xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่าทางตันดัน ‘มะขามหวาน’ ขายซูเปอร์ฯ ต้นแบบทางรอดเกษตรไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ ผลผลิตออกพร้อมกันจนล้นตลาด ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา ไร้การแปรรูปเพิ่มมูลค่า ฯลฯ เหล่านี้เป็นปัญหาซ้ำซากของภาคเกษตรไทย หนทางจะกระโดดข้ามกำแพงอุปสรรคไปได้ จำเป็นต้องเกิดความร่วมมืออย่างครบวงจรของภาครัฐ เอกชน และที่สำคัญ คือ เกษตรกรในท้องถิ่น

หนึ่งในต้นแบบความสำเร็จของการผนึกพลัง 3 ฝ่าย คือ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพแปรรูปมะขามหวานบ้านโนนเสาธง” ต.ตะเบาะ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ จากที่เคยต้องออกมาประท้วงเทผลผลิตทิ้ง ทุกวันนี้ กลับขายได้ราคาสูง มีออเดอร์รอคิวแน่นทั้งปี เกษตรกรมีรายได้เพิ่มจากเดิมหลายเท่าตัว
ทวี กระแส ประธาน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพแปรรูปมะขามหวานบ้านโนนเสาธง
ฮึดรวมกลุ่มฯ ฝ่าวิกฤตมะขามราคาตก

ทวี กระแส ประธานกลุ่มฯ เล่าให้ฟังว่า เมื่อ พ.ศ.2556 เกิดวิกฤตในหมู่ผู้ปลูกมะขามหวาน จ.เพชรบูรณ์ เพราะผลผลิตออกพร้อมๆ กัน พ่อค้าคนกลางอาศัยโอกาสกดราคารับซื้อเหลือแค่กิโลกรัมละ 9 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ผู้ปลูกแทบไม่เหลือกำไรเลย สร้างความไม่พอใจให้เกษตรกรอย่างยิ่ง จนออกมาประท้วง เพราะในความเป็นจริง มะขามหวานเพชรบูรณ์เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก แต่เนื่องจากที่ผ่านมา ต่างคนต่างปลูก ไร้การรวมกลุ่ม และขาดการแปรรูป เมื่อผลผลิตออกพร้อมกัน หากไม่ขายก็ต้องปล่อยเน่าทิ้ง กลไกตลาดจึงตกเป็นรองพ่อค้าคนกลางเสมอมา

จากปัญหาดังกล่าว เกษตรกรผู้ปลูกมะขามหวานบ้านโนนเสาธง รวมตัวกัน นำเสนอปัญหาไปเสนอภาครัฐ โดย “ไกรสร กองฉลาด” รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ทำหน้าที่เป็นคนกลางพากลุ่มเกษตรกรไปเชื่อมต่อกับบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด หรือ “ท็อปส์ มาร์เกต” เพื่อเป็นแหล่งรับซื้อผลผลิต และนำเข้าขายในช่องทางต่างๆของท็อปส์ รวมถึง เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาเชิงธุรกิจด้วย

เปิดสูตรสำเร็จเอกชนผนึกชาวบ้าน

ประธานกลุ่มฯ เผยว่า เมื่อทางท็อปส์ เข้ามาช่วยเหลือ เกิดการหารือร่วมกัน ถึงวิธีเก็บรักษาผลผลิตได้ยาวนาน ช่วยให้ขายได้ตลาดทั้งปี ทางท็อปส์จึงลงทุนก่อสร้าง “ห้องเย็น”ให้ฟรีๆ สามารถปริมาณเก็บมะขามสดได้ถึง 60 ตัน ยาวนานนับปี ใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 2.3 ล้านบาท บนที่ดินของ “ลดาวัลย์ จุมพลมา” หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม ซึ่งถือเป็นห้องเย็นแห่งแรกใน จ.เพชรบูรณ์

อีกทั้ง ทางท็อปส์จะรับซื้อผลผลิตของกลุ่มฯ ในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดทั่วไป 20% และยังเข้ามาช่วยส่งเสริมการแปรรูปมะขามหวาน จากขายแค่ฝักสด พัฒนาเป็นมะขามคลุม และมะขามไร้เม็ด ที่ราคาสูงขึ้นไปอีก ส่งผลให้ปัจจุบัน เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกลุ่ม มีรายได้เพิ่มจากเดิมอย่างน้อย 2 เท่าตัว

และที่สำคัญ การเข้ามาช่วยของบริษัทเอกชนรายนี้ ไม่มีการทำสัญญาผูกมัดเป็นลายลักษณ์อักษรใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งหมดเป็น “สัญญาใจ” ที่สองฝ่ายให้ไว้แก่กัน และหากมีแหล่งอื่นที่ให้ราคาสูงกว่า เกษตรกรสามารถนำผลผลิตไปขายได้ทันที อย่างไรก็ตาม เนื่องจากราคาที่ท็อปส์ให้สูงกว่าตลาดมาก ในความเป็นจริง สมาชิกทุกคนจึงอยากจะส่งเข้าท็อปส์เป็นอันดับแรกเสมอ
พวกเราต้องสร้างความเข้มแข็งภายในกลุ่มให้ได้เสียก่อน และมีผลผลิตคุณภาพดี สม่ำเสมอ ทำให้พวกเราต้องกลับมาพัฒนาตัวเองควบคู่ไปด้วย ไม่ใช่รอให้ภาครัฐ หรือเอกชนมาช่วยเหลือแต่เพียงฝ่ายเดียว - ทวี กล่าว
“ก่อนที่ทางท็อปส์จะตัดสินใจสนับสนุนกลุ่มของเรา ได้เจรจาเงื่อนไขว่า พวกเราต้องสร้างความเข้มแข็งภายในกลุ่มให้ได้เสียก่อน และมีผลผลิตคุณภาพดี สม่ำเสมอ ทำให้พวกเราต้องกลับมาพัฒนาตัวเองควบคู่ไปด้วย ไม่ใช่รอให้ภาครัฐ หรือเอกชนมาช่วยเหลือแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งจุดนี้ ผมเชื่อว่า มันจะทำให้เกิดความยั่งยืน” ทวี กล่าว และเสริมต่อว่า

ปัจจุบัน มีสมาชิกประมาณ 20 คน พื้นที่ปลูกมะขามหวานรวมประมาณ 500 ไร่ หรือเฉลี่ยเกษตรกร 1 รายต่อพื้นที่เพาะปลูก 20-25 ไร่ มีปริมาณการส่งผลผลิตให้แก่ท็อปส์ เฉลี่ยปีที่แล้ว (2558) ประมาณสัปดาห์ละ 1 ตัน และหัวใจสำคัญ คือ เมื่อมีแหล่งรับซื้อที่ให้ราคาสูง สามารถเก็บสต็อกผลผลิตไว้ขายนอกฤดูกาลได้ อีกทั้ง ผู้ปลูกรวมตัวอย่างเข้มแข็ง ทำให้มีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลางมากยิ่งขึ้น ทุกวันนี้ ราคามะขามหวานในท้องตลาดจึงขยับสูงขึ้นทั้งระบบ

“ท็อปส์” เสริมจุดเด่นเฟ้น ‘ของสด ของดี’ ทั่ว ปท.

ด้าน “เมทินี พิศุทธิ์สินธพ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายจัดซื้อกลุ่มสินค้าอาหารสด และบริหารจัดซื้อ และ “สมนึก ยอดดำเนิน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายจัดซื้อผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ร่วมให้ข้อมูลว่า บริษัทฯ มีนโยบายส่งเสริมเกษตรกรไทยมากว่า 7 ปีแล้ว โดยเฟ้นหาของสดของดีจากทั่วประเทศ นำมาขายในท็อปส์ มาร์เกต ที่ปัจจุบันมีกว่า 179 สาขา ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งใน 2 ส่วน ด้านแรก ท็อปส์จะได้ของสดคุณภาพดีมาขาย ตอกย้ำจุดเด่นเป็นซูเปอร์มาร์เกตที่มีสินค้าของสดหลากหลายที่สุดในบรรดาธุรกิจค้าปลีกด้วยกัน ส่วนอีกด้าน เป็นช่วยเหลือภาคเกษตร สร้างงานกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
เมทินี พิศุทธิ์สินธพ (ซ้าย)   และสมนึก ยอดดำเนิน
ทั้งนี้ จากที่รัฐบาลมีนโยบายประชารัฐ สอดคล้องแนวทางช่วยเหลือภาคเกษตรและเอสเอ็มอีของบริษัทฯ ประกอบกับโอกาสครบรอบ 20 ปีของท็อปส์ จึงต่อยอดการช่วยเหลือเป็นโครงการ “ท็อปส์ เพื่อเกษตรไทย ร่วมใจประชารัฐ” ซึ่งจะเข้าไปส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพ และสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาด โดยบริษัทฯ จะลงทุนในส่วนที่เกษตรกรไม่มีศักยภาพทำได้เอง หลังจากนั้นจะรับซื้อผลผลิตที่ได้ในราคาสูงกว่าท้องตลาด


ประสานภาครัฐท้องถิ่นสร้างความไว้วางใจ

เมทินี เผยว่า การเลือกจะส่งเสริมเกษตรกรกลุ่มใดนั้น จะพิจารณาว่า เป็นกลุ่มที่ศักยภาพและมีความตั้งใจจริง อย่างไรก็ตาม การพิจารณาจำเป็นต้องพึ่งพาหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น เช่น ผู้ว่า หรือรองผู้ว่าราชการจังหวัด พาณิชย์จังหวัด หรือเกษตรจังหวัด เป็นต้น ซึ่งจะมีข้อมูลใกล้ชิด รวมถึง เป็นตัวกลางช่วยประสานระหว่างบริษัทฯ กับชาวบ้าน ให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน
ภายในห้องเย็น
“การจะเลือกส่งเสริมกลุ่มใดนั้น เราไม่มีทางรู้ข้อมูลเชิงลึกได้ว่า กลุ่มไหนที่ตั้งใจจริง ดังนั้น จำเป็นต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐท้องถิ่นเป็นผู้แนะนำว่า กลุ่มใดที่พร้อม และควรแก่การเข้าไปสนับสนุน นอกจากนั้น การเข้าไปทำงานกับชาวบ้าน ถ้ามีภาครัฐเป็นผู้นำ จะช่วยให้ชาวบ้านไว้วางใจว่า เอกชนรายนี้ไม่ได้เข้ามาเอาเปรียบพวกเขา” เธอ กล่าว
โรงบรรจุ และห้องเย็นของกลุ่มฯ
สำหรับการสนับสนุนนั้น รอง กก.ผจก.ใหญ่ เผยว่า จะพิจารณาตามความจำเป็น โดยเฉลี่ยชุมชนละ 1.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจากมูลนิธิเตียง จิราธิวัฒน์ อย่างในกรณีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพแปรรูปมะขามหวานบ้านโนนเสาธง มีความต้องการเก็บผลผลิตไว้ขายนอกฤดูกาล ทางบริษัทฯ จึงสร้างห้องเย็นให้ มูลค่ากว่า 2.3 ล้านบาท แม้จะสูงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ แต่ประเมินแล้วว่า กลุ่มนี้มีศักยภาพจริง ทางบริษัทฯ ก็พร้อมลงทุนเพิ่ม

เล็งขยายโมเดลส่งเสริมครอบคลุมทุกจังหวัด

ด้านสมนึก เผยด้วยว่า ราคารับซื้อผลผลิตของเกษตรกร เมื่อนำไปขายปลีกผ่านหน้าร้านของท็อปส์ จะบวกเพิ่มประมาณ 20% ซึ่งส่วนต่างราคาดังกล่าว เมื่อหักการลงทุน และค่าบริหารจัดการต่างๆ แล้ว ทางท็อปส์แทบจะไม่ได้กำไร อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้ ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรและสังคม ผลประโยชน์ของบริษัทฯ จึงมุ่งไปเชิงซีเอสอาร์ นอกจากนั้น ทำให้ท็อปส์มีสินค้าของสดป้อนขายตลอดทั้งปี ไม่เกิดปัญหาสินค้าขาดตลาด และช่วยย้ำจุดเด่นแบรนด์ที่เป็นซูเปอร์มาร์เกตศูนย์รวมของสด

โครงการ “ท็อปส์ เพื่อเกษตรไทย ร่วมใจประชารัฐ” ดำเนินมากว่า 1 ปี ขณะนี้มีชุมชนต้นแบบ 6 แห่ง ใน 5 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ เชียงราย ลำพูน ระยอง และพัทลุง นอกจากสนับสนุนงบลงทุน ยังให้ความรู้ โดยเฉพาะการแปรรูปผลิตภัณฑ์ รวมถึง ช่วยการตลาด ทั้งรับซื้อผลผลิต จัดอีเว้นท์ส่งเสริมการขายอย่างน้อย 25 ครั้ง กระจายตามศูนย์การค้ากลุ่มเซ็นทรัลทั่วประเทศ เป็นต้น

ผช.กก.ผจก.ใหญ่ เผยว่า ระยะเวลา 7 ปี บริษัทฯ พัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้ท้องถิ่นแล้ว จำนวน 102 ชุมชน 107 โอทอป และ 72 SMEs จำนวนผลิตภัณฑ์เกินพันรายการ สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการในปี 2558 กว่า 600 ล้านบาท ส่วนเป้าปี 2559 นี้ ตั้งเป้าจะขยายความช่วยเหลือไปสู่ชุมชนต่างๆ เพิ่มอีก 30% ครอบคลุมทุกจังหวัดของไทย และสร้างรายได้ให้ชุมชนถึง 800 ล้านบาท
หนึ่งในต้นแบบความสำเร็จของการผนึกพลัง 3 ฝ่าย คือ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพแปรรูปมะขามหวานบ้านโนนเสาธง” ต.ตะเบาะ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
นับเป็นความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือของ 3 ฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในท้องถิ่น หากขยายโมเดลนี้ไปสู่จุดต่างๆ ทั่วประเทศอย่างแพร่หลาย ผลดีย่อมเกิดแก่เศรษฐกิจไทยแน่นอน

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น