เอเอฟพี - สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (US Food and Drug Administration - FDA) มีคำอนุมัติในเบื้องต้นวานนี้ (11 มี.ค.) ให้สามารถใช้ยุงที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมมาทดลองสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสซิกา รวมถึงโรคติดต่ออื่น ๆ ที่มียุงเป็นพาหะได้
เอกสารซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของเอฟดีเอ ระบุว่า ยุงเพศผู้ “OX513A” ที่ผ่านมาดัดแปลงพันธุกรรมไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม การนำยุงจีเอ็มโอชนิดนี้ไปทดสอบบนหมู่เกาะฟลอริดาคีย์ นอกชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ จะยังไม่ได้รับอนุญาต จนกว่าเอฟดีเอจะประเมินกระแสตอบรับจากประชาชนและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องใช้เวลาดำเนินการอีกหลายเดือน
ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) ซึ่งผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมโดยบริษัท อ็อกซิเท็ก (Oxitec) ของอังกฤษ มียีนที่ทำให้พวกมันอายุสั้นกว่าปกติ ส่วนลูกหลานของพวกมันก็จะตายก่อนโตเต็มวัย
จุดประสงค์ของการทดลองนี้ก็เพื่อกำจัดประชากรยุงในธรรมชาติที่เป็นพาหะของโรคติดต่อ เช่น ซิกา ไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา และ เวสต์ไนล์
ยุงจีเอ็มโอเหล่านี้ถูกพิสูจน์แล้วว่าสามารถลดประชากรยุงในธรรมชาติอย่างได้ผล ในการทดลองอย่างจำกัดทั้งที่บราซิลและประเทศอื่น ๆ
เจ้าหน้าที่เอฟดีเอแจ้งต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯ ว่า ทางสำนักงานได้พิจารณาคำร้องของ อ็อกซิเท็ก อย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากสภาพอากาศที่อุ่นขึ้นจะเอื้อให้ยุงที่เป็นพาหะนำโรคแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว
ทางการสหรัฐฯ ยังพบว่า ประชากรยุงเริ่ม “ดื้อ” ต่อสารเคมีกำจัดแมลง และมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องหาทางลดจำนวนของพวกมันลง
ข้อมูลจากเอฟดีเอและอ็อกซิเท็กซึ่งอยู่ในเครือเดียวกับบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ อินเทร็กซอน (Intrexon) ของสหรัฐฯ ระบุว่า ยุงจีเอ็มโอเหล่านี้ไม่น่าจะ “เล็ดรอด” ออกไปจากพื้นที่ทดลองและแพร่ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้ เพราะถูกออกแบบมาให้อายุขัยสั้นมาก นอกจากนี้ ยุงจีเอ็มโอยังไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือสัตว์ เพราะล้วนแต่เป็นยุงเพศผู้ ในขณะที่ยุงซึ่งดูดกินเลือดนั้นจะเป็นยุงเพศเมีย
“เอฟดีเอ พบว่า โอกาสที่การทดลองปล่อยยุงเพศผู้ OX513A จะก่อให้เกิดพิษหรืออาการแพ้ขึ้นในมนุษย์และสัตว์ มีน้อยจนปราศจากนัยสำคัญ (negligible)” เอกสารที่เอฟดีเอเผยแพร่วานนี้ (11) ระบุ
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเชื่อว่า ไวรัสซิกาซึ่งมียุงลายเป็นพาหะอาจเป็นสาเหตุทำให้ทารกเกิดมามีศีรษะเล็ก (microcephaly) และโดยที่บราซิลและประเทศอื่น ๆ ในละตินอเมริกามีการพบทารกหลายพันคนที่เกิดมาพร้อมความผิดปกตินี้ ในช่วงเดียวกับที่ไวรัสแพร่ระบาด
แม้นักวิทยาศาสตร์จะยังไม่พบหลักฐานที่ยืนยันความเชื่อมโยงระหว่างไวรัสซิกากับอาการศีรษะเล็กในทารก แต่รัฐบาลหลายชาติก็ได้ประกาศเตือนให้สตรีมีครรภ์งดเว้นการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของไวรัสชนิดนี้