ก่อนที่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่จะถูกผลิตและส่งลงตลาด หนึ่งในขั้นตอนสำคัญคือ ตรวจสอบคุณภาพชิ้นส่วนแต่ละชิ้น จุดนี้จำเป็นต้องมี “อุปกรณ์พิเศษ” มาทำหน้าที่ “ตรวจสอบ” โดยเฉพาะ ในวงการเรียกว่า Checking Fixture ซึ่งการประดิษฐ์อุปกรณ์ดังกล่าวต้องอาศัยความรู้เฉพาะทาง เดิมมีเฉพาะบริษัทต่างชาติเท่านั้นที่ทำได้ แต่ปัจจุบันเอสเอ็มอีไทยอย่าง “บริษัท เว็ลธ ดีไซน์ จำกัด” (WEALTH DESIGN Co.,Ltd.) ก้าวขึ้นมาทำสำเร็จ ซึ่งผลงานเป็นที่วางใจจากค่ายรถระดับโลก
วัชระ จันทราช เผยว่า การประดิษฐ์อุปกรณ์ตรวจสอบชิ้นส่วน (Checking Fixture) มีมากว่า 20 ปีแล้ว โดยเป็น Know How ของบริษัทจากยุโรปและญี่ปุ่น ขณะที่ส่วนตัวจบมาด้านวิศวกรรมไฟฟ้าเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เข้าทำงานประจำในบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่งที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ Checking Fixture นับเป็นคนไทยกลุ่มแรกๆ ของประเทศที่ได้รับถ่ายทอดความรู้ดังกล่าว จนเมื่อมีความพร้อม ปี 2553 รวบรวมกลุ่มเพื่อนที่มีประสบการณ์มาเปิดบริษัทของตัวเอง
ทั้งนี้ ก่อนที่ค่ายรถจะออกรถรุ่นใหม่ ขั้นแรกจะเริ่มจากออกแบบในคอมพิวเตอร์กราฟิก จากนั้นจะผลิตชิ้นส่วนต้นแบบของแต่ละชิ้น ก่อนจะส่งโรงงานผลิตชิ้นส่วนจริงเพื่อนำกลับมาประกอบรวมเป็นตัวรถ ซึ่งอุปกรณ์ Checking Fixture จะเข้ามามีบทบาทในขั้นตอนตรวจสอบคุณภาพชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อให้ได้ตามค่ามาตรฐานที่ค่ายรถกำหนด เช่น ความคลาดเคลื่อนของรูนอตแต่ละรูของชิ้นส่วนที่ผลิตออกมาต้องไม่เกิน 0.05 มิลลิเมตร และขนาดกับขอบชิ้นส่วนแต่ละตัวต้องคลาดเคลื่อนไม่เกิน 0.2 มิลลิเมตร เพื่อเวลานำไปประกอบเป็นตัวรถแล้วจะสมบูรณ์เรียบร้อยที่สุด
“การทำงานของเรา หลังจากค่ายรถออกแบบชิ้นส่วนในคอมพิวเตอร์กราฟิก 3D แล้ว เราต้องถอดแบบนั้นมาทำเป็นชิ้นส่วนต้นแบบ เพื่อจะทำอุปกรณ์ขึ้นมาตรวจสอบอีกที ซึ่งการคิดสร้าง Checking Fixture ต้องใช้ความรู้กับประสบการณ์สูงมาก ผสมผสานระหว่างหลักวิทยาศาสตร์กับจินตนาการ เพื่อจะได้อุปกรณ์ตรวจคุณภาพที่มีประสิทธิภาพ และตรงตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งวัสดุที่นำมาใช้ทำอุปกรณ์ มีทั้งเหล็ก อะลูมิเนียม พลาสติก ไม้ และยาง ฯลฯ” เจ้าของธุรกิจระบุ และเสริมต่อว่า
เหตุผลที่ทางค่ายรถหรือผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เลือกใช้บริการบริษัทภายนอกผลิตอุปกรณ์ Checking Fixture แทนที่จะผลิตขึ้นเอง เนื่องจากกระบวนการนี้ค่อนข้างยุ่งยาก ใช้ความรู้เฉพาะสูง บุคลากรหายาก ในปัจจุบันยังไม่มีสถาบันการศึกษาของไทยแห่งใดเปิดสอนอย่างเป็นทางการ จึงไม่คุ้มค่าที่โรงงานขนาดใหญ่จะลงทุนทำเอง การว่าจ้างบริษัทภายนอกที่มีความชำนาญจึงง่ายและเหมาะกว่า
เขาเผยด้วยว่า รายได้บริษัทมาจากรับจ้างผลิตอุปกรณ์ตรวจสอบเป็นรายชิ้นแบบเจาะจง (custom made) โดยอุปกรณ์หนึ่งตัวค่าจ้างผลิตประมาณ 20,000-300,000 บาท ใช้ระยะเวลาทำ 7-45 วันต่อชิ้นขึ้นอยู่กับขนาดและความยากง่าย ซึ่งตลอดการทำงานต้องประสานกับลูกค้าค่ายรถอย่างใกล้ชิด และเก็บข้อมูลเป็นความลับ เนื่องจากชิ้นส่วนต่างๆ เป็นแบบรถรุ่นใหม่ ห้ามหลุดออกสู่สาธารณะเด็ดขาดเพราะเป็นความลับทางธุรกิจ
ปัจจุบัน เว็ลธ ดีไซน์ ผลิตอุปกรณ์ Checking Fixture ให้แก่ค่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์เจ้ายักษ์ของญี่ปุ่น กับค่ายรถยนต์สัญชาติอเมริกัน นอกจากนั้นยังรับจ้างผลิต Checking Fixture ให้แก่ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ด้วย
วัชระเผยด้วยว่า ในเมืองไทยเวลานี้มีบริษัทที่ทำธุรกิจคล้ายกันประมาณ 10 กว่าราย มีทั้งบริษัทต่างชาติรายใหญ่ และบริษัทไทยเกิดใหม่ ซึ่งการแข่งขันจะวัดกันที่เรื่องความชำนาญของทีมงาน และการผลิตที่ได้คุณภาพสร้างความไว้วางใจแก่ลูกค้า รวมถึงราคา ซึ่งจุดเด่นของเว็ลธ ดีไซน์ คือมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญอยู่ในวงการนี้มายาวนาน และทำได้ครบวงจร นอกเหนือจากอุปกรณ์ตรวจสอบแล้ว ยังสามารถทำได้ทั้ง ชิ้นส่วนต้นแบบ (Prototype, Mock-up) อุปกรณ์จับยึด (Jig Maunual & Automation System) และแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก
สำหรับความเสี่ยงของธุรกิจนี้มีความเชื่อมโยงกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวมค่อนข้างสูง เพราะยามเศรษฐกิจดี ตลาดรถคึกคัก มีรถรุ่นใหม่ๆ ออกจำนวนมาก ทำให้บริษัทมีงานมากขึ้นตามไปด้วย ส่วนยามเศรษฐกิจชะลอ ค่ายรถออกรุ่นใหม่น้อยลง การสั่งทำ Checking Fixture ก็ลดตาม นอกจากนั้นยังมีการตัดราคาในหมู่ผู้ผลิตด้วยกันเองด้วย
“เนื่องจากช่วง 2-3 ปีหลังที่ผ่านมาตลาดรถค่อนข้างซบเซามาก ผู้ผลิตรายย่อยหน้าใหม่เลยยอมหั่นราคาเพื่อจูงใจค่ายรถ แต่สำหรับ เว็ลธ ดีไซน์ เลือกจะไม่ลงแข่งเรื่องราคา เพราะการทำอุปกรณ์ให้ราคาต่ำก็ต้องไปลดต้นทุนค่าวัสดุ อุปกรณ์ที่ออกมา คุณภาพก็จะต่ำไปด้วย เราจึงเน้นรักษาคุณภาพ ให้ลูกค้าเลือกในสิ่งที่ดีกว่า” เขากล่าว
ส่วนแนวทางพัฒนาธุรกิจต่อไป วัชระบอกว่า ด้านการผลิตจะเพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน ควบคู่ใช้วัตถุดิบคุณภาพดีเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้า ส่วนด้านการตลาด พยายามจะขยายฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยเสนองานไปยังโรงงานผลิตต่างๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ Checking Fixture ซึ่งแผนที่วางไว้เตรียมเสนอต่อค่ายรถยนต์ประเทศอินเดีย นอกจากนั้น จะแตกไลน์สินค้าไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นตลาดใหม่มูลค่าสูง ซึ่งจากความพร้อมด้านบุคลากรที่เชี่ยวชาญสูงจึงเชื่อว่าโอกาสยังเปิดกว้าง
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *