“อากาศดีที่สุดในประเทศไทย” วลีเด็ดที่ชาวบ้านในหมู่บ้านคีรีวง ต.กำโลน อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช จะติดป้ายไว้หน้าบ้านแทบทุกหลัง จากนั้นจะตามด้วยเลขที่บ้าน สื่อถึงความภาคภูมิใจในถิ่นกำเนิด กับพื้นที่แอ่งกระทะที่มีภูเขาล้อมรอบ อากาศดีตลอดปี ทำให้ล่าสุดขึ้นแท่นเป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมนำร่องเพื่อการท่องเที่ยว ควบพัฒนาวิสาหกิจชุมชนยั่งยืน
เมื่อผู้คนต้องการอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น กระแสการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์จึงเติบโตอย่างรวดเร็ว หลายหน่วยงานลงพื้นที่สำรวจความพร้อมของชาวบ้าน ผสานคำแนะนำและความช่วยเหลือ เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเยี่ยมเยือนธรรมชาติแบบใกล้ชิด
หมู่บ้านคีรีวง ต.กำโลน อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช จึงเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่กำลังเติบโต จากจุดขาย “หมู่บ้านอากาศดีที่สุดในประเทศไทย” ห้อมล้อมด้วยหุบเขา มีวิถีชีวิตหากินอยู่กับป่า พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ในวิถีธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ มีการทำ 'สวนสมรม' ปลูกพืชแบบสวนผสม ให้เติบโตเองตามธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งแม้ชุมชนนี้ จะผ่านการต่อสู้กับวิกฤตธรรมชาติมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็กลับมายืนหยัดพลิกฟื้นผืนดินได้ทุกครั้ง จากความอุตสาหะพยายามของผู้นำชุมชนที่มีความเข้มแข็ง สามารถรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มองค์กรของชาวบ้านอย่างหลากหลาย โดยมีประชากรในหมู่บ้านกว่า 3,000 คน มีอาชีพหลักเป็นเกษตรกรทำสวนผสม และเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของภาคใต้ที่ปลูกพืชต่างๆ ในพื้นที่เดียวกัน โดยไม่ทำลายพืชดั้งเดิมที่มีอยู่ ซึ่งผลิตผลทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อของคีรีวง คือมังคุด เงาะ ทุเรียน และสะตอ
นอกจากจุดขายในเรื่องของธรรมชาติ และอากาศบริสุทธิ์แล้ว ชุมชนบ้านคีรีวง ยังมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมหลากหลายกิจกรรม เช่น กลุ่มลายเทียนบาติกสีธรรมชาติ กลุ่มลูกไม้ กลุ่มบ้านสมุนไพร กลุ่มแม่บ้านทุเรียนกวนบ้านคีรีวง กลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นต้น โดยชาวบ้านจะเน้นผลผลิตที่ได้จากวัตถุดิบในชุมชนเป็นหลักด้วยวิถีชีวิตของชุมชนคีรีวงจะมีความสัมพันธ์กับป่า และสิ่งแวดล้อมที่สั่งสมมายาวนาน มีการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำโดยชุมชน จากทรัพยากรที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์เหล่านี้ชุมชนคิดว่าควรจะได้มีการนำวัตถุดิบจากธรรมชาติมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างคุ้มค่าโดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
จากจุดเด่นนี้เองทำให้ “หมู่บ้านคีรีวง” ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 6 'หมู่บ้านอุตสาหกรรม เพื่อการท่องอย่างยั่งยืน' ภายใต้โครงการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรม ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ร่วมกับการพัฒนาการท่องเที่ยว โดยชุมชนของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) เป็นต้น โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม “ดร.สมชาย หาญหิรัญ” เป็นเจ้าภาพหลัก
โดยในปี 2559 นี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมนำร่องรวมทั้งหมด 6 หมู่บ้าน ใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย บ้านเชียง จ.อุดรธานี แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา และผ้าทอมือ บ้านนาตีน จ.กระบี่ มีผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว ผ้าบาติก สมุนไพรพื้นบ้านเพื่อสุขภาพ บ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย แหล่งมรดกโลกด้านอารยธรรม มีผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อ คือ ผ้าหมักโคลน เครื่องถมเงิน บ้านโพธิ์กอง จ.สุรินทร์ มีสินค้าทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ เสื่อกก เครื่องจักสาน เครื่องประดับของสตรี กำไล เข็มขัด น้ำพริกป่นปลาช่อน บ้านนาตาโพ จ.อุทัยธานี โดดเด่นในเรื่องผ้าทอลายโบราณบ้านนาตาโพ ซึ่งนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และบ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช
อย่างไรก็ตามปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่า “โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” จะสามารถสร้างเม็ดเงินกระจายสู่ชุมชนนำร่อง 6 หมู่บ้านได้กว่า 20 ล้านบาทต่อปี และคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่า 10-15% จากจำนวนนักท่องเที่ยวปัจจุบันรวมกว่า 8.4 ล้านคนต่อปี ทั้งนี้จากสถิติโดยภาพรวมของประเทศไทย ในปี 2558 มีผลิตภัณฑ์โอทอปกว่า 1 แสนรายการ มีผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนรวม 31,741 ราย มูลค่าอุตสาหกรรมกว่า 9 หมื่นล้านบาท และมีการขยายตัว 10% เมื่อเทียบกับปี 2557
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *