล่านี้เกิดจากการค้าขายระหว่างชุมชน รวมทั้งการค้าขายให้กับโรงอาหารภายใน นอกจากนี้ยังมีการนำมูลสุกรที่เหลือใช้มาสร้างพลังงานทดแทน ด้วยการพัฒนาสู่ไบโอแก๊ส ปุ๋ยอินทรีย์ รวมทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแก๊สมีเทนที่สามารถใช้งานได้จริงพร้อมทั้งลดค่าใช้จ่ายและการใช้พลังงานได้กว่า 12 ชั่วโมง

ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทฯ ยังมีการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกและผักตบชวา ซึ่งถือเป็นพืชมหัศจรรย์ เพื่อการบำบัดน้ำเสียและป้องกันหน้าดินไม่ให้พังทลาย โดยการใช้ประโยชน์ดังที่กล่าวมานี้จะช่วยให้ระบบเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมดำเนินต่อเนื่องไปได้นานที่สุด โดยไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อระบบนิเวศวิทยา และไม่เกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ
ผืนดินกว่า 1,000 ไร่ ถูกเนรมิตเป็นฟาร์มสุกร ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันบริษัทฯ ได้แบ่งธุรกิจออกเป็น 4 บริษัทในเครือ ได้แก่ 1. บริษัท วี.พี.เอฟ. กรุ๊ป จำกัด ดำเนินกิจการฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ เพื่อผลิตลูกสุกรส่งต่อนำไปอนุบาลและเลี้ยงสุกรขุนที่บริษัทในเครือต่อไป 2. บริษัท แม่ทา วี พี จำกัด ดำเนินกิจการฟาร์มสุกรขุนแบบโรงเรือนปิด โดยรับซื้อลูกสุกรที่ผลิตจากบริษัท วี.พี.เอฟ. กรุ๊ป จำกัด นำมาอนุบาลและเลี้ยงเป็นสุกรขุนเพื่อจำหน่ายให้แก่บริษัทในเครือ และลูกค้ารายย่อย เพื่อทำการชำแหละและจำหน่ายต่อไป 3. บริษัท แม่ทา วี.พี.ฟีดมิลล์ เป็นโรงงานผลิตอาหารสัตว์ โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเมื่อปี 2548 สามารถผลิตอาหารสุกรไว้สำหรับใช้ในเครือฯ โดยควบคุมการผลิตด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตทั้งสิ้นรวม 45 ตัน/ชั่วโมง และ 4. บริษัท วี แอนด์ พี เฟร็ชฟูดส์ จำกัด เป็นโรงชำแหละสุกรที่ทันสมัยที่สุดในภาคเหนือ สามารถชำแหละสุกรได้ 200 ตัว/ชั่วโมง เพื่อจำหน่ายเนื้อสุกรชำแหละให้แก่ลูกค้าและซูเปอร์สโตร์รายใหญ่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง โดยอนาคตมีแผนส่งออกซากสุกรและเนื้อสุกรชำแหละ
ผลิตภัณฑ์เนื้อหมูแปรรูป
ผลิตภัณฑ์เนื้อหมูแปรรูป
“ขณะนี้ทางวีพีเอฟมีผลิตภัณฑ์จากสุกรทุกรูปแบบ ได้แก่ ชิ้นส่วนสุกรแช่เย็นและแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์แปรรูป โดยปราศจากสารเร่งเนื้อแดง ส่งผลให้มีกำลังการผลิตสุกรแม่พันธุ์ประมาณ 5,500 ตัว และสุกรขุน 230,000 ตัว/ปี โดยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรนิยมมาซื้อพ่อแม่พันธุ์ไปเลี้ยงเพื่อจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง”


หลังจากเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการผลิตเนื้อสุกรคุณภาพป้อนตลาดมายาวนาน เน้นจำหน่ายในจำนวนมากให้แก่ซูเปอร์สโตร์นานกว่า 40 ปี มาวันนี้ทายาทธุรกิจหนุ่มไฟแรง 'นายวรพงศ์' มองว่า เมื่อมีสินค้าดีมีคุณภาพอยู่ในมือน่าจะสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ของตนเองได้ ดังนั้นเขาจึงเปิดร้านค้าปลีกชื่อว่า “VPF Shop & Restaurant” รวม 2 สาขา ได้แก่ สาขา อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ (จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุกรเครือวีพีเอฟ) และสาขาในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ไฮเวย์ ต.บ้างกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน ซึ่งสาขานี้มีลักษณะเป็นร้านจำหน่ายอาหารหลากเมนู และจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุกรในเครือด้วย
ลูกชิ้นปิ้ง หนึ่งในเมนูอาหารของร้าน VPF Shop & Restaurant ในปั๊มน้ำมัน ปตท. ไฮเวย์  ต.บ้างกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน
ซุปกระดูกหมูรสเข้ม
ข้าวหน้าหมู
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังถูกรับเลือกให้เป็นหนึ่งในนวัตกรรมอุตสาหกรรมเกษตรแห่งความยั่งยืน ในโครงการ Northern Thailand Food Valley ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การดูแลของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาค 1 ซึ่ง “นายพสุ โลหารชุน” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเกษตรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีนั้นเป็นการตอบโจทย์หนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่จะช่วยให้กลุ่มธุรกิจดังกล่าวสามารถพัฒนาไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเสมือนการต่อยอดความได้เปรียบให้เกิดขึ้น รวมถึงยังช่วยสร้างตลาดใหม่ หรือขยายผลจากนวัตกรรมทางธุรกิจให้สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้
ข้าวหน้าหมูทอด
กระเพราะหมู+ไข่ดาว รสแซ่บ
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่ง SMEs ด้านเกษตรที่มีการเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม คุณภาพ สินค้า และแนวทางด้านการตลาด ทำให้สามารถปรับตัวรองรับสงครามการแข่งขันที่สูงขึ้นอย่างในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

***สนใจติดต่อ 130/1 ม.16 ต.ทาสบเส้า อ.แม่ทา จ.ลำพูน โทร. 0-5357-1181-3 หรือที่ www.vpf.co.th***
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น