นายกสมาคมธุรกิจไม้ ชงเรื่องแก้กฎหมายป่าไม้ เสนอประชารัฐ ก่อนนำเรื่องเข้า ครม. ชี้วิกฤตอุตสาหกรรมไม้ทำยอดส่งออกวูบติดต่อกันมากว่า 15 ปี ถึงเวลาที่ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด SMEs ก่อนเสียตลาดเฟอร์นิเจอร์ไม้ทั้งหมดให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน ด้าน สวทช.เตรียมเปิดรับ 10 บริษัท ร่วมโครงการ 3 ปี วิเคราะห์ปัญหารับมืออุตสาหกรรมไม้วิกฤต
นายจิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ กล่าว ภายในงานสัมมนา “ตอบโจทย์ความคิด: ทำธุรกิจเชิงรุกยุคดิจิทัล” ภายใต้โครงการ “การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของ SMEs อุตสาหกรรมผลิตไม้” จัดโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โปรแกรม iTAP และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับสมาคมธุรกิจไม้ ถึงแนวทางการรับมือของกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ในยุควิกฤตเศรษฐกิจว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่สมาคมฯ มองว่าจะต้องเร่งดำเนินการ คือ การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ และเฟอร์นิเจอร์ เพราะที่ผ่านมา ประเทศไทยเจอปัญหากฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ที่เข้มงวดอย่างมาก ทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเฟอร์นิเจอร์ ยอดส่งออกตกลงไปทุกปี
ทั้งนี้ เมื่อ 15 ปีก่อน ส่งออกผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้สูงเป็นอันดับต้นในอาเซียน ถึงปีละ 50,000 ล้านบาท ปัจจุบันยอดส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ตกลงไปเหลือเพียงปีละ 30,000 ล้านบาทเท่านั้น และถ้ากฎหมายยังเข้มงวดเรื่องการส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้จะยิ่งส่งผลต่อการทำตลาดต่างประเทศและการส่งออกตกลงไปเรื่อย ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา อย่าง ประเทศเวียดนาม เคยเดินทางมาดูงานด้านเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่บ้านเรา วันนี้ยอดส่งออกปีหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 1 แสน 8 หมื่นล้านบาท หรืออินโดนีเซีย ยอดส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้สูงถึง 1 แสน 2 หมื่นล้านบาท
นายจิรวัฒน์กล่าวต่อว่า สิ่งนี้คือหนึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกที่เราต้องรีบแก้ไขเพื่อรักษาตลาดเฟอร์นิเจอร์ไม้ในต่างประเทศของไทยไว้ก่อนที่จะโดนประเทศเพื่อนบ้าน หรือจีน แย่งตลาดไปทั้งหมด โดยขณะนี้ทางสมาคมฯ ได้หารือกับทางกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นด้วยกับข้อเสนอของเรา และตอนนี้ได้ทำเรื่องไปที่ ประชารัฐ ทางประชารัฐได้รับเรื่องไว้แล้ว และจะนำเรื่องเข้าหารือที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาเรื่องกฎหมายป่าไม้ที่ทำให้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ และเฟอร์นิเจอร์ไม้ได้ยาก แล้ว ทางผู้ประกอบการธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ยังต้องเจอกับปัญหาการแข่งขันในตลาดที่มีสูงจากประเทศรอบบ้าน ที่ผลิตในระดับแมสโปรดักต์ทำให้สามารถทำราคาได้ถูกลง และผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว การปรับตัวทำได้หลายแนวทาง ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างไม่หยุดนิ่ง ซึ่งจะได้รับความช่วยเหลือจากทางด้าน สวทช.นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การปลูกไม้ให้ได้คุณภาพ
นอกจากนี้ ในเรื่องของตัวผลิตภัณฑ์ต้องนำเรื่องของ Innovation หรือการตลาด ต้องเข้าถึงลูกค้าในทุกช่องทาง โดยเฉพาะการเข้าถึงลูกค้าในช่องทางดิจิตอลเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เพราะปัจจุบันพบว่าการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ หรือของแต่งบ้านของคนทั่วโลกต้องค้นหาในอินเทอร์เน็ตก่อนและนำมาเปรียบเทียบทั้งคุณภาพและราคาก่อนจะไปซื้อจริง และอีกทางหนึ่งคือ หนีการแข่งขันในระดับแมสมาเป็นการทำตลาดในแบบที่ลูกค้าสามารถสั่งซื้อแบบเดียว ชิ้นเดียวได้ และการบวกกำไรมากๆ ไม่ใช่สูตรสำเร็จของธุรกิจอีกต่อไป การได้กำไรที่พอประมาณ จะนำพาธุรกิจสู่ความสำเร็จได้
ดังนั้น การปรับตัวของ SMEs ตอนนี้ทำได้จะต้องเป็น Niche Development ในทุกด้าน ทั้งการออกแบบ การผลิต และการตลาด รวมถึงการทำธุรกิจแบบต้องมีเครือข่าย รวมถึงการเป็นเครือข่ายกับสมาคม สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม เชื่อมโยงกับหน่วยงานของภาครัฐ เพื่อจะได้รับการซัปพอร์ตโดยไม่ปล่อยโอกาสให้ผ่านเลยไป
ในส่วนของการแข่งขันหลังเปิด AEC มีทั้งบวกและลบ สิ่งดีที่สุดคือ การตั้งรุกรับมือ โดยพยายามหาจุดแข็งของตัวเอง และเลือกโฟกัสตลาดไปตรงที่เราคิดว่า เรามีจุดแข็งแบบลงลึก ที่ผ่านมาจะเห็นการปรับตัวของ SMEs หลังเปิดประชาคมอาเซียน บางคนจากเป็นผู้ส่งออกกลายเป็นผู้นำ หรือเทรดเดอร์แทน เป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้ SMEs เอาตัวรอดและผ่านพ้น ไปได้ในยุควิกฤติเศรษฐกิจ
ด้าน น.ส.ชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือไอแทป (iTAP) กล่าวว่า โครงการiTAPได้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ “การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของ SMEs อุตสาหกรรมไม้ โดยมีเงื่อนไขว่าผู้เข้าร่วมอบรมจะต้องเป็นเจ้าของกิจการ 1 ราย และเจ้าหน้าที่บริษัท 1 ราย มาอบรมร่วมกัน ตลอดหลักสูตรอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง นอกจากนี้ยังเปิดรับผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมไม้จำนวน 10 บริษัท มาร่วมวิเคราะห์ปัญหาความต้องการไปกับเรา โดยใช้ PIZZA MODEL ตอบโจทย์ทั้ง 6 ด้าน ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยทางไอแทป สนับสนุนค่าใช้จ่าย ในการทำเวิร์คชอปร่วมกันเป็นระยะเวลา 3 ปี จำนวน 5-10 ครั้ง
สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 0-2564-7000
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *