ฉะเชิงเทรา-สนามทดสอบยานยนต์ล้อยางหนึ่งเดียวในภูมิภาคของกลุ่มประเทศอาเซียน เตรียมผุดสร้างขึ้นในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา บนผืนป่าเสื่อมโทรมกว่า 1.2 พันไร่ หวังรองรับการทดสอบสมรรถนะยานยนต์แบบครบวงจรภายในประเทศ และภูมิภาค เผยเมืองแปดริ้ว มีความพร้อม และถือเป็นความเหมาะสมที่ลงตัวที่สุดในการก่อสร้าง เหตุอยู่ท่ามกลางของกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ที่เข้ามาก่อตั้งโรงงานรายล้อมในพื้นที่ ตลอดจนยังเป็นศูนย์กลางของภาคการขนส่งที่สะดวกมากกว่าทุกพื้นที่
นายมนตรี เรืองอุไร อุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวของการก่อตั้งโครงการก่อสร้างสนามทดสอบยานยนต์ล้อยาง ซึ่งเป็นโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะเข้ามาทำการก่อตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ว่า เรื่องดังกล่าวนี้เป็นเรื่องจริงตามนโยบายของ รมว.อุตสาหกรรม ที่จะมีการจัดทำโครงการจัดก่อตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์ และยางล้อแห่งชาติขึ้น โดยมีแผนที่จะเข้ามาก่อสร้างขึ้นยังในพื้นที่ ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา
โดยจะใช้พื้นที่ในแปลงปลูกป่า หรือป่าเสื่อมโทรม องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จำนวนกว่า 1,234 ไร่ และได้มีการขออนุมัติในหลักการผ่านงบประมาณในส่วนของโครงการไปแล้วทั้งหมด 4 พันล้านบาท โดยล่าสุด หลัง ครม.มีมติให้กลับไปทบทวนมาใหม่นั้น ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ทำการปรับปรุงโครงการ และนำกลับไปเสนอใหม่ จนได้รับการอนุมัติเห็นชอบโครงการมาแล้วอีกครั้ง เมื่อวันอังคารที่ 29 มี.ค.59 ที่ผ่านมา ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม นำเสนอ ในการขอจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติขึ้นในประเทศไทย
ซึ่งศูนย์ดังกล่าวตามโครงการนี้จะมีการทดสอบยานยนต์เหมือนกับสภาพที่มีการใช้งานจริง ซึ่งในอดีตนั้นในประเทศเราไม่เคยมีการทดสอบยานยนต์ในสภาพการใช้งานจริงๆ มาก่อน มีเพียงแต่การทดสอบในห้องแล็บเท่านั้น หรือทดสอบในตัวอย่างของถนนที่มีการจำลองขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นรถบัสโดยสาร 2 ชั้น หรือรถยนต์ส่วนบุคคล รถยนต์กระบะบรรทุก หรือรถบรรทุกสิบล้อก็ตาม สามารถที่จะนำมาทำการทดสอบตามสภาพความเป็นจริงของการใช้งานในสนามทดสอบนี้ได้
ซึ่งในสนามทดสอบก็จะมีสภาพของท้องถนนที่มีความเอียงลาด หรือความโค้งในลักษณะต่างๆ เพื่อให้สมรรถนะของรถที่ผลิตออกมาได้มาตรฐานสากล หรือมาตรฐานโลก ก็จะทำให้รถยนต์ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทยของเรานั้นสามารถที่จะส่งไปจำหน่ายขายได้ยังทั่วโลก ส่วนประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างสนามทดสอบนี้ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา นั้น ในเขต จ.ฉะเชิงเทรา ขณะนี้เปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมด้านยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์
ประกอบไปด้วย โรงงานด้านอุตสาหกรรมยานยนต์หลายโรงงาน เช่น โรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้า ที่ อ.บ้านโพธิ์ และในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ อ.แปลงยาว ทั้งโตโยต้า และอีซูซุ นอกจากนี้ ยังมีจังหวัดใกล้เคียง เช่น ปราจีนบุรี ที่มีโรงงานประกอบรถยนต์ฮอนด้า และสมุทรปราการ ที่มีทั้งโรงงานประกอบรถยนต์ยี่ห้อเมอร์เซเดส-เบนซ์ และโตโยต้า ขณะที่ใน จ.ระยอง ก็ยังมีโรงงานประกอบรถยนต์อีกหลายแห่ง
จังหวัดฉะเชิงเทรา จึงเป็นศูนย์กลางระหว่างกลุ่มโรงงานของผู้ผลิตยานยนต์ทั้งหมด จึงสะดวกทั้งในด้านการคมนาคม เนื่องจากอยู่ติดกับสนามบินสุวรรณภูมิ และใกล้กับท่าเทียบเรือฝั่งตะวันออก ซึ่งจะสะดวกในการส่งออก และเป็นประตูออกสู่อาเซียน ทาง รมว.อุตสาหกรรม จึงเล็งเห็นว่าในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา มีความเหมาะสมที่จะทำการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์ และยางล้อแห่งชาติ มากที่สุด
ส่วนประโยชน์ทางอ้อมที่ชาวฉะเชิงเทราจะได้รับเองนั่นคือ จะมีการนำเงินมาลงทุนด้วยเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากถึงกว่า 4 พันล้านบาท ก็จะทำให้พื้นที่เกิดการพัฒนา และการคมนาคมก็จะสะดวกมากขึ้นตามไปด้วย โดยรัฐบาลก็จะต้องมีการสนับสนุนทำการขยายถนนเส้นทางการคมนาคมต่างๆ เพื่อรองรับ และให้การเดินทางไปยังศูนย์ทดสอบยานยนต์แห่งนี้นั้นสะดวก คล่องตัว และเกิดความปลอดภัย
ตลอดจนชาวบ้านในพื้นที่เองนั้นก็สามารถที่จะทำการค้าขาย การบริการในด้านที่พักอาศัย เช่น อาจจะสร้างที่พัก โรงแรม หรือโฮมสเตย์เพื่อรองรับนักธุรกิจ และเจ้าหน้าที่ที่จะเข้ามาทำงานประจำอยู่ในศูนย์ฯ หรือเดินทางมาติดตามการทดสอบยานยนต์ หรือชิ้นส่วนยานยนต์จากบริษัทต่างๆ
ส่วนความคืบหน้าของโครงการนั้น หลังจากได้รับการอนุมัติในหลักการจาก ครม.ให้ดำเนินโครงการต่อได้แล้วนั้นก็อาจจะมีการเริ่มดำเนินโครงการขึ้นในช่วงของปลายปี 2559 นี้ และจะสิ้นสุดโครงการในปี 2562 โดยที่ผ่านมา รมว.อุตสาหกรรม ได้เคยเดินทางเข้ามาดูถึงยังในพื้นที่โครงการนี้แล้วด้วยตนเอง และเห็นว่า ทางด้านกายภาพของพื้นที่นั้นมีความเหมาะสม
ตลอดจนยังมีการทำประชาคมต่อชาวบ้านในพื้นที่ ผ่านทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว โดยได้ให้แง่คิดเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชน ซึ่งคนในชุมชนนั้นเข้าใจ และเล็งเห็นถึงประโยชน์ในส่วนที่ชาวบ้านจะได้รับกลับคืนมาในอนาคตที่จะมีมากกว่าการที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ จึงไม่มีใครคัดค้านอะไรต่อโครงการนี้ และเห็นชอบที่จะมีการนำเงินลงทุนถึงกว่า 4 พันล้านบาท เข้ามาลงทุนในพื้นที่
ส่วนการทดสอบยานยนต์ในสนามทดสอบแห่งนี้นั้น จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันกับสนามแข่งรถ เช่น จะมีการทดสอบในเรื่องของการรับน้ำหนักของล้อยาง การทดสอบความเอียงลาดของตัวรถทั้งคันว่าจะสามารถทำมุมเอียงลาดในขณะใช้งานจริงได้กี่องศาที่จะยังสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้โดยที่จะไม่ให้จุดซีจีมากเกินไป ที่จะทำไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่รถจะพลิกคว่ำได้ ซึ่งจะมีรายละเอียดลึกๆ ที่เกี่ยวข้องทางด้านของเทคนิคยานยนต์อีกมากอยู่ในโครงการ
สำหรับสนามทดสอบยานยนต์ล้อยางแห่งนี้ ถือเป็นแห่งแรกของกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ยังไม่มีประเทศใดในกลุ่มนี้สร้างขึ้นมา เราจึงได้ถือโอกาสนี้ที่จะเริ่มทำโครงการก่อน เพื่อทำให้ประเทศอื่นๆ จะได้ไม่ต้องมาแข่งขันกันสร้างขึ้นมาเพราะต้องใช้เงินในการลงทุนสูง ซึ่งในอนาคตทางผู้ผลิตยานยนต์ และล้อยางต่างๆ ก็จะต้องส่งผลิตภัณฑ์เข้ามาทดสอบยังในประเทศของเรา ซึ่งประเทศเราก็จะได้ทั้งนักท่องเที่ยว และนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ ทำให้เกิดความเติบโตในด้านๆ ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อรองรับศูนย์การทดสอบยานยนต์แห่งนี้ด้วย