xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ชี้ กม.ฟื้นฟูกิจการช่วยชุบชีวิต SMEs เตรียมโรดโชว์ 25 จว.ทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกฯ กล่าวในงาน งาน “สานพลัง SMEs พลิกฟื้นยืนได้ ใส่ใจผู้ประกอบการ”
นายกรัฐมนตรีกล่าวในงาน “สานพลัง SMEs พลิกฟื้นยืนได้ ใส่ใจผู้ประกอบการ” ชี้ประเทศไทยถอยหลังจมความขัดแย้งแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว ระบุกฎหมายฟื้นฟูกิจการสร้างความเท่าเทียมกันของทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก ด้าน รมว.ยุติธรรม ชี้ไทยเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชียที่ใช้กฎหมายฟื้นฟูกิจการ ขณะที่ ผอ.สสว.ตั้งเป้าผลักดัน SMEs เข้าร่วมโครงการกว่า 7,400 ราย เตรียมจัดโรดโชว์ 25 จังหวัดทั่วประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในงาน “สานพลัง SMEs พลิกฟื้นยืนได้ ใส่ใจผู้ประกอบการ” ว่าประเทศไทยต้องเดินไปข้างหน้า ถอยหลังไปกับความขัดแย้งอีกไม่ได้แล้ว เพราะติดกับดักประเทศยากจนมาช้านาน โดยประเทศไทยเดินไปข้างหน้า 3 อย่าง คือ การเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว โดย SMEs เป็นกลไกการขับเคลื่อนที่สำคัญ ดังนั้น สิ่งที่เราจะต้องทำตอนนี้ คือ ปฏิรูป ปฏิวัติ ให้ SMEs พัฒนาขึ้นไปสู่เวทีระดับโลกให้ได้ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า รวมถึงปัญหาต่างๆ ของ SMEs จะต้องได้รับการแก้ไข

ทั้งนี้ กฎหมายฟื้นฟูกิจการจะเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลชุดนี้นำมาช่วยเหลือ SMEs การแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ฟื้นฟูกิจการนั้นไม่ได้มีการแก้ไขมาตั้งแต่ปี 2443 และได้มาแก้ไขปี 2558 เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน การทำงานของเราจะไม่มีการแบ่งแยกว่าพวกใคร ทุกอย่างทำอย่างเท่าเทียมภายใต้การทำงานของข้าราชการ ต้องปฏิบัติตามรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากไหน หรือรัฐบาลทหารก็ตาม

นายกฯ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีเงินจำกัด อาจจะช่วยเหลือไม่ได้ทั้งหมด ส่วนหนึ่งต้องการเห็นประชาชน รวมถึง SMEs ช่วยเหลือตัวเองด้วย เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องใส่ใจ คือ เรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรม เพราะถ้าวันนี้รัฐเข้าไปช่วยเหลือแล้วแต่ก็ยังทำสินค้าขายไม่ได้ก็คงจะเดินหน้าไม่ได้ ซึ่งปัจจุบัน SMEs แบ่งตลาดออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. เกิดใหม่ 2. เติบโต 3. เข้มแข็ง และกลุ่มสุดท้าย 4. กลุ่มเลิกกิจการ ฟื้นฟูกิจการ ทุกกลุ่มมีความเท่าเทียม ได้รับการส่งเสริมด้านการตลาด ความรู้ด้านเทคโนโลยีจากทุกหน่วยงานของภาครัฐเหมือนกัน การมีกฎหมายฟื้นฟูกิจการขึ้นมาเพื่อเชื่อมต่อให้เกิดการแข่งขัน คนที่กลุ่มเลิกกิจการ ฟื้นฟูกิจการก็จะต้องทำการบ้านหนัก ต้องพัฒนาสินค้า ต้องมีนวัตกรรมเพื่อให้สินค้าของเราสามารถแข่งขันกับกลุ่มเติบโตแล้วได้ เพราะสุดท้ายทุกกลุ่มก็จะต้องเติบโต และส่งเสริมให้ประเทศเดินหน้าไปด้วยกัน

ด้าน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงรายละเอียดของแผนฟื้นฟูว่า ร่าง พ.ร.บ.ล้มลาย ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2559 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 เป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้ SMEs ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องไม่สามารถชำระหนี้ได้แต่ยังมีช่องทางในการดำเนินธุรกิจ สามารถยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการได้ เช่นเดียวกับบริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ลูกหนี้ที่ประกอบธุรกิจ SMEs จะได้มีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ทั้งหลาย และดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ปัจจุบัน ประเทศไทย เราเป็นประเทศที่ 3 ที่มีการใช้กฎหมายฟื้นฟูกิจการ ต่อจากประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
บรรยากาศในเวทีเสวนา
ด้านนางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวต่อว่า สำหรับกฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลที่มีวงเงินหนี้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ได้รับสิทธิประโยชน์ กล่าวคือ หากเจ้าหนี้หลักรับแผนฟื้นฟูแล้ว เจ้าหนี้อื่น จะมาฟ้องไม่ได้ ซึ่งจะทำให้การปรับโครงสร้างหนี้เป็นไปได้ง่ายขึ้น โอกาสที่เจ้าหนี้เดิมจะให้เงินกู้เพิ่มเพื่อ SMEs ไปดำเนินธุรกิจต่อจะสามารถทำได้ดีขึ้น ไม่ต้องกลัวเจ้าหนี้ที่เหลืออยู่มาฟ้อง ในส่วนของ SMEs กลุ่ม Turn Around ที่มาเข้าโครงการของ สสว.จะได้รับประโยชน์จากการนี้มาก สสว.จะประสานงานให้มีการยื่นแผนฟื้นฟู และมีโอกาสสูงมากที่จะมากู้เงินจากกองทุนพลิกฟื้นของ สสว. โดยทางจะมีการจัดงานในลักษณะนี้ทั่วประเทศในอีก 25 จังหวัด

จากข้อมูลทางการเงินของ SMEs พบว่า SMEs จำนวน 4.2 แสนรายนี้ มีจำนวน SMEs ถึง 70% มีหนี้สิ้นน้อยกว่า 3 ล้านบาท และ SMEs ที่มีหนี้สินอยู่ในช่วง 3-10 ล้านบาท มีอยู่ 12% หรือ ประมาณ 51,000 ราย และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า SMEs มีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมี SMEs ที่มีโอกาสใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.ฉบับนี้มากถึง 7,400 ราย โดยในส่วนของ ธพว.เองมีลูกหนี้ที่อยู่ในข่ายที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 568 ราย คิดเป็นวงเงินหนี้สินจำนวน 2,403 ล้านบาท ที่เหลือก็เป็นวงเงินหนี้จากสถาบันการเงินอื่นๆ ซึ่งในงานนี้ยังได้มีการเชิญสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์มาร่วมในงานนี้ด้วย

ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจจำนวนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่จดทะเบียนเป็น SMEs ในปี 2558 มีจำนวน 2,765,986 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 29,242 ราย โดยแบ่งเป็นนิติบุคคลเพิ่มขึ้น 23,310 ราย และวิสาหกิจชุมชน เพิ่มขึ้น 6,112 ราย นิติบุคคลที่เพิ่มขึ้นอยู่ในภาคบริการ 12,567 ราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจก่อสร้าง อาคาร ส่วนภาคการค้าเพิ่มขึ้น 7,498 ราย ภาคการผลิตเพิ่มขึ้น 3,056 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจไฟฟ้า และระบบปรับอากาศ และผลิตอาหาร ฯลฯ ซึ่งการสำรวจจะจัดทำทุก 5 ปี และในปี 2559 ทาง สสว.เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสำรวจในครั้งนี้ สสว.จึงได้จัดงบประมาณบางส่วน เพื่อให้ สำนักงานสถิติแห่งชาติไปดำเนินการสำรวจเก็บข้อมูลพื้นฐานของผู้ประกอบการในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่ที่มี SMEs มากที่สุด และสำรวจยากที่สุดด้วย

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น