มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดตัว “เครื่องอบกึ่งอัตโนมัติ” คาดหวังยกระดับเกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEsไทย ได้เข้าถึงเทคโนโลยีเครื่องจักรในราคาไม่แพง สามารถเพิ่มรายได้ให้มีชีวิตที่ดีขึ้น โดยเครื่องดังกล่าวสามารถอบพริก ใบมะกรูด ตะไคร้ ขิง ข่า ใบกะเพรา ลูกหม่อนได้
ผศ.ดร.ธีรวัฒน์ เหล่านภากุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า การผลิตเครื่องอบกึ่งอัตโนมัติมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ผู้ประกอบการในชุมชนผู้ปลูกพริก โดยเฉพาะเกษตรกรและผู้ประกอบการแปรรูปพริกในท้องถิ่น แปรรูปพืชเศรษฐกิจให้มีคุณภาพ เก็บไว้เพื่อเป็นเครื่องปรุงหรือใช้ในช่วงที่ขาดแคลนพริก ตลอดจนมีผลิตภัณฑ์คุณภาพเพื่อการส่งออกได้ โดยสามารถอบพริกสดจำนวนกว่า 20 กิโลกรัม ภายใน 5 ชั่วโมง ทั้งนี้ สามารถควบคุมความชื้นให้ต่ำกว่าร้อยละ 14 ฐานเปียก และมีสีสดตามความต้องการ หากต้องการสีสดใช้อุณหภูมิต่ำ (เวลานาน) หากต้องการสีเข้มใช้อุณหภูมิสูง (เวลาน้อย) ตลอดจนควบคุมการปนเปื้อนจากแมลง หนู นก และจุลินทรีย์ต่างๆได้ ซึ่งเหมาะสมกับวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม (SMEs)
นอกจากนี้ เครื่องอบกึ่งอัตโนมัติยังสามารถใช้ได้กับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น อาทิ ใบมะกรูด ตะไคร้ ขิง ข่า ใบกะเพรา ลูกหม่อน ฯลฯ แปรรูปอบแห้ง พืชเศรษฐกิจอื่นๆ เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตสินค้าคุณภาพสูงแข่งขันยังตลาดสากลได้
ด้าน ผศ.ดร.ธนา ราษฎร์ภักดี อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า เครื่องอบกึ่งอัตโนมัตินี้สามารถผลิตได้ด้วยวัสดุและอุปกรณ์ที่มีอยู่ในประเทศ โดยมีส่วนประกอบหลักอยู่ 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ต้นกำเนิดลมร้อนทำหน้าที่รับพลังงานไฟฟ้ามาแปลงเป็นพลังงานความร้อนให้กับอากาศภายในช่องเตรียมอากาศร้อน ส่วนที่ 2 ถังอบเก็บผลิตภัณฑ์แบบหมุนทำหน้าที่รักษาความหนาของชั้นผลิตภัณฑ์ระหว่างอบด้วยแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง ส่วนที่ 3 ส่วนเป่าทำหน้าที่เป่าลมร้อนที่สามารถปรับการควบคุมความดันด้านส่งไปยังถังอบได้ ทำให้สามารถปรับระยะเวลาการถ่ายเทความร้อนของลมร้อนให้เหมาะกับลักษณะของผลิตภัณฑ์ได้ และส่วนที่ 4 แผงควบคุมคือส่วนเอาไว้ควบคุมความชื้น อุณหภูมิและความเร็วของลมร้อนระหว่างอบผลิตภัณฑ์
“การออกแบบเครื่องอบกึ่งอัตโนมัตินี้ มีระบบลมร้อนที่สามารถอบพริกได้มากกว่า 20 กิโล สร้างแรงดันส่งลมร้อนได้สูงสุดถึง 50 มิลลิบาร์ สามารถปรับความเร็วรอบของถังอบเพื่อให้พริกสัมผัสกับอากาศร้อนได้ดีขึ้น และในอนาคตสามารถเชื่อมต่อออกเป็นสองถังซึ่งจะอบพริกได้ราว 40 กิโลกรัม เครื่องนี้มีอุณหภูมิสูงสุด 140 องศา แต่ที่ใช้อบพริกจริงจะอยู่ที่ 80 องศา หรือไม่เกิน 85 องศา ซึ่งค่านี้จะทำให้สีผลิตภัณฑ์มีสีค่อนข้างสวย และลดความชื้นได้ต่ำกว่าร้อยละ 14 ซึ่งเป็นระดับความชื้นที่ปลอดภัย ไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อราที่ก่อให้เกิดสารอะฟลาทอกซินเป็นสาเหตุของมะเร็งในร่างกาย หลักการของเครื่องคือ การนำเอาลมร้อนเข้าไปขจัดความชื้นทั้งในผลิตภัณฑ์และอากาศ ทำให้เกิดการระเหย โดยความร้อนที่เหลือจะถูกส่งไปยังท่อนำกลับไปใช้ใหม่เป็นการประหยัดพลังงานจากส่วนที่ 1 นอกจากนี้อาศัยการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงค่าความความชื้นของอากาศในถังอบทำให้สามารถประเมินค่าความชื้นสุดท้ายของผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย” ผศ.ดร.ธนากล่าว
จากสถิติการนำเข้าพริกของกรมศุลกากรปี 2553 พบว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าพริกแห้งเป็นมูลค่าสูงถึง 519 ล้านบาท โดยนำเข้าส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน อินโดนีเซีย และอินเดีย แสดงให้เห็นว่าความต้องการใช้พริกแห้งมีมากขึ้น แต่ปริมาณ คุณภาพและราคาของพริกในประเทศผลิตได้ไม่สอดคล้องหรือสม่ำเสมอกับความต้องการใช้ของผู้บริโภค เชื่อว่าการวิจัยและพัฒนา เครื่องอบกึ่งอัตโนมัติ สำหรับผู้ประกอบการและเกษตรกรชุมชนผู้ปลูกพริกในท้องถิ่น จะสามารถเอื้ออำนวยให้สามารถผลิตพริกแห้งและพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก ตลอดจนช่วยเพิ่มศักยภาพให้ชุมชน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ขยายเศรษฐกิจของวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม (SMEs) ไทยในท้องถิ่นไปสู่ตลาดโลกได้ในที่สุด
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหรือเกษตรกรที่สนใจนวัตกรรม สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทรศัพท์ 0-4320-2697
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *