xs
xsm
sm
md
lg

ปิดรถคันแรกสิ้นเดือนก.ย. ไฟเขียวอุ้มSMEงบแสนล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ครม.เห็นชอบให้สิ้นสุดโครงการรถยนต์คันแรกในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ส่วนการผ่อนปรนเวลาครอบครองจากเดิม 5 ปี เหลือ 3 ปี ต้องศึกษาอีกครั้ง ไฟเขียวมาตรการช่วยเหลือ SMEs วงเงิน 1 แสนล้าน พร้อมลดภาษีสนับสนุนให้เข้มแข็ง นายกฯ บอกวันนี้แข็งแรงขึ้น เจ็บขาน้อยลง เผยสัปดาห์หน้า‘คิกอ๊อฟ’แผนขับเคลื่อนศก.ฐานราก ย้ำไม่ใช่ประชานิยม บอกอะไรติดขัดพร้อมใช้ ม.44 ให้เกิดประโยชน์ เร่งเพิ่มเม็ดเงินธนาคารรัฐ จูงใจนักลงทุนเข้าระบบเอสเอ็มอี เร่งเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานชัดเจน

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบปิดโครงการรถยนต์คันแรกวันที่ 30 ก.ย.นี้ หลังจากเลื่อนเวลาระยะหนึ่งแล้ว และที่ผ่านมาเจ้าของรถจองสิทธิ์ไว้จำนวน 10,000 คน และได้ใช้สิทธิ์เพียง 3,000 คน โดยมีการซื้อรถจริง 2-5 คันต่อเดือน ยอดรวมทั้งโครงการรถยนต์คันแรกมีประชาชนจองซื้อรถกว่า 1 ล้านคัน เป็นเงินช่วยเหลือประมาณ 90,000 ล้านบาท ส่วนการพิจารณาเรื่องผ่อนปรนกำหนดเวลาในการครอบครองรถยนต์จากเดิม 5 ปีนั้น ยังอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.วานนี้ (8 ก.ย.) มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ประกอบด้วย มาตรการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยให้ธนาคารออมสินเป็นแกนนำร่วมกับธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ย 4%, รวมทั้งมาตรการภาษี ซึ่งจะลดหย่อนภาษีให้กับ SMEs ที่มีกำไรในส่วนที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท เหลือ 10% ใน 3 ปีบัญชี พร้อมเตรียมเม็ดเงินจากธนาคารของรัฐรวม 6,000 ล้านบาทตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือฐานทุนให้กับ SMEs เน้นรายใหม่

"ครม.มุ่งหวังให้เข้มแข็ง และสร้าง SMEs ใหม่เพื่อเป็นฐานในอนาคต มาตรการที่ออกมาจะเป็นส่วนที่ช่วยเปิดช่องให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เพราะมองว่าการขยายฐานส่งเสริม SMEs เหมือนการปลูกป่าที่ต้องสร้างไว้ อันนี้เป็นการเริ่มต้นเท่านั้น ในส่วนการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบ มีมาตรการช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ขยายเงินทุนให้ SMEs ที่มีทุนน้อย และการลดภาระภาษี" นายสมคิด กล่าว

ขณะที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า มาตรการการเงินการคลังเพื่อช่วยเหลือ SMEs ระยะเร่งด่วน มี 5 มาตรการ ดังนี้ 1. โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs กำหนดให้ธนาคารออมสินให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่อัตรา 0.1% ต่อปี และธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาให้สินเชื่อ 7 ปี วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท และรัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้กับธนาคารออมสิน โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นขอสินเชื่อภายใน 31 ธันวาคม 2558

ธนาคารออมสินยังมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยใช้วงเงินจากโครงการนี้ ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือชาวประมง “ประมงไทยก้าวไกลสู่สากล” 2) โครงการสินเชื่อ SMEs เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการประหยัดพลังงาน 3) โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ 4) โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อผู้รับเหมางานภาครัฐ 5) โครงการสินเชื่อ SMEs เพื่อเสริมสภาพคล่อง

2. การปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme (PGS-5) ผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อช่วยให้ SMEs ที่ขาดหลักประกันใน การกู้ยืมเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้น มีวงเงินค้ำประกัน 100,000 ล้านบาท วงเงินค้ำประกันต่อราย SMEs สูงสุดไม่เกิน 40 ล้านบาท ระยะเวลาการค้ำประกัน 7 ปี โดย บสย.จ่ายค่าประกันชดเชยความเสียหายไม่เกิน 30% ของภาระค้ำประกัน และคิดอัตราค่าธรรมเนียม 1.75% โดยรัฐบาลจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในปีแรก และจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในอัตรา 1.25% ในปีที่ 2 คิดค่าธรรมเนียม 0.75% ในปีที่ 3 และคิดค่าธรรมเนียม 0.25% ในปีที่ 4 โดยผู้ประกอบการสามารถรับคำขอค้ำประกันได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559

3. มาตรการสนับสนุน SMEs ผ่านการร่วมลงทุนใน SMEs ระยะเริ่มต้นที่มีศักยภาพสูง โดยความร่วมมือของธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.)และธนาคารกรุงไทย ในการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนแห่งละ 2,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนอีกทางหนึ่งสำหรับ SMEs ที่มีศักยภาพให้สามารถเติบโตได้ต่อไป

4. มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีกำไรสุทธิตั้งแต่ 300,001 บาทขึ้นไป จากเดิม 15% และ 20% ของกำไรสุทธิ เป็น 10% ของกำไรสุทธิ เป็นเวลา 2 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 จนถึงรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้

5. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ประกอบกิจการที่จดทะเบียนพาณิชย์ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559 เป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน โดยผู้ประกอบการ SMEs ที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องมีคุณสมบัติ (1) เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ดิจิตอล และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น (2) จะต้องจดแจ้งการขอใช้สิทธิกับกรมสรรพากร (3) ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน (4) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

"ผลของมาตรการการเงินจะส่งผลให้ SMEs มีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่องจำนวน 60,000 ราย (วงเงินสินเชื่อ SMEs เฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 3.3 ล้านบาท) สามารถรักษาสภาพการจ้างงานได้ประมาณ 240,000 คน (เฉลี่ย 4 คนต่อราย) และส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบทันทีก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะสามารถสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 1.94 ล้านล้านบาท (ใช้ค่าเฉลี่ย Multiplier Effect ที่ 9.7 เท่า ของวงเงินโครงการ) ช่วยให้ SMEs มีความเข้มแข็งและเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป ส่วนมาตรการภาษีจะช่วยลดภาระต้นทุนทางภาษีให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพ และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย".

***บิ๊กตู่เผยสัปดาห์หน้า"คิกอ๊อฟ"ขับเคลื่อนศก.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้แข็งแรงขึ้นแล้ว ขาเจ็บน้อยลง สำหรับผลการประชุมครม.ประเด็นหลักคือเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องมาตรการต่างๆ ในเมื่อเรากำหนดมาตรการเอาไว้แล้วทั้งตามมติครม. การเดินหน้าการขับเคลื่อน ในสัปดาห์หน้าจะคิกอ๊อฟเรื่องเหล่านี้ที่เมืองทองธานี จะมีการเชิญกองทุนหมู่บ้าน และจะมีการเตรียมการประชุมล่วงหน้าไว้ก่อน ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ประชาชนรู้ว่านี่คือสิ่งที่เราจะทำจริงๆ ในเรื่องงบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานราก และสร้างความเข้มแข็งของเขาให้ได้ ไม่ใช่การทำประชานิยม เงินที่เราลงทุนไปจะเกิดประโยชน์และรายได้มากที่สุด รวมทั้งต้องดูเรื่องกฎหมายด้วย การทำอะไรก็ตามต้องใช้กฎหมาย อะไรที่ติดขัดอาจจะใช้มาตรา 44 บ้างเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายกฯ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมวันนี้คุยเรื่องเงินลงทุน เงินทุนของเอสเอ็มอี ค่าประกันการเพิ่มทุน เพื่อจูงใจให้เอสเอ็มอีทั้งหมดเข้าระบบ ที่ขณะนี้เอสเอ็มอีทั่วประเทศประมาณ 2.7 ล้านราย จำนวนนี้มีมากกว่า 2 ล้านรายที่ไม่ขึ้นทะเบียนในระบบ แต่เขาได้เสียภาษี ตอนนี้ก็ได้เพิ่มเม็ดเงินเข้าไปในธนาคารรัฐ เพื่อเร่งและสร้างแรงจูงใจ ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้เขาได้พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตได้ บางอย่างผลิตออกมาแล้วขายไม่ได้ ต้องมีการปรับปรุงกันอย่างไร และเรื่องมาตรการทางภาษี เป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้จะใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งเป็นหลักการทั่วไปอยู่แล้วในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ผู้ที่ยังไม่เข้มแข็ง ผู้ที่ต้องมีการพัฒนาและปรับปรุง เพราะมีหลายอย่างที่ต้องสอดคล้องกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่มีการแยกเป็น 3 ประเภท 1.เข้มแข็งและขยายกิจการ 2.ไปต่างประเทศ 3.ฟื้นฟูกิจการที่กำลังจะเริ่มใหม่ จะต้องมีการซับพอร์ตทั้งหมด ถ้าคนเล่านี้ไม่เข้ามาอยู่ในระบบการสนับสนุนต่างๆก็ทำได้ยาก อย่าเพิ่งกังวลเรื่องภาษี อย่าไปกลัว มีหลักเกณฑ์ในการจ่ายอยู่แล้ว ซึ่งวันนี้ครม.มีการอนุมัติขั้นต้นไปแล้ว

นายกฯ กล่าวว่า เราจะใช้เวลาที่มีอยู่ในขณะนี้ในเรื่องการขับเคลื่อนประเทศ 1.สิ่งที่มันต้องถอยหลัง ที่มันต้องหยุดมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร เรามีศักยภาพพร้อมทุกอย่าง เราต้องขับเคลื่อนและเดินหน้าประเทศให้ได้ในทุกมิติ 2.ต้องเพิ่มความเข้มแข็งและพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดอำนาจความเข้มแข็งเรื่องการส่งออก เรื่องรายได้ที่จะเข้าประเทศ รวมถึงเรื่องการลงทุน เพราะในเศรษฐกิจใหม่ไม่ได้พึ่งการส่งออกแต่เพียงอย่างเดียว เขาเคยทำกันหรือไม่ตนอยากจะรู้ เอสเอ็มอีเขาเคยทำกันหรือไม่ วันนี้เอสเอ็มอีเขาก็มาทำร่วมกับธนาคารรัฐ และก็ร่วมกับการบริหารของรัฐบาล มีคนเข้ามาเยอะแยะ มีการยกระดับหลายแห่ง ที่ทำทั้งหมดท่านเกี่ยวแต่เรื่องการเมือง เกี่ยวกับเรื่องมาตรา 44 เรื่องที่มันจบไปแล้วก็ไม่จบ ตนทำให้มันจบไง เรื่องที่มันเป็นความขัดแย้งให้จบไปก่อน

นายกฯ กล่าวว่า เรื่องการเร่งรัดการลงทุนพื้นฐานวันนี้ชัดเจนขึ้น ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า ต้องเร่งให้ได้ โดยที่เราไม่ต้องเสียประโยชน์ ไม่ใช่เหมือนที่ผ่านมา อะไรก็ไม่รู้งุ๊บงิบๆกันอยู่ มันก็เดินไม่ได้หมดนั้นแหละ มันต้องชัดเจน อะไรที่ตัดสินใจไปแล้วมันผ่านการกลั่นกรอง วิเคราะห์ มากมาย บางสื่อก็ไปเขียนอะไรไม่รู้ ไม่รู้ข้อมูลแล้วนำไปเขียน เขียนไปก็ไม่ได้ประโยชน์นี่คือปัญหาของเรา คนที่ให้ข้อมูลท่าน ท่านต้องรู้ว่าเป็นพวกไหน ถ้าเป็นเรื่องธุรกิจ การลงทุน การทำสัญญา ดูสิว่าคนที่มันมาบอกท่านเป็นคนอย่างไร บริษัทนี้เป็นบริษัทที่ใช้ได้ไหม ส่วนใหญ่มีการร้องเรียนจากพวกนั้นทั้งนั้นแหละ ที่มีการประมูลแข่งขันก้นแล้วไม่ได้ ก็มาตีข้างนอก มันก็ทำไม่ได้ ทุกวันนี้ท่านก็ทำอะไรไม่ได้ รถเมล์ก็วิ่งไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ แล้วท่านจะเอาอะไรจากตนล่ะ ท่านก็ต้องกลั่นกรองหน่อย จะเสนอข่าวอะไรก็แล้วแต่

นายกฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้การลงทุนพื้นฐานวันนี้มีการลงทุนขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ วางอนาคตประเทศ และมีการขับเคลื่อนมากขึ้น มีการใช้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ของรัฐบาล จะทำให้เข้าใจว่าเขาทำงานกันอย่างไร ก็ทำสามอย่างนั่นแหละ ความขัดแย้งก็ร่วมกับคสช. บริหารประเทศก็ร่วมกับรัฐบาล ปรองดองก็ร่วมกับกระบวนการยุติธรรม เอาคดีความเยียวยากันอย่างไร ดูเรื่องง่ายไปก่อน ยากค่อยไปว่ากันทีหลัง เพราะต้องมีการออกกฎหมาย เรื่องการปฏิรูปก็นำแผนเข้ามา อะไรที่ทำได้ก็ทำ อะไรที่จะต้องมีการบูรณาการระหว่างกระทรวง มาตรา 44 ต้องบูรณาการให้ได้ กฎหมายกระทรวงมันทำอะไรไม่ได้ทั้งหมด นั่นคือแนวทางที่จะต้องมีการปรับโครงสร้างต่อไปในอนาคต ถ้าไม่ทำแบบนี้มันทำไม่ได้ จะต้องมีการนำร่องให้เห็นก่อน ไม่ใช่อยู่ดีๆจะไปปรับ
กำลังโหลดความคิดเห็น