กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดตัว “พสุ โลหารชุน” อธิบดีคนใหม่ พร้อมแจงทิศทางทำงาน กสอ.ในปีงบประมาณ 2560 เตรียมงบกว่า 850 ล้านบาท ดันโครงการส่งเสริม SMEs และ START UP ผ่านกลยุทธ์ 3S กว่า 30 โครงการ เพื่อปิดจุดอ่อนแก้ 8 ปัญหาที่กระทบการเติบโต SMEs ชี้ 3 กลุ่มอุตสาหกรรม SMEs จุดอ่อน คือ เซรามิก, เครื่องประดับ, เครื่องเรือน เร่งปรับตัวด่วนเพราะเป็นอุตสาหกรรมหลักทำรายได้ของประเทศ
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังเข้ารับตำแหน่งถึงทิศทางการทำงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมว่า ในปีงบประมาณ 2560 ทางกรมฯ ได้รับงบประมาณวงเงิน 850 ล้านบาท ผ่านกลยุทธ์ 3 S คือ START STRONG และ SUSTAIN ทั้งหมด 30 โครงการ ตั้งเป้าในการพัฒนาผู้ประกอบการ SME และ START UP จำนวน 13,000 ราย หรือ จำนวน 2,700 กิจการ
ทั้งนี้ งบประมาณที่ได้ แบ่งเป็นงบประมาณสำหรับ START วงเงินจำนวน 207,333,600 ล้านบาท โดยมีโครงการที่ กสอ.ให้การสนับสนุน ประกอบด้วย โครงการสร้างนักออกแบบผลิตภัณฑ์และวิศวกรรม, พัฒนาสถานประกอบการชิ้นส่วนอากาศยาน, พัฒนาสถานประกอบการ เครื่องจักรและหุ่นยนต์, ยกระดับบุคลากรด้านชิ้นส่วนอากาศยาน, พัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม, พัฒนาผู้ประกอบการสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่
ส่วน STRONG ใช้งบประมาณ 513,667,100 ล้านบาท โครงการที่ให้การสนับสนุน ประกอบด้วย ส่งเสริมการสร้างเอสเอ็มอีอัจฉริยะ, เชื่อมโยงเครือข่ายอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ, พัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์,เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์, อุปกรณ์โทรคมนาคม, เครื่องมือและการแพทย์,แฟชั่นและไลฟ์สไตล์, เกษตรแปรรูป, อาหารแปรรูป, อุตสาหกรรมฮาลาล, ไบโอชีวภาพ และดิจิตอล, เพิ่มศักยภาพ SMEs ในภาคอุตสาหกรรม, การพัฒนาอุตสาหกรรมโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา, ส่งเสริมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมชุมชน, พัฒนาสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ก้าวสู่สังคมดิจิตอล และการยกระดับสินค้า OTOP ด้วยเทคโนโลยี
สำหรับในส่วน SUSTAIN ใช้งบประมาณ 130,917,600 ล้านบาท ซึ่งโครงการที่ กสอ.สนับสนุน ได้แก่ บำรุงสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศ, สนับสนุนการตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาล, เพิ่มศักยภาพเพื่อเข้าสู่ซูเปอร์คลัสเตอร์,พัฒนาเครือข่ายในรูปแบบคลัสเตอร์, สนับสนุนปัจจัยเอื้อต่อการประกอบกิจการ, พัฒนาการร่วมกลุ่ม OTOP (Cluster OTOP), พัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, พัฒนาบรรจุภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ และพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างงานที่ยังยื่นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
นายพสุกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาได้มีสำรวจปัญหาและผลกระทบต่อการพัฒนาSMEs จำนวน 5,000 ราย พบว่า SMEs ไทย มีปัญหาหลัก 8 ข้อ ได้แก่ ปัญหาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม, ปัญหาด้านการผลิต, ปัญหาด้านการตลาด, ปัญหาการอยู่ร่วมกันในสังคม, ปัญหาด้านการเงิน, ปัญหาด้านบุคลากร ,ปัญหาด้านการจัดซื้อและปัจจัยการผลิต, ปัญหาด้านการบริหารองค์กรและกลยุทธ์
โดย 3 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบและมีอุปสรรคมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก และแก้ว, อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ทั้ง 3 อุตสาหกรรมถือว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และหาก SMEs ยังไม่สามารถปรับตัวหรือได้รับการพัฒนา ก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่อการจ้างงาน สัดส่วนการส่งออก และสัดส่วนมูลค่าเพิ่มตามมาในระยะยาว แต่ในทางกลับกัน จากการสำรวจยังพบว่าอุตสาหกรรมที่มีอุปสรรค์ในการดำเนินธุรกิจในช่วงนี้ น้อยสุด ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมยางพารา, อุตสาหกรรมพลาสติก และ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งทั้ง 3 อุตสาหกรรมมีการปรับตัวที่ดีขึ้นมาตลอด
ในส่วนของแผนการส่งผู้ประกอบการใหม่ ในปีงบประมาณ 2560 ทางกรมฯ ได้กำหนด SME และ START UP ไว้ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้ประกอบการใหม่ที่เริ่มต้นโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีความโดดเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์ กลุ่มนี้กรมฯ จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ กลุ่มที่ 2 กลุ่มผู้ประกอบการทั่วไป และกลุ่มที่ 3 กลุ่มผู้ประกอบการมีกิจการอยู่แล้ว แต่ข้ามไปทำธุรกิจใหม่ เช่น ทำอาหารอยู่แล้วข้ามไปทำอาหารที่เป็นออร์แกนิค เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ 1 และ 3 ทางกรมฯ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ พร้อมกับจัดทำโครงการสร้างธุรกิจใหม่ (NBC) รองรับการพัฒนาผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ด้วย นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ หรือ NEC ยังคงอยู่ดำเนินการเช่นเดียวกับทุกปี โดยกรมฯ ตั้งเป้าที่ผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ ไม่น้อยกว่า 5,200 ราย ในปี 2560
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *