สสว.-เอสเอ็มอีแบงก์-กรมบังคับคดี ร่วมจัดมหกรรมสร้างความเข้าใจแก่ SMEs ในกฎหมายฟื้นฟูกิจการ ช่วยเอสเอ็มอีวงเงินหนี้ไม่เกิน 10 ล้านปรับโครงสร้างง่ายขึ้น รวมถึงแนะนำโครงการเงินกู้เพื่อปลุกชีพธุรกิจ เชื่อผู้ประกอบการได้รับประโยชน์กว่า 7,400 ราย พร้อมมีบริการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. กรมบังคับคดี และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์ หรือ พ.ร.บ.) ได้ร่วมกันจัดงาน “สานพลัง SMEs พลิกฟื้นยืนได้ ใส่ใจผู้ประกอบการ” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ 27 มิ.ย.นี้
ทั้งนี้ ความสำคัญ คือ ผู้ประกอบการ SMEs จะได้ทราบถึง พ.ร.บ.ฟื้นฟูกิจการ (พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2559) และความเป็นมาของโครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับ รูปแบบการดำเนินงาน ตลอดทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเชิญเจ้าหนี้ เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทบริหารสินทรัพย์ เชิญลูกหนี้มาร่วมกิจกรรมปรับโครงสร้างหนี้ปรับแผนธุรกิจกันภายในงาน
“กฎหมายฉบับนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลที่มีวงเงินหนี้ไม่เกิน 10 ล้านบาทได้รับสิทธิประโยชน์ กล่าวคือ หากเจ้าหนี้หลักรับแผนฟื้นฟูแล้วเจ้าหนี้อื่นจะมาฟ้องไม่ได้ ซึ่งจะทำให้การปรับโครงสร้างหนี้เป็นไปได้ง่ายขึ้น โอกาสที่เจ้าหนี้เดิมจะให้เงินกู้เพิ่มเพื่อ SMEs ไปดำเนินธุรกิจต่อจะสามารถทำได้ดีขึ้น ไม่ต้องกลัวเจ้าหนี้ที่เหลืออยู่มาฟ้อง ในส่วนของ SMEs กลุ่ม Turn Around ที่มาเข้าโครงการของ สสว.จะได้รับประโยชน์จากการนี้มาก สสว.จะประสานงานให้มีการยื่นแผนฟื้นฟูและมีโอกาสสูงมากที่จะมากู้เงินจากกองทุนพลิกฟื้นของ สสว.” นางสาลินีกล่าว
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวถึงรายละเอียด พ.ร.บ.ฟื้นฟูกิจการว่า ตามที่กรมบังคับคดีได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2559 การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 และมีผลใช้บังคับวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 เพื่อเปิดโอกาสเป็นครั้งแรกให้ธุรกิจ SMEs ที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระหนี้ได้ แต่ยังมีช่องทางในการดำเนินธุรกิจสามารถยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการได้ เช่นเดียวกับบริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด อันเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้ลูกหนี้ที่ประกอบธุรกิจ SME จะได้มีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ทั้งหลาย และดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ตามข้อมูล สสว.โดยดูจากงบการเงินปีล่าสุดคือ ปี 2557 ของ SME ประมาณ 4.2 แสนรายนั้น พบว่า 70% แสดงหนี้สินน้อยกว่า 3 ล้านบาท และมี SMEs ที่มีหนี้สินอยู่ในช่วง 3-10 ล้านบาท มีอยู่ 12% หรือประมาณ 51,000 ราย ซึ่งเมื่อดูในรายละเอียดเพิ่มขึ้นแล้วพบว่า SMEs ที่มีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาซึ่งน่าจะเป็น SMEs ที่มีโอกาสใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.ฉบับนี้มีจำนวนประมาณ 7,400 ราย อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาและมียอดหนี้ไม่ต่ำกว่าสามล้านบาทก็ยังน่าจะมีอยู่อีกจำนวนหนึ่งโดยในส่วนของ ธพว.มีลูกหนี้ที่เป็นรายย่อยจำนวนมาก และจำนวนลูกหนี้ที่อยู่ในข่ายที่จะต้องปรับโครงสร้างหนี้มีจำนวน 568 ราย มียอดหนี้สินรวม 2,403 ล้านบาท
ด้านนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า ขณะนี้มีลูกหนี้เอสเอ็มอีเข้าข่ายดึงเข้ามาจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการประมาณ 5,800 ราย มูลหนี้ประมาณ 2,400 ล้านบาท เนื่องจากเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้ 1-2 เดือนจึงไม่ต้องการ เมื่อจัดทำแผนร่วมกับเอสเอ็มอีแบงก์แล้ว จะไม่มีเจ้าหนี้รายอื่นมาฟ้องร้องภายหลังภายใน 3 ปี และเมื่อผู้ประกอบการเข้ายื่นขอสินเชื่อฟื้นฟูกิจการโดยไม่คิดดอกเบี้ยจาก สสว.ไปแล้ว หลังจากนั้นเอสเอ็มอีแบงก์จะพิจารณาปล่อยสินเชื่อเพิ่มภายหลังคิดดอกเบี้ยแบบผ่อนปรนร้อยละ 4 วงเงินสินเชื่อประมาณ 3-4 ล้านบาทต่อราย
สำหรับกิจกรรมในงาน ช่วงเช้าจะมีการเสวนาเจาะลึกกฎหมายฟื้นฟูกิจการ โดย น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี และการเสวนา “พลิกฟื้นยืนได้ เติบโตมั่นคง” โดยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ผู้บริหารธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และผู้ประกอบการ SMEs และกิจกรรมในภาคบ่าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายแก่สถาบันการเงินและผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมงาน
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *