xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “อุทยานวิทยาศาสตร์” ตัวช่วย SMEs ใกล้ชิดนวัตกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพมุมสูงอุทยานวิทยาศาสตร์ (อวท.) ตั้งอยู่ในบริเวณ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ต่อไปการวิจัยและพัฒนาของภาคธุรกิจ SMEs จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะ “อุทยานวิทยาศาสตร์” (อวท.) ภายใต้การบริหารงานของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ระดมนักวิจัย นักวิชาการ นักพัฒนา และพื้นที่ทำงานวิจัยแก่ภาคเอกชนด้วยเงินลงทุนต่ำ หลังพบงานวิจัยเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจและเศรษฐกิจชาติ

เป็นที่รู้กันว่าเพื่อทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเติบโตอย่างยั่งยืน ผู้ประกอบการต้องมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อสร้างความต่างและก่อเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องแลกมาด้วยเงินทุนมหาศาล ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐฯ จึงต้องยื่นมือเข้ามาช่วย หนึ่งในนั้นคือ “อุทยานวิทยาศาสตร์” ภายใต้การบริหารงานของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงก่อตั้งขึ้นเป็น 'สำนักวิจัยเอกชนแห่งแรกในไทย'

“อุษารัตน์ บุนนาค” ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายการตลาด และกิจกรรมส่งเสริมคลัสเตอร์ เผยถึงความสำคัญของ อวท.เพื่อ SMEs ว่า เป็นหน่วยงานหลักที่ให้ความสำคัญต่อการวิจัยภาค SMEs มาตั้งแต่ปี 2545 หรือกว่า 10 ปีมาแล้ว เน้นการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม สนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน โดยจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะเสริมสร้างระบบนวัตกรรมของประเทศ นอกจากนี้ยังมีบริการที่ตอบสนองความต้องการของธุรกิจเทคโนโลยีที่ครบวงจร
อุษารัตน์ บุนนาค ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายการตลาด และกิจกรรมส่งเสริมคลัสเตอร์
@@@ทำไม SMEs ต้องการงานวิจัยและพัฒนา@@@

หากย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจเอสเอ็สอียืนหยัดอยู่ได้ด้วยการ 'รับจ้างผลิต' หรือ OEM หลายประเทศคู่ค้าต่างให้ความไว้วางใจและยอมรับในฝีมือ แต่เมื่อค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ไม่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต และกำไรของผู้ประกอบการที่ควรจะได้ ทำให้หลายประเทศเริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า

ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณบอกเหตุแห่งอนาคตถึงความไม่ยั่งยืนในภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ทำให้ภาครัฐฯ ต้องก่อตั้ง “อุทยานวิทยาศาสตร์” ขึ้นเพื่อรองรับปัญหาที่เริ่มก่อตัว โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะอยู่รอดได้นั้นผู้ประกอบการต้องพึ่งพาตนเอง สร้างแบรนด์ รังสรรค์สินค้าที่สร้างความแตกต่าง ซึ่งงานวิจัยและพัฒนาถือเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับเอสเอ็มอีเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและพร้อมแข่งขันกับต่างชาติ

@@@สารพันตัวช่วย SMEs เพื่องานวิจัยกับ อวท.@@@

ครั้นจะให้ SMEs ลงทุนด้วยเงินมหาศาลสร้างห้องวิจัย เพื่อการวิจัยผลิตภัณฑ์ของตนเอง ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าผลออกมาจะเวิร์กหรือไม่? และสร้างผลกำไรอย่างคุ้มค่าให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆ เหล่านี้ ดังนั้นจึงกลายเป็นอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้ SMEs ไปไม่ถึงฝั่งฝันด้านงานวิจัย

ฉะนั้นเรื่องเงินลงทุนจึงต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐฯ ในการตระเวนหาอุปกรณ์ ห้องทดลอง รวมถึงผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาแนะนำ ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแต่ละราย ซึ่งที่ อวท.เป็นแหล่งรวมนักวิจัย ระดับด็อกเตอร์ไว้กว่า 400 คน และนักวิจัยอาชีพที่ทำงานได้ พร้อมช่วยเหลือ SMEs ที่เพียงเข้ามาขอคำปรึกษาและแจ้งความจำนงถึงความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง ขณะที่ห้องวิจัยก็ออกแบบเน้นการวิจัยโดยเฉพาะ มีความปลอดภัยสูง โดยอุปกรณ์บางตัวยังมีเพียงเครื่องเดียวในไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ภาคเอกชนไม่จำเป็นต้องลงทุนเอง แต่มาใช้บริการได้ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า พร้อมผู้เชี่ยวชาญแนะนำการใช้งานอีกด้วย
ห้องทำงานวิจัย ภาคเอกชนเข้ามาใช้บริการได้
@@@เอกชนเช่าพื้นที่ตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนากว่า 70%@@@

นอกจากอุทยานวิทยาศาสตร์จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่องานวิจัยแก่เอสเอ็มอีแล้ว ยังสร้างพื้นที่ให้ภาคเอกชนทั้งไทยและเทศกว่า 70 ราย มาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาจนเต็มพื้นที่ โดยราว 30% ของผู้เช่าพื้นที่เป็นบริษัทข้ามชาติจากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และฝรั่งเศส โดยสัดส่วนของกิจกรรมวิจัยและพัฒนาของผู้เช่าพื้นที่แยกตามสายเทคโนโลยี ได้แก่ เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ (28%) เทคโนโลยีโลหะและวัสดุ (28%) และเทคโนโลยีชีวภาพ (30%) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยจึงถือเป็นศูนย์กลางทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นพื้นที่เช่าสำหรับการทำวิจัยและพัฒนาที่ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทชั้นนำจากทั่วโลก ได้แก่ บริษัท เอ็กโคแล็บ จำกัด, บริษัท แอร์ โพรดักส์ เอเชีย จำกัด, บริษัท โซเอติส และ บริษัท เอ็มส์แลนด์ เอเชีย ฟู้ด อินโนเวชั่น คอร์ป จำกัด เป็นต้น ในส่วนของเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ก็มีบริษัท กราวิเทคไทย (ไทยแลนด์) จำกัด ออกแบบและผลิตชุดทดลองอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการวิจัยและพัฒนา และยังให้บริการสถานที่ทำงาน (MakerSpace) พร้อมทั้งเครื่องมือและให้คำปรึกษาสำหรับนักประดิษฐ์ (Maker) ในการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เป็นต้น รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ 2 บริษัทได้เช่าพื้นที่เพื่อตั้งศูนย์วิจัยให้กับองค์กรของตนเอง คือบริษัทในเครือเบทาโกร ได้มีการลงทุนกว่า 500 ล้านบาท และบริษัทในเครือซิเมนต์ไทย 2 บริษัท ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยของเครือในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ได้แก่ บริษัท เอสซีจี ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัดและ บริษัท สยามวิจัยและนวัตกรรม จำกัด อีกด้วย
บรรดานักวิจัยอาชีพ คอยให้บริการ
@@@เอกชนเช่าพื้นที่ทำงานวิจัยสร้างมูลค่าเพิ่ม 100 ลบ.@@@

หนึ่งในตัวอย่างภาคเอกชนที่ตัดสินใจเช่าพื้นที่ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านอาหารเสริม รวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพหลากหลายชนิดตามที่ลูกค้าต้องการ อย่าง บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทแนวหน้าของประเทศไทย ที่มีความมุ่งมั่นในการให้บริการทางด้านนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

ภายใต้การบริหารของ “พิชชากานต์ พิทยกรพิสุทธิ์” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด ได้เริ่มจากการรับวิจัยและพัฒนาสูตรให้แก่ลูกค้า สู่การให้บริการแบบครบวงจรสำหรับการทำผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยผู้บริหารและทีมงานรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจจริงในการผลักดันให้บริษัท ซีดีไอพี ก้าวสู่การเป็นผู้นำการให้บริการแบบครบวงจร ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่รวมการให้บริการแบบครบวงจรด้านผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

“ปัจจุบันบริษัทฯ ของเราตั้งอยู่ที่ อวท.เพียงแห่งเดียว โดยใช้เป็นพื้นที่เพื่อทำงานวิจัยผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าเพียงอย่างเดียว โดยเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ ซึ่งการที่บริษัทฯ ตั้งอยู่ที่ อวท. นอกจากจะช่วยลดต้นทุนด้านการซื้ออุปกรณ์งานวิจัยแล้ว ยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้องค์กรอีกด้วย”
พรั่งพร้อมด้วยนักวิจัยอาชีพ คอยให้คำปรึกษา
@@@ก้าวต่อไปของ อวท.@@@

สำหรับแผนการดำเนินงานปี 2559 ของ อวท.นั้น ขณะนี้อยู่ในช่วงการพัฒนา อวท. ระยะที่ 2 ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. Strengthening Target Industries เป็นการนำความสามารถและความเชี่ยวชาญใน อวท. พัฒนาเป็นคลัสเตอร์นวัตกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ (Auto Parts Innovation Cluster, APIC) และสร้างเครือข่ายนวัตกรรมอาหาร (Food Innovation Network, FIN) 2. Enhancing R&D Capability สนับสนุนบริษัทเอกชนใน อวท.ให้ทำวิจัยได้รวดเร็วและเข้มข้นขึ้น โดยเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือ เพิ่มขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ง่ายต่อการเข้าถึง บริการเครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบต่างๆ และกลไกสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น บริการที่ปรึกษาทางเทคโนโลยี (iTAP) และ 3. Management R&D Estate พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับ world class เพื่อตอบโจทย์การทำวิจัยในสาขาต่างๆ ก็คือ อาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 (Innovation Cluster 2, INC 2) ซึ่ง INC 2 ประกอบด้วยกลุ่มอาคาร 4 หลังที่เชื่อมต่อกัน มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 124,000 ตร.ม. พื้นที่ใช้สอย 72,000 ตร.ม. โดยในเฟสแรกได้เปิดให้เอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อทำวิจัยที่อาคาร D ปัจจุบันมีประมาณ 20 บริษัทเป็นพื้นที่กว่า 70% และคาดว่าภายใน 3 ปีข้างหน้าเอกชนจะเข้ามาตั้งศูนย์วิจัยจนเต็มพื้นที่ จะทำให้นิคมวิจัยแห่งนี้เป็นแหล่งรวมบริษัทเอกชนกว่า 150 บริษัท แหล่งรวมนักวิจัยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไม่น้อยกว่า 5,000 คน

อย่างไรก็ตาม อวท.ถือเป็นนิคมวิจัยแห่งแรกที่มี Innovation Ecosystem ที่สมบูรณ์ที่สุด ด้วยสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมบนพื้นที่กว่า 200 ไร่ แวดล้อมด้วยสถาบันการศึกษาชั้นนำ ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยแห่งชาติ 4 ศูนย์ (BIOTEC, NECTEC, MTEC และ NANOTEC) มีนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญกว่า 3,000 คน และยังเป็นแหล่งรวมของบริการด้าน วทน. เช่น ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบต่างๆ บริการทางด้านการเงิน โดย อวท.จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากทั้งสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจกรรมวิจัยได้รวดเร็วขึ้นและมีต้นทุนที่ต่ำลง
พิชชากานต์ พิทยกรพิสุทธิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด
***ติดต่ออุทยานวิทยาศาสตร์ โทร. 0-2564-7000 หรือที่ www.sciencepark.or.th***
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น