ผักสลัด เป็นอีกหนึ่งช่องทางของเกษตรกรยุคใหม่ ที่หันมาให้ความสนใจต่อการปลูกผักชนิดนี้กันมากขึ้น เพราะผลตอบแทนที่สูง และความต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญ การปลูกผักสลัดไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่หลายคนคิด เนื่องจากวันนี้ผักสลัดที่เห็นต้นสวยสามารถปลูกได้ในดิน เช่นเดียวกับผักชนิดอื่นๆ
วันนี้มีเกษตรกรยุคใหม่ วัยเพียง 17 ปี อย่าง “จุลเทพ บุณยกรชนก” หรือ “หยก” มาถ่ายทอดประสบการณ์การปลูกผักสลัดในดินให้คนที่สนใจ โดยมาทำความรู้จักกับเจ้าของฟาร์มผักที่อายุน้อยคนนี้กันเสียก่อน
หยกเล่าว่า ครอบครัวเป็นเกษตรกร หลังจากพ่อได้ย้ายมาอยู่ที่ตำบลบางพลับ อำเภอโพธิ์ศรี จังหวัดอ่างทอง อาชีพหลักของครอบครัวคือ พ่อจะทำปุ๋ยอินทรีย์ และทำดินจำหน่าย ซึ่งต้องปลูกผักไปพร้อมๆ กันด้วยเพื่อเป็นสาธิตให้คนเห็นถึงคุณภาพของปุ๋ยและดินที่พ่อทำจำหน่าย ทำให้ได้มีโอกาสช่วยพ่อกับแม่ปลูกผัก ได้เรียนรู้การปลูกผักหลายชนิด รวมถึงการปลูกผักสลัดตั้งแต่เรียนชั้นประถม
“ที่มาของการมีแปลงสลัดของผม เกิดมาจากผมเรียนหนังสือไม่เก่ง สอบได้เกรดเพียงแค่ 1 กว่า สอบเข้าอะไรก็ไม่ได้ ก็เลยต้องกลับมาคิดว่า ถ้างั้นเราต้องหันมาทำการเกษตรอย่างจริงจัง ซึ่งผมเริ่มทำแปลงสลัดของผมเองตั้งแต่เรียนมัธยม ใช้เวลาช่วงวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ และตอนเย็นหลังเลิกเรียนมาดูแปลงผักสลัดบนพื้นที่กว่า 1 ไร่รอบๆ บ้าน”
โดยผลผลิตที่ได้ จะส่งร้านอาหารเพื่อสุขภาพ และร้านสเต๊กในจังหวัดอ่างทอง สัปดาห์ละ 120 กิโลกรัม ในราคากิโลกรัมละ 95-100 บาท ผักสลัดที่ปลูกมี 4 ชนิด ได้แก่ กรีนโอ๊ก เรดโอ๊ก เรดคอร์ล และฟิลเล ซึ่งที่เลือกทั้ง 4 ชนิดเพราะเป็นผักสลัดที่ตลาดต้องการ
สำหรับความแตกต่างของผักสลัดที่ปลูกในดิน กับการปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ นั้น “หยก” อธิบายให้ฟังว่า จุดเด่นของผักสลัดที่ปลูกในดินจะได้รสชาติที่ดีกว่า ไม่ขม และต้นทุนต่ำกว่า เนื่องจากไม่ต้องซื้อสารอาหาร เพราะการปลูกในดินผักสลัดจะได้สารอาหารจากดิน และยังสามารถทำน้ำหมักจากพืชผักธรรมชาติมาใช้แทนสารอาหารได้ น้ำหมักของฟาร์มแห่งหนี้จะเน้นผลไม้สุก ได้แก่ มะม่วง มะละกอ ละมุด ซึ่งเป็นผลไม้ที่ปลูกอยู่รอบๆ บ้าน
“เช่นเดียวกับดิน เราสามารถปรุงดินใช้ได้เองเช่นกันจากการใช้ปุ๋ยคอก ขุยมะพร้าว และแกลบ มาคลุกเคล้ารวมกัน ก็ได้ดินที่เป็นปุ๋ยอินทรีย์ตามธรรมชาติที่ไม่มีต้นทุนเช่นกัน การลงทุนทำผักสลัดในดินของน้องหยกแทบจะไม่มีต้นทุนอะไรเลย เพราะปัจจุบันน้องหยกยังสามารถทำเมล็ดพันธุ์เองได้ โดยไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ ต้นทุนจะเหลือเพียงแค่อุปกรณ์ทั่วๆ เท่านั้น และเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้นอกจากใช้ในแปลงผักสลัดของตนเอง ก็จำหน่ายให้เกษตรกรที่สนใจ ซึ่งการที่น้องหยกต้องตัดสินใจทำเมล็ดพันธุ์ของตนเอง และจำหน่าย เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ตามท้องตลาดเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เป็นจีเอ็มโอ”
ทั้งนี้ “หยก” ต้องการยกระดับฟาร์มผักสลัดของตนเอง โดยการขอขึ้นทะเบียนเป็นแปลงออร์แกนิก จึงต้องทำให้ทุกอย่างปลอดภัย ไม่ใช้สารอันตราย ทุกอย่างจึงต้องทำเอง เพื่อให้มั่นใจว่าไม่สารพิษ หรือสารเคมีตกค้าง โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ หยกบอกว่า ถ้าแปลงผักของตนเองได้รับการรับรองว่าเป็นแปลงผักออร์แกนิก เป็นเครื่องหมายสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค
ส่วนขั้นตอนการปลูกผักสลัดในดิน ข้อสำคัญคือ ดินต้องเป็นดินร่วน และควรจะต้องมีการปรับปรุงดิน โดยเติมสารอาหารตามธรรมชาติ ได้แก่ แกลบขาว แกลบดำ ขุยมะพร้าว และปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยคอก เติมลงไปในดิน พักดินไว้ 7 วันก่อน นำต้นกล้าที่เพาะไว้ในกระบะ จำนวน 20 วัน ลงดิน และพ่นกันแมลง ด้วยสารอินทรีย์ชีวภาพ ทำจาก พริก สะเดา บอระเพ็ด สาบเสือ เป็นต้น มาปั่นรวมกับน้ำส้มสายชู นำมาพ่น หรือ ฉีดไล่แมลงได้ทุกวัน หรือพ่นเฉพาะช่วงที่มีแมลงมารบกวน โดยไม่ทำให้ผักเสียรสชาติ ส่วนสารอาหารที่ใช้ จะใช้น้ำหมัก พ่นทางใบ น้ำหมักที่ได้มาจากผลไม้สุก และผักใบ หมักกับกากน้ำตาล ทิ้งไว้ประมาณ 7 วันก็สามารถนำมาใช้ได้
ในส่วนของผลผลิตผักสลัดที่ปลูกในดิน ลำต้นเล็กกว่าการปลูกในสารอาหาร เมื่อผ่านไป 45 วันหลังจากนำผักลงดินสามารถเก็บผักสลัดออกจำหน่ายได้ โดยผลผลิตผักที่ได้อยู่ที่ประมาณ 12-15 ต้น ต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งผักที่ได้จะต้องนำไปล้างดินออกจากราก และนำไปจุ่มน้ำ เพื่อเพิ่มความสดชื่นให้ผักก่อนนำส่งให้ร้านที่สั่งซื้อ
“หยก” เล่าถึงแผนในอนาคตของตนเองว่า จะมุ่งมั่นเรื่องการเกษตรอย่างจริงจัง เพราะการทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่มั่นคงที่คนรุ่นใหม่ไม่อาจมองข้ามได้ ซึ่งการเกษตรยุคใหม่มีอะไรที่เราจะต้องเรียนรู้อีกมาก หลังจากนี้ ตั้งใจว่าไปศึกษาเพิ่มเติมในระดับปริญญาตรีด้านการเกษตรเพื่อนำกลับมาพัฒนาอาชีพของตนเอง และถ้ามีโอกาสนำความรู้ที่ได้มายกระดับการผลิตของตนเอง และยกระดับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง ให้มีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น และมีแผนที่จะขยายพื้นที่การปลูกให้มากขึ้น หลังจากได้มีโอกาสไปเรียนด้านการเกษตรนำมาใช้ในการพัฒนาด้านการผลิต และขยายพื้นที่การปลูกให้กว้างขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของตลาด
โทร. 08-6369-2384 www.facebook.com/มังกรหยก คุณชายผักสลัด
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *