xs
xsm
sm
md
lg

“ไข่(แดง)” สั่งได้! เป๊ะทุกลูก บุกเสิร์ฟซาลาเปาร้านสะดวกซื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ไข่แดงเค็ม พัฒนาเพื่อส่งเข้าเป็นส่วนประกอบของไส้ซาลาเปา
โอกาสทางธุรกิจ หลายต่อหลายครั้ง เกิดจากไอเดียต้องการเอาชนะปัญหา อย่างในรายของ “บริษัท คุณภาพ จำกัด” บุกเบิกโดย “ยุทธนา ใจกล้า” ตั้งคำถามง่ายๆ ในเรื่องใกล้ตัวว่า “เหตุใดไข่แดงที่อยู่ในไส้ซาลาเปาของหลายเจ้าจึงมีกลิ่นคาวและสาบ” นำไปสู่การแก้ไขปัญหาจนสำเร็จ และพัฒนากลายเป็นธุรกิจที่มียอดขายหลายสิบล้านบาทต่อปี

ที่กล่าวมาข้างต้นคือที่มาของธุรกิจ “ไข่สั่งได้” โดยบริษัท คุณภาพ จำกัด ที่คิดค้นกระบวนการผลิต “ไข่แดงเค็ม” ให้มีมาตรฐานสะอาดปลอดภัยถูกสุขอนามัย ที่สำคัญขนาดสุดเป๊ะเท่ากันทุกลูก จึงเป็นที่ต้องการของร้านสะดวกซื้อเจ้าดัง ที่นำไปใช้เป็นไส้ของ “ซาลาเปา”
ยุทธนา ใจกล้า  บริษัท คุณภาพ จำกัด
ยุทธนาเล่าว่า ธุรกิจนี้เริ่มต้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2552 โดยก่อนหน้านี้ทำงานเป็นพนักงานประจำในโรงงานด้านอาหารแห่งหนึ่ง ตำแหน่งนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่วนแรงบันดาลใจที่มาทำธุรกิจไข่แดงเค็มนั้นมาจากข้อสังเกตส่วนตัวที่เวลากินซาลาเปาที่มีไส้ไข่เค็ม หลายต่อหลายครั้งจะพบว่าไข่แดงไม่สะอาดมีกลิ่นคาวและสาบ เมื่อหาข้อมูลต่อเนื่องจึงพบว่าเกิดจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่วนท้องตลาดยังมีความต้องการไข่เค็มคุณภาพอีกมาก โดยเฉพาะรายใหญ่ อย่างเครือ CP ที่ต้องการใช้ไข่แดงเค็มคุณภาพเป็นไส้ซาลาเปาที่ขายในร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น” (7-11)

“จากที่ผมสังเกตปัญหาดังกล่าว และหาข้อมูลต่อเนื่องพบว่า เหตุที่ไข่เค็มไม่สะอาดเกิดจากกระบวนการผลิตไม่ได้มาตรฐาน ตั้งแต่การเลี้ยงเป็ด การดองไข่ กระบวนการปอกเปลือก การแยกไข่แดงกับไข่ขาว ไปจนถึงการขนส่ง ผมเลยเกิดแนวคิดว่าจะทำธุรกิจที่มาแก้ไขปัญหานี้ทั้งระบบ โดยนำแนวคิดนี้ไปเสนอต่อซีพีแรม (cp ram) ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าอาหาร โดยเฉพาะ “ซาลาเปา” ส่งเข้าร้าน 7-11 ซึ่งมีความต้องการใช้ไข่แดงคุณภาพจำนวนมากต่อวัน โดยทางซีพีแรมตอบรับแนวคิดที่ผมไปเสนอ จึงเกิดความร่วมมือที่จะพัฒนาไข่แดงเค็มให้ได้คุณภาพด้วยกัน” ยุทธนาอธิบาย และเล่าต่อว่า

การยกระดับไข่แดงเค็มนั้น เริ่มตั้งแต่ “ต้นทาง” ด้วยการส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดในพื้นที่ภาคกลางโดยรอบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานผลิต โดยเข้าไปแนะนำความรู้ พัฒนาและปรับปรุงการเลี้ยงเป็ดในฟาร์ม “ระบบปิด” เพื่อควบคุมวัตถุดิบไข่เป็ดให้มีคุณภาพตามความต้องการ จากนั้น จะรับซื้อไข่เป็ดใน “ราคาประกัน” สูงกว่าท้องตลาดทั่วไป เพื่อจูงใจให้เกษตรกรยกระดับการเลี้ยงเป็ด

ต่อมา กระบวนการดองไข่เค็ม ทำในโรงงานได้มาตรฐาน ด้านวัตถุดิบที่ใช้ดอง ได้แก่ “เกลือกับน้ำเปล่า” เท่านั้น นำมาผสมเป็นน้ำเกลือเข้มข้นสำหรับดองไข่ และหัวใจสำคัญคิดค้นเทคโนโลยี “เครื่องผ่าไข่แดงเค็ม” ให้มีขนาดหลากหลาย พร้อมทั้งพัฒนา “เครื่องปั้นไข่แดงเค็ม” สามารถจะปั้นไข่แดงให้มีรูปทรงกลมเท่ากันทุกลูก เหมาะจะนำไปใช้เป็นไส้ของซาลาเปา
จุดเด่นรูปทรงกลมเท่ากันทุกลูก
ทั้งนี้ จุดเด่นของเครื่องผ่าไข่แดงเค็ม และเครื่องปั้นไข่แดงเค็มนั้น เพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ผลิตที่จะนำไข่เค็มไปใช้เป็นส่วนประกอบอาหารต่างๆ สามารถทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น และจะได้ไข่แดงที่มีขนาดเหมาะสมสวยงามเท่ากันทุกลูก ซึ่งกระบวนการของเครื่องดังกล่าว จากไข่เค็มแดงปกติเมื่อเข้าเครื่องผ่า จะออกมาเป็น 2 ซีกขนาดเท่าๆ กัน จากนั้นเมื่อเข้าเครื่องปั้น จากลักษณะถูกผ่าครึ่งจะกลายเป็น “ลูกกลม” ซึ่งจำนวนไข่แดงจะเพิ่มเป็น 2 เท่าตัว ส่วนน้ำหนักจะลดลงครึ่งหนึ่ง จากตอนแรกประมาณ 10-14 กรัมต่อลูก เมื่อผ่านกระบวนการแล้วจะเหลือน้ำหนักลูกละ 5-7 กรัม

เขาเผยด้วยว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดเข้ามาเป็นเครือข่ายป้อนวัตถุดิบไข่เป็ดให้ จำนวน 8 ฟาร์ม โดยมีปริมาณรับซื้อไข่เป็ดสดกว่า 30,000 ฟองต่อวัน ส่วนกระบวนการในการดองตลอดจนนำเข้าเครื่องแล้วเสร็จพร้อมส่งอยู่ที่ประมาณ 20 วันต่อรอบ โดยหลังจากผ่านกระบวนการต่างๆ แล้ว บริษัทจะมีกำไรประมาณ 20% จากราคารับซื้อไข่เป็ดสดจากเกษตรกร

ด้านสัดส่วนตลาดเวลานี้ กว่า 90% จะส่งให้ซีพีแรมนำไปผลิตเป็นไส้ซาลาเปาขายในร้าน 7-11 เฉลี่ยปริมาณการส่งไข่แดงเค็มประมาณ 5 ตันต่อสัปดาห์ ส่วนอีก 10% จะส่งให้ผู้ผลิตขนมต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ไข่แดงเค็ม เช่น ผู้ผลิตขนมเปี๊ยะ และร้านอาหาร เป็นต้น

นอกจากนั้น ในส่วน “ไข่ขาวเค็ม” จะขายให้ผู้ผลิตที่ต้องการใช้เป็นส่วนประกอบอาหาร เช่น ผู้ผลิตเส้นบะหมี่ เป็นต้น ขณะที่ “เปลือกไข่” ขายให้ผู้ผลิตนำไปทำเป็น “ปุ๋ย” โดยปีที่แล้ว (2558) บริษัท คุณภาพ จำกัด มีผลประกอบการกว่า 70 ล้านบาท และตั้งเป้าว่าปีนี้ (2559) จะเพิ่มเป็นกว่า 100 ล้านบาท

เจ้าของไอเดียไข่สั่งได้เผยด้วยว่า เริ่มต้นธุรกิจนี้ประมาณ พ.ศ. 2552 เบื้องต้นลงทุน ประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งความยากในยุคแรกอยู่ที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดให้หันมาเลี้ยงในระบบปิด กว่าจะสำเร็จใช้เวลาอยู่นานนับปี แต่จากนั้นธุรกิจนับว่าเติบโตสม่ำเสมอ เฉลี่ยปีละ 20% เนื่องจากมีตลาดรับซื้อแน่นอน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเคยพบวิกฤตครั้งสำคัญจากอุทกภัยใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2554 น้ำท่วมโรงงานซึ่งอยู่ใน จ.พระนครศรีอยุธยา สร้างความเสียหายหนัก กว่าจะฟื้นฟูขึ้นได้ใช้เวลานับปี ด้วยการลงทุนสร้างโรงงานใหม่ที่ได้มาตรฐานสูงกว่าเดิม ทั้ง GMP, HACCP และฮาลาล

สำหรับแผนธุรกิจในปีนี้นั้น ยุทธนาฉายภาพให้ฟังว่าจะขยายตลาดด้วยการทำบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป และสร้างแบรนด์ เพื่อวางขายตามห้างสรรพสินค้าสำหรับแม่บ้านที่ต้องการใช้ไข่แดงเค็มไปประกอบอาหาร นอกจากนั้นส่งเข้าร้านทำขนมต่างๆ มากยิ่งขึ้น รวมถึงมองถึงตลาดส่งออก โดยส่งให้แก่ผู้ผลิตอาหารแช่แข็งต่างๆ

เขาระบุด้วยว่า ปัจจุบันมีคู่แข่งที่ทำสินค้าคล้ายๆ กันประมาณ 2-3 ราย อย่างไรก็ตาม ด้วยความต้องการของตลาดที่ยังสูง การแข่งขันยังไม่ดุเดือดมากนัก และที่สำคัญ บริษัทมั่นใจด้านคุณภาพและมาตรฐานการผลิตที่สูงที่สุด ดังนั้น เป้าที่ตั้งไว้ 100 ล้านบาทจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำได้

จากการเอาชนะปัญหาใกล้ตัวสำเร็จ และหาช่องทางตลาดได้ถูกต้อง ช่วยให้ทุกวันนี้ธุรกิจของบริษัท คุณภาพ จำกัด ผ่านยุคตั้งไข่ พร้อมเดินต่อไปข้างหน้า

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น