กสอ. กระทรวงอุตสาหกรรม รุกส่งเสริมอุตสาหกรรมชนบท นำร่องฟื้นฟูอุตสาหกรรมสินค้าโอทอป 6 หมู่บ้านตัวอย่าง ใน 6 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วไทย ได้แก่ บ้านเชียง จ.อุดรธานี บ้านนาตีน จ.กระบี่ บ้า นนาต้นจั่น จ.สุโขทัย บ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช บ้านโพธิ์กอง จ.สุรินทร์ และบ้านนาตาโพ จ.อุทัยธานี ตั้งเป้าโมเดลพัฒนาสินค้าโอทอปทั่วไทย สร้างอาชีพและกระจายรายได้ให้แก่สมาชิกในชุมชนและยกระดับสินค้าชุมชน
ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า สินค้าโอทอปไทยยังคงประสบปัญหาหลายด้าน เช่น สินค้าไม่มีความหลากหลาย ขาดเอกลักษณ์ ขาดการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง สินค้าไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและขาดช่องทางในการจัดจำหน่าย ด้วยเหตุนี้ กสอ.จึงเล็งเห็นว่าการที่จะพัฒนาสินค้าโอทอปจำเป็นต้องลงไปพัฒนาตั้งแต่ต้นทาง คือ ชุมชน หรือท้องถิ่นผู้ผลิตให้สามารถผลิตสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งหากสินค้าของชุมชนมีเอกลักษณ์ที่ไม่สามารถหาซื้อจากที่อื่นได้ก็จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง กสอ.จึงมีแผนในการฟื้นฟูโครงการหมู่บ้านโอทอปตามนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านการส่งเสริมอุตสาหกรรมชนบท โดยตั้งเป้านำร่องในปี 2559 นี้ เพื่อพัฒนาหมู่บ้านโอทอป 6 แห่ง ใน 6 จังหวัด ได้แก่
1. บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี พื้นที่มรดกโลกทางวัฒนธรรม และเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา และผ้าทอมือ เป็นต้น
2. บ้านนาตีน อ.เมือง จ.กระบี่ ศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง และมีผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว ผ้าบาติก สมุนไพรพื้นบ้านเพื่อสุขภาพ เป็นต้น
3. บ้านนาต้นจั่น อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย แหล่งมรดกโลกด้านอารยธรรม มีสินค้าโอทอปขึ้นชื่อ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากผ้าหมักโคลน เครื่องถมเงิน เป็นต้น
4. บ้านคีรีวง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ชุมชนเก่าแก่และต้นแบบในการจัดการธุรกิจท่องเที่ยว เชิงนิเวศ และเป็นแหล่งผลิตเครื่องจักสานกะลา ทุเรียนกวน ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ เป็นต้น
5. บ้านโพธิ์กอง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ มีสินค้าทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ เสื่อกก เครื่องจักสาน เครื่องประดับของสตรี กำไล เข็มขัด น้ำพริกป่นปลาช่อน เป็นต้น
6. บ้านนาตาโพ อำเภอบ้านไร่ จ.อุทัยธานี สินค้าที่โดดเด่นส่วนใหญ่เป็นผ้าทอลายโบราณบ้านนาตาโพ ซึ่งนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผ้าซิ่นจก ผ้าซิ่นตีนจก ผ้าคลุมไหล่ ผ้าคลุมเตียง ผ้าสไบ ผ้าขาวม้า ผ้ารองจาน เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่เยี่ยมชมบ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย พบว่าความสำเร็จของการดำเนินโครงการอยู่ที่การสร้างความเข้มแข็งของคนในพื้นที่ที่พร้อมจะพัฒนาชุมชนไปด้วยกัน โดย กสอ.จะทำหน้าที่ให้ความรู้ในการผลิตสินค้าที่ดีมีคุณภาพ และปรับภาพลักษณ์ของสินค้าให้มีความทันสมัย รวมถึงการออกแบบที่ตอบโจทย์ตลาดสากล และบริหารจัดการเพื่อเชื่อมโยงสินค้าจากชุมชนสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างรายได้ด้วยการนำทรัพยากร ภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเกิดเป็นภาพลักษณ์ใหม่ให้สินค้าโอทอปมีความทันสมัย และมีคุณค่าทางวัฒนธรรม
โครงการดังกล่าวยังได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล โดยคาดว่าความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์โอทอปไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *