กระทรวงพาณิชย์รุกธุรกิจก่อสร้าง ชูต้นแบบ 30 รายเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจ หวังเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้า เตรียมผลักดันเข้าตลาดประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังเร่งลงทุนขยายโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ แนะใช้ไอทีในการบริหารจัดการโครงการ บริหารงานการตลาด และใช้นวัตกรรมขยายฐานลูกค้าทั้งไทยและเทศ มั่นใจก่อสร้างไทยฝีมือดีเป็นที่ต้องการของตลาดโลก
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งส่งเสริมธุรกิจบริการของไทยทุกประเภทให้มีความเข้มแข็ง มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อให้ภาคธุรกิจบริการของไทยมีความพร้อมในการแข่งขันและสามารถส่งออกภาคบริการสู่ตลาดต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพด้านการให้บริการที่เป็นเลิศจนเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยมีจุดแข็ง คือ ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ มีฝีมือและหัวใจบริการที่ยึดความพึงพอใจและการตอบสนองของลูกค้าเป็นหลัก ที่จะรองรับโอกาสที่ดีของไทยในการใช้ธุรกิจบริการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ โดยหนึ่งในธุรกิจบริการที่กระทรวงฯ ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนา คือ ธุรกิจบริการก่อสร้างและวิศวกรรม
“กรมฯ ได้ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจบริการก่อสร้างและวิศวกรรมของไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นพัฒนาด้านการบริหารจัดการธุรกิจให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ล่าสุดได้ดำเนินการพัฒนาธุรกิจบริการก่อสร้างและวิศวกรรมไทยให้เป็นต้นแบบเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจ ประกอบด้วยหมวดคุณภาพ 5 ด้าน คือ 1. ด้านการให้บริการ 2. ด้านการตลาด 3. ด้านบุคลากร 4. ด้านบริหารจัดการธุรกิจ และ 5. ด้านผลประกอบการ”
ทั้งนี้ ผู้ที่จะผ่านเกณฑ์มาตรฐานฯ ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินครบทั้ง 5 ด้าน โดยกรมฯ ได้มีการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการบริหารจัดการธุรกิจฯ ที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารต้นทุน การจัดทำบัญชีอย่างเป็นระบบเพื่อให้รู้และเข้าใจถึงสถานการณ์บริหารจัดการทางการเงิน รวมถึงการศึกษา วิเคราะห์ สภาพปัญหา จุดอ่อนจุดแข็งของธุรกิจ เพื่อให้ภาคธุรกิจนำไปประยุกต์ใช้และปรับปรุงการดำเนินกิจการของแต่ละองค์กรเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างมั่นคงเข้มแข็ง
อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้คัดเลือกธุรกิจบริการก่อสร้างและวิศวกรรมไทยที่ผ่านการพิจารณาจำนวน 5 ราย เพื่อเป็นธุรกิจบริการก่อสร้างและวิศวกรรมต้นแบบ (Best Practice) ได้แก่ 1. บจ. เปป เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 2. บจ. นิวเทคโนโลยี่ เอ็นจิเนียริ่งคอนสตรัคชั่น 3. บจ. เมคเคอร์โฮม 4. บจ. ไทยเซอิ (ไทยแลนด์) และ 5. บจ. ชำนาญกิจ วิศวกรรม
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังมีนโยบายส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการก่อสร้างฯ ขยายตลาดสู่กลุ่มประเทศอาเซียนด้วย โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังให้ความสำคัญต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาประเทศ ซึ่งธุรกิจบริการก่อสร้างฯ เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานฯ ธุรกิจบริการก่อสร้างฯ ของไทย จึงควรเร่งสร้างมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเตรียมความพร้อมของธุรกิจอย่างเต็มที่เพื่อให้พร้อมขยายธุรกิจสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และคาดว่าธุรกิจบริการก่อสร้างฯ ของไทยจะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี เนื่องจากเทคโนโลยี แรงงานก่อสร้าง และวิศวกรรมของไทยมีฝีมือดีเป็นที่ยอมรับ
อย่างไรก็ตามแม้แนวโน้มด้านตลาดที่ขยายเพิ่มมากขึ้น แต่แนวโน้มด้านนวัตกรรมวัสดุและเทคโนโลยีการก่อสร้างใหม่ๆ ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างต้องมีการเรียนรู้และปรับตัวจากการก่อสร้างโดยใช้แรงงานจำนวนมาก มาเป็นวิธีการประกอบจากวัสดุก่อสร้างสำเร็จรูป รวมถึงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ ซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชันต่างๆ เข้ามาใช้ ตั้งแต่การออกแบบ การบริหารโครงการก่อสร้าง จนกระทั่งการบริการหลังการขาย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มฐานลูกค้าให้กว้างขวางมากขึ้น และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจให้มีความเข้มแข็งรองรับการขยายตัวภาคเศรษฐกิจของประเทศ
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *