xs
xsm
sm
md
lg

SMEs Boost up:“ปรับเปลี่ยนให้เร็ว” ทางรอดสตาร์ตอัพไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัมมนาหัวข้อ “เส้นทางเศรษฐีหน้าใหม่ สตาร์ตอัพพันธุ์ไทย”
ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา “นิตยสารเส้นทางเศรษฐี” จัดงานสัมมนาให้ความรู้ผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้หัวข้อ “เส้นทางเศรษฐีหน้าใหม่ สตาร์ตอัพพันธุ์ไทย” โดยมีวิทยากรรับเชิญหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ “สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์” ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมธุรกิจ และ DTAC Accelerate มือปั้นสตาร์ตอัพจากค่ายดีแทค ผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการนี้มากว่า 12 ปี
สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์
ประเด็นที่น่าสนใจของกลุ่มสตาร์ตอัพ (Start-up) นั้น สมโภชน์ บอกว่า เป็นเรื่องที่ดีมากที่รัฐบาลให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนสตาร์ตอัพ หรือผู้ประกอบการเกิดใหม่อย่างเต็มที่ ถึงแม้จะเพิ่งเริ่ม แต่ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี แต่หากเทียบกับต่างประเทศ อย่างประเทศเวียดนาม ถือว่าล้ำหน้ากว่าไทยไปหลายก้าว เพราะรัฐบาลเวียดนามให้การสนับสนุนมาเป็นเวลา 2 ปี และในฐานะที่ “สมโภชน์” เป็นมือปั้นสตาร์ตอัพ มีตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจบอกไว้ว่า

“จากการสำรวจตัวเลขการทำธุรกิจของกลุ่มสตาร์ตอัพ พบว่า มีธุรกิจที่รอดเพียง 10% ส่วนอีก 10% ลูกผีลูกคน ไม่รู้ว่าจะรอดหรือไม่ และที่เหลืออีก 80% ไม่รอด”

ตัวเลข 80% อาจเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ แต่สมโภชน์ชี้ว่า เป็นเรื่องปกติเพราะสตาร์ตอัพเหมือนธุรกิจเกิดใหม่ที่ลองผิดลองถูก แต่เชื่อว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นเมื่อสตาร์ตอัพทำธุรกิจโดยมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เห็นได้จากตอนนี้การทำธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น facebook หรือ line ที่หันมารุกธุรกิจนี้

ปัจจุบันมีผู้ใช้ facebook อยู่ 1,600 ล้านคน และ line กว่า 500 ล้านคน ช่องทางเหล่านี้หากรู้จักใช้ จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ปัจจัยที่คนทำธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ตอัพ ต้องตระหนักให้มาก คือ การทำธุรกิจ เวลาประสบปัญหาต้องรีบค้นหาให้เจอว่า ปัญหานั้นคืออะไร และทีมที่เข้าไปแก้ก็ต้องรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น สามารถประมวลปัญหาให้ได้ว่า ต้นตอเกิดจากอะไร และจะมีวิธีแก้ปัญหาได้อย่างไร

“ผมมองว่า 2 สิ่งนี้สำคัญมาก ธุรกิจที่ไปไม่รอดเพราะไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไร และทีมงานไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ธุรกิจจะจบทันที ที่สำคัญการปรับเปลี่ยนไปตามสภาวะแวดล้อม หรือการปรับตัวก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีไอทีเข้ามาช่วย เพราะจะทำให้เกิดความคล่องตัว โมเดลธุรกิจของสตาร์ตอัพ ถ้าสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งเงินจากนักลงทุนก็จะดี แต่ถ้ามีนักลงทุนสนใจเข้ามาร่วมลงทุนด้วย ก็ต้องรู้จักบริหารจัดการ จะส่งผลให้ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถเติบโตแบบก้าวกระโดด”
กิตตินันท์ อนุพันธ์
ขณะที่ กิตตินันท์ อนุพันธ์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท Anywhere to go เจ้าของซอฟต์แวร์ เคลมดิ (ClaimDi) สตาร์อัพชื่อดัง ชี้ให้เห็นว่า ความท้าทายของสตาร์ตอัพคือ การลองหรือทดลอง ถ้าทดลองทำแล้วได้ดีก็ทำต่อ แต่ถ้าลองแล้วไปไม่ได้ ต้องอย่าฝืน เพราะที่ผ่านมาหลายรายที่ทำธุรกิจแล้วไปไม่ได้ แต่ยังเชื่อมั่นในตัวเองและทำต่อ สุดท้ายก็ล้ม สิ่งที่ต้องแก้คือ เมื่อธุรกิจไปไม่ได้ ต้องรู้จักการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนให้ตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่าจมกับสิ่งที่ไม่เติบโต หรือไปต่อไม่ได้ เพราะเมื่อล้มแล้วคุณไม่ได้ล้มแค่คนเดียว แต่ทุกอย่างจะล้มไปพร้อมๆ กัน

“การบริหารเรื่องเงินทุน ควรบริหารธุรกิจโดยเริ่มจากเล็กๆ ด้วยเงินก้อนเล็กก่อน อย่าใจร้อน ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป”

ส่วนสตาร์ตอัพ ที่เขามองว่าน่าลงทุนในขณะนี้ ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นธุรกิจไหน แต่ที่น่าสนใจขณะนี้มี 6 เซคเตอร์ ประกอบด้วย การเงิน, สุขภาพ, การศึกษา, อีคอมเมิร์ซ, อสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรม ที่มีการนำเทคโนโลยีไอที เข้ามามีส่วน เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ จะเป็นธุรกิจที่มาแรงขึ้นๆ ในอนาคต

“ผมอยากให้แรงบันดาลใจของสตาร์ตอัพเกิดจากตัวเอง ไม่ได้เกิดจากการที่เห็นคนอื่นทำหรือสิ่งกระตุ้นรอบตัว” นี่คือบทสรุปทิ้งท้ายสำหรับเหล่าบรรดา กูรูสตาร์ตอัพ ในยุคนี้

บทความโดย: บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น