ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) จัดโครงการ “เปลี่ยนแล้วรวย” (CHANGE SMEs) โดยเชิญต้นแบบผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จมาเป็นวิทยากรบอกเล่าประสบการณ์ ตลอดจนแนวคิดและวิธีการปรับเปลี่ยนเชิงธุรกิจจนประสบความสำเร็จ
หนึ่งในวิทยากรคือ “ชาตยา สุพรรณพงศ์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะบาร์บีคิวพลาซ่า จำกัด ทายาทธุรกิจ “เดอะบาร์บีคิวพลาซ่า” ร้านอาหารปิ้งย่างเจ้าดังของไทย ที่เมื่อ 4-5 ปีที่แล้วได้พลิกโฉมแบรนด์ใหม่ ภายใต้แนวคิดเปลี่ยนจุดยืนของร้านจากเป็นเพียง “มุ่งขายอาหาร” มาสู่ “การขายความสุข” ช่วยผลักดันให้ธุรกิจเติบโตอย่างสูง และกลับมาเป็นเบอร์หนึ่งในวงการ
@@@ถึงเวลา “บาร์บีคิวพลาซ่า พลิกโฉม@@@
ชาตยาเล่าว่า ธุรกิจร้านเดอะบาร์บีคิวพลาซ่าเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อ 29 ปีที่แล้ว โดยคุณพ่อและคุณแม่เป็นผู้บุกเบิก ซึ่งที่ผ่านมาทำธุรกิจภายใต้กรอบว่า เรากำลังทำร้านอาหาร ดังนั้น แนวคิดในการทำธุรกิจที่ผ่านมาจึงมุ่งเน้นไปในการพัฒนาเกี่ยวกับร้านให้ดีที่สุด เช่น เรื่องความอร่อย บริการ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารการแข่งขันสูงมาก มีร้านเกิดใหม่จำนวนมาก ดังนั้น การแข่งขันจึงมุ่งไปยังสงครามราคา ทำให้ร้านถูกแย่งชิงฐานลูกค้าไปจำนวนมาก ทางเดอะบาร์บีคิวพลาซ่าจึงย้อนกลับมาคิดถึงการปรับเปลี่ยนธุรกิจ หรือ “รีแบรนด์” เสียใหม่ เพื่อจะหลีกเลี่ยงการแข่งขันจากตลาดเดิมๆ
“การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เราเลยมาถึงว่า ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนความคิด สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผลักดันให้ทุกๆ คนในองค์กรทำธุรกิจบนความเชื่อ หรือ Passion หากมีสิ่งนี้แล้วจะผลักดันให้เราอยากจะออกไปทำงานในทุกๆ วัน เพราะรู้สึกว่ากำลังทำในสิ่งที่มีความหมายมากๆ และ Passion เหล่านี้ไม่ควรจะหยุดแค่ตัวเจ้าของ หรือผู้บริหารเท่านั้น แต่ต้องส่งต่อไปยังคนในบริษัททั้งหมด โดยเฉพาะ “พนักงาน” ที่จะเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือบริษัทใหญ่ หากจะประสบความสำเร็จได้ต้องกระจายแนวคิดไปให้คนรอบๆ ตัวช่วยกันผลักดันความเชื่อนี้ออกไปด้วย”
@@@ สร้างความเชื่อจากภายในสู่ภายนอก@@@
ทายาทธุรกิจร้านอาหารปิ้งย่างเจ้าดังกล่าวต่อไปว่า สำหรับวิธีการของเดอะบาร์บีคิวพลาซ่า ที่อยากจะเปลี่ยนแปลงความคิดนี้ไปสู่คนภายนอก และไปสู่พนักงาน ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือ เรื่อง “Start with why” โดยผู้เขียน “MR. SIMON SINEK” ซึ่งตั้งคำถามว่า เคยสงสัยบ้างไหมว่า ทำไมบางบริษัทหรือบางองค์กรจึงประสบความสำเร็จมากกว่าเจ้าอื่นๆ ทำอะไรขึ้นมามักประสบความสำเร็จเสมอ ในขณะที่อีกบริษัท แม้จะมีสินค้าหรือศักยภาพธุรกิจใกล้เคียงกัน แต่กลับไม่สำเร็จเท่า
“ในหนังสือเล่มนี้บอกถึงหลักการ GOLDEN CIRCLE ซึ่งเป็นการผลักดันการสื่อสารจากข้างในไปสู่ข้างนอก และ “บาร์บีคิวพลาซ่า” ก็ใช้หลักการนี้ในการปรับเปลี่ยนธุรกิจ ซึ่งทั่วๆ ไปแล้วธุรกิจต่างๆ จะสื่อสารจากข้างนอกไปสู่ข้างใน เริ่มต้นที่ WHAT หมายถึง สื่อสารว่าเราขายอะไร เช่น ขายอาหารปิ้งย่าง สบู่ เสื้อผ้า ฯลฯ แล้วต่อมาคือ HOW หมายถึงสินค้าของเราดีกว่าเจ้าอื่นอย่างไร เช่น อร่อยกว่า สินค้าสดกว่า บริการดีกว่า ฯลฯ เพื่อทำให้เกิดความแตกต่างเหนือคู่แข่ง แต่น้อยองค์กรมากจะสื่อสารไปถึงแก่นภายในของธุรกิจ หรือ WHY นั่นเอง ที่ตั้งคำถามว่า สินค้าตัวนี้เกิดมาเพื่ออะไร หรือเกิดบนโลกนี้มาทำไม”
“ในหนังสือ ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างแบรนด์ “แอปเปิล” (Apple) ที่ใช้การสื่อสารจากภายในไปสู่ภายนอก ซึ่งต่างจากองค์กรอื่นๆ อย่างเช่น ถ้าแอปเปิลจะสื่อสารแบบทั่วไป คงจะบอกว่าเขาเป็นผู้ผลิตเครื่องมือสื่อสาร เครื่องเล่นเพลงที่บรรจุเพลงได้มหาศาล และดีไซน์สวยงามมาก ใช้งานง่าย เป็นต้น แต่แอปเปิลเลือกจะสื่อสารแบบ WHY หรือส่งต่อความเชื่อของเขา ซึ่งความเชื่อของเขาคือ คนมีศักยภาพ และคนสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่ดีกว่าได้เสมอ คนสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ ดังนั้น คนต้องคิดให้แตกต่าง ท้าทายความจำเจแบบเดิมๆ นี่จึงเป็น WHY สำหรับเขา”
“เมื่อแบรนด์แอปเปิลมี WHY เช่นนี้แล้ว จึงค่อยส่งต่อไปยัง HOW ที่สะท้อนผ่านการออกแบบที่พิถีพิถันมากที่สุด ใช้งานง่ายที่สุด แม้แต่เด็ก 3 ขวบยังใช้งานได้ และสุดท้ายค่อยออกมาสู่ WHAT ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่พวกเราใช้กันอยู่ ทั้ง iPhone iPad หรือ iPod”
“เห็นได้ว่าวิธีการสื่อสารเหล่านี้มันทำให้คนเห็นว่าสิ่งที่แอปเปิลทำอยู่ช่างมีคุณค่าสำหรับทุกคนมากเหลือเกิน และเมื่อลูกค้ามีความเชื่อดังกล่าวแล้ว ไม่ว่าแอปเปิลจะทำอะไรออกมา คนก็จะซื้อ เพราะเขามีความเชื่อและศรัทธาแล้ว”
@@@ WHY ของบาร์บีคิวพลาซ่า คือ ขายความสุข @@@
ชาตยากล่าวอีกว่า ทฤษฎีดังกล่าวนี้ MR. SIMON ไม่ได้คิดมาเองเฉยๆ แต่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์คอยประกอบด้วยว่า สมองของคนเราแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนนอกสุดจะใช้ในการควบคุมภาษา วิเคราะห์เชิงตรรกะและเหตุผล แต่สมองส่วนในลึกเข้าไปอีก 2 ส่วนนั้นจะควบคุมด้านอารมณ์ความรู้สึกและสัญชาตญาณ ดังนั้น ถ้าเราต้องการให้ใครคนใดคนหนึ่งเกิดความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ รักในตัวสินค้า และบริการ เชื่อและพร้อมจะสนับสนุน ไม่ใช่แค่ซื้อสินค้าแล้วจบ แต่เป็นแฟนคลับ หรือสาวกประจำของเรา เราต้องสื่อสารเข้าไปให้ลึกข้างในใจ และจิตใจของเขา”
จะทำให้เป็นเช่นนั้นได้ นั่นคือเราต้องสื่อสาร WHY หรือความเชื่อของบริษัทไปถึงเขาให้ได้
เมื่อต้องการจะเปลี่ยนแนวคิดขององค์กรด้วยการใช้แนวทางนี้ เธอระบุว่า ประเด็นคำถามต่อมาคือ “แล้วบริษัทจะหา WHY ของตัวเองได้อย่างไร?” โดยในอดีตบาร์บีคิวพลาซ่าคิดว่าตัวเองค้าขายอาหารประเภทปิ้งย่าง แต่ความเชื่อใหม่ที่อยากจะเปลี่ยน คือ “เราเชื่อในเรื่องความสุข” ธุรกิจของเราเกิดขึ้นมาเพื่อจะสร้างความสุข เราอยากจะดูแลความสุขให้แก่ “คน” ทั้งลูกค้า คู่ค้า พนักงาน โดยมีอาหารหนึ่งมื้อเป็นสื่อกลาง นี่เป็นความเชื่อใหม่ของเรา เปลี่ยนจากความคิดที่ว่าเราขายอะไร ไปสู่เราขายด้วย “ความเชื่ออะไร” เปลี่ยนจาก “ขายอาหาร” มาเป็น “ขายความสุข”
“ปัจจุบันธุรกิจอาหารมีเยอะมาก ตั้งแต่รายใหญ่ถึงรายย่อยนับแสนราย แต่ถ้าเราเชื่อในสิ่งที่ยิ่งใหญ่และมีความหมาย ก็จะมีคนอื่นๆ อยากจะเข้ามาร่วมเชื่อกับเรา”
@@@ พนักงานคือคนสำคัญ @@@@
“ข้อต่อมา นอกจากเราจะบอกว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในธุรกิจอาหารแล้ว แต่เราบอกว่าอยู่ในธุรกิจเกี่ยวกับ “คน” หรือ “พีเพิล บิสิเนส” (People Business) เพราะไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ตามต้องเกี่ยวข้องกับคนทั้งสิ้น เพราะถ้ามีทุกอย่างพร้อม แต่ไม่มีคนที่พร้อมจะมาขายสินค้าให้เรา สินค้าก็ไม่มีทางจะขายได้ ดังนั้น อยากจะให้เปลี่ยนความคิด นอกจากตอบสนองความต้องการลูกค้าแล้ว ต้องเปลี่ยนความคิดกลับมามองคนที่อยู่รอบๆ ตัว นั่นคือ “พนักงาน ทีมงาน และคนในองค์กร” เพราะเขาคือคนสำคัญที่จะช่วยเราขายของ ธุรกิจบาร์บีคิวพลาซ่าไม่สามารถเปลี่ยนหรือสร้างได้ด้วยแค่คนเดียว หรือผู้บริหารคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากพนักงานทุกคนมาช่วยพลิกฟื้นหรืออาจจะเรียกว่า “รีแบรนด์” ให้เรากลับมายืนอยู่ตรงนี้ได้”
ชาตยากล่าวต่อว่า เมื่อมีแนวคิดจะทำให้บาร์บีคิวพลาซ่าเป็นธุรกิจขายความสุขผ่านมื้ออาหารเมนูปิ้งย่างจะทำให้เกิดขึ้นได้จริง พนักงานต้องเข้ามามีส่วนร่วม เมื่อเรานำความเชื่อเรื่อง “ความสุข” กับเชื่อ “เรื่องคน” ที่มีหน้าที่ส่งมอบความสุขในวงกว้าง
“แม้ว่าความคิดดังกล่าวจะดูจับต้องได้ยาก ดูเหมือนเป็นคำพูดสวยงามที่เพ้อฝันอยู่ในอากาศ แต่ถ้าเราจับมาทำให้เป็นรูปธรรม จะเกิดผลลัพธ์ทางธุรกิจได้
“โดยเราใช้การทำความเข้าใจภายในเสียก่อน ซึ่งอยากแนะนำให้ทำแบบ inside out แม้ว่าหลายปีหลังที่ผ่านมาคนภายนอกลูกค้าทั่วไปจะบอกว่าเห็นการเปลี่ยนแปลงของบาร์บีคิวพลาซ่า แต่ที่เห็นต่างๆ เหล่านั้นมันเป็นผลที่เกิดจากภายในมาก่อนแล้ว ซึ่งเราทำมานาน ก่อนที่จะออกไปสู่สายตาคนภายนอก เพราะถ้าเราเอาแต่บอกว่าเราได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่เป็นการบอกแค่จากการโฆษณา ไม่ได้เกิดจากภายในจริงๆ พอลูกค้าเข้ามาสัมผัสจริงๆ ก็จะไม่สามารถรู้สึกได้ การบอกแค่ปากก็ไม่มีประโยชน์”
@@@ ชูโมเดล “วงจรแห่งความสุข” ขับเคลื่อนธุรกิจ@@@
“ดังนั้นเราจำเป็นที่ต้องเริ่มสร้างความเชื่อจากคนในองค์กร เพื่อให้คนในองค์กรเกิดความเชื่ออย่างเดียวกัน 100% จึงจะสื่อสารความเชื่อเหล่านั้นไปสู่คนภายนอกได้ เราเลยมีโมเดลที่คิดขึ้นมา เรียกว่า “วงจรแห่งความสุข” เริ่มจากดูแลพนักงาน ทีมงานให้มีความสุขก่อน เพราะถ้าคนทำงานมีความสุขแล้ว จะเกิดความคิดสร้างสรรค์ มีพลังงาน มีแรงใจที่จะส่งมอบความสุขให้แก่ลูกค้าได้”
“และเมื่อพนักงานมีความสุขแล้ว จะส่งไปต่อไปยังลูกค้าได้รับความสุขเช่นกัน และเมื่อลูกค้าเกิดความสุข เกิดความพึงพอใจ ก็จะกลับมาใช้บริการบ่อยๆ และไปช่วยบอกต่อ ส่งให้ธุรกิจเกิดความแข็งแรง และเมื่อมีเงินเข้ามา เราก็จะนำผลตอบแทนกลับไปดูแลพนักงานได้ดียิ่งขึ้นไปอีก พอพนักงานมีความสุขก็ยิ่งไปดูแลลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น กลายเป็นวงล้อแบบนี้หมุนไปเรื่อยๆ”
“อย่างไรก็ตาม การทำลักษณะนี้เราต้องค่อยๆ ทำทีละเล็กทีละน้อย ใช้งบประมาณไม่ต้องมาก แต่ต้องสม่ำเสมอ ตัวอย่างเช่น เราอยากให้พนักงานส่งมอบความสุข ดังนั้น พนักงานต้องมีความภาคภูมิใจในหน้าที่ของตัวเอง อย่างพนักงานเสิร์ฟ เราจะบอกว่า คุณไม่ใช่แค่กำลังเสิร์ฟอาหารเป็นจานๆ นะ แต่คุณกำลังช่วยสร้างธุรกิจอาหารปิ้งย่างอันดับหนึ่งของประเทศ ซึ่งจะทำให้เขาภาคภูมิใจได้”
“นอกจากนั้น เราใส่ใจในรายละเอียด ตั้งแต่เรื่องของชุดฟอร์มพนักงาน เขาต้องสวมใส่แล้วภาคภูมิใจ และรู้สึกสบายที่สุด ดังนั้น การออกแบบชุด เราลองให้พนักงานเสิร์ฟใส่ “เครื่องนับก้าว” เพื่อจะดูว่า เขาต้องเดินวันละเท่าไร ผลปรากฏว่าโดยเฉลี่ยพนักงานเสิร์ฟต่อคนเดินกว่า 10 กิโลเมตรต่อวัน ดังนั้น เราเลยออกแบบให้พนักงานใส่ “รองเท้าผ้าใบ” แทนรองเท้าส้นสูง เพื่อให้พนักงานเดินได้สบายที่สุด ในขณะเดียวกัน สามารถบริการลูกค้าได้รวดเร็วด้วย”
“อีกทั้งเสื้อก็ต้องใส่แล้วสบาย ก่อนที่จะให้พนักงานใส่ ผู้บริหารต้องใส่แล้วรู้สึกเท่ด้วย เพราะถ้าผู้บริหารใส่แล้วรู้สึกอาย ตัวน้องพนักงานของเราก็คงรู้สึกอายเหมือนกัน ซึ่งดิฉันจะเป็นคนลองชุดพนักงานด้วยตัวเอง ซึ่งมีรายละเอียด เช่น วงแขนเสื้อจะกว้าง เพื่อให้พนักงานเอื้อมหยิบของได้สะดวก กระเป๋าต้องใหญ่เป็นพิเศษเพื่อใส่อุปกรณ์ PDA ได้ง่าย เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่สะท้อนว่าเราอยากจะทำให้พนักงานของเรามีความสุขมากที่สุด”
ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องชุดฟอร์มพนักงานเท่านั้น ผู้บริหารสาวระบุว่า การทำให้ทีมงานเกิดความสุข ต้องดูแล พร้อมฟังเสียงสะท้อนจากพนักงาน หรือ voice of employee และไม่ใช่แค่ฟังเฉยๆ เท่านั้น แต่พยายามตอบความต้องการของพนักงานของเราได้มากที่สุด
“ในส่วนบาร์บีคิวพลาซ่า ทุกครั้งที่มีบริการหรือแคมเปญใดๆ ใหม่ เราจะเดินสายให้กำลังใจและขอบคุณพนักงานที่ช่วยกันบริการลูกค้าตามแคมเปญใหม่ พร้อมกับมีกล่องหนึ่งใบ เราเรียกว่า “กล่องใจถึงใจ” ให้พนักงานเขียนเปิดใจว่าแคมเปญที่ออกมานั้น พนักงานทุกคนรู้สึกอย่างไร มันมีปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ บ้าง แล้วเขียนลงกระดาษใส่กล่อง ซึ่งทุกใบ ดิฉันรวมถึงคุณพ่อคุณแม่ และผู้บริหารทุกคน จะอ่านด้วยตัวเอง เพื่อจะตอบสนองความต้องการของพนักงานได้รวดเร็ว จริงจัง ไม่แพ้ที่ตอบความต้องการของลูกค้า ทำให้พนักงานเห็นว่าตัวเองสำคัญ เพราะทุกเสียงที่สะท้อนออกมาเราจะทำให้อย่างเต็มที”
“รวมถึง เราบอกว่า employee first หมายถึงว่า อะไรก็ตามที่เราจะให้ลูกค้า พนักงานของเราจะได้รับด้วยเสมอ ตัวอย่างเช่น มีเมนูใหม่ใดๆ เราอยากให้พนักงานเชียร์ขายเมนูนี้ด้วย ถ้าเขาไม่เคยกิน จะไปบอกกับลูกค้าว่าอร่อยได้อย่างไร หรือดีอย่างไร ดังนั้น เราจัดเป็นกิจกรรมปาร์ตี้ให้ผู้บริหารเป็นคนมาปิ้งเมนูใหม่ให้พนักงานได้ชิม เขาจะได้อธิบายลูกค้าว่ามันอร่อยอย่างไร รวมถึงพวกของที่ระลึกต่างๆ ที่แจกลูกค้า พนักงานเราก็อยากได้เช่นกัน เราก็มีกิจกรรมแจกของรางวัลให้พนักงาน รวมถึงมีคูปองให้พนักงาน 2 ใบสำหรับพาครอบครัวมากินได้ด้วย เหล่านี้ เราหยอดกระปุก ค่อยๆ สร้างความผูกพันให้เขา เพื่อเขาจะได้ทุ่มเท และสามารถส่งต่อความสุขไปสู่ลูกค้าได้”
เมื่อทำเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอ สิ่งที่จะได้กลับมา คือ ความทุ่มเทของพนักงาน และความผูกพันของพนักงานให้แก่บริษัท ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างมหาศาล เพราะเมื่อพนักงานเกิดความผูกพันกับองค์กรแล้ว พนักงานจะออกไปพูดถึงบริษัทหรือองค์กรให้แก่คนรอบๆ ตัวฟังในแง่ดี ต่อมาเขาจะอยู่นาน ซึ่งทำให้มีความเชี่ยวชาญ ชำนาญในหน้าที่ ไม่เกิดอัตราหมุนเวียนพนักงานมาก อีกทั้งพนักงานที่ไร้คุณภาพก็จะถูกขับออกโดยพนักงานที่ดี ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ขององค์กร และที่สำคัญที่สุด เมื่อพนักงานส่วนใหญ่ทุ่มเททำงานแล้ว องค์กรก็จะยิ่งได้รับประโยชน์ ไม่ว่าจะทำอะไรก็สำเร็จแน่นอน”
@@@@ เปลี่ยนแล้วรวย ครองเบอร์หนึ่งธุรกิจปิ้งย่าง @@@@
สุดท้าย ชาตยาระบุว่า จากการพยายามทำในสิ่งที่ดูเหมือนจะจับต้องไม่ได้ แต่ถ้าทำสม่ำเสมอ ทำอย่างจริงใจ และทำอย่างมากพอ ความสำเร็จเชิงธุรกิจจะตามมาเอง อย่างของบาร์บีคิวพลาซ่า ในปี ค.ศ. 2011 มียอดขายรวมประมาณ 1,700 ล้านบาท เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 2014 ยอดขายเพิ่มเป็น 2,700 ล้านบาท หรือเติบโตกว่า 58.8% ซึ่งปีดังกล่าวสภาพเศรษฐกิจโดยรวมจะชะลอตัว ธุรกิจร้านอาหารทั่วไปเติบโตเฉลี่ย 3% แต่เราโต 15.6% นอกจากนั้น เรายังกลับมาเป็นผู้ประกอบการธุรกิจอาหารปิ้งย่างที่มีสัดส่วนในตลาดสูงสุดกว่า 55%
“สรุป การเปลี่ยนแปลงของบาร์บีคิวพลาซ่า 1. เราเปลี่ยนจากการทำธุรกิจที่จะขายอาหารมาเป็นความเชื่อในการสร้างความสุข 2. เชื่ออยู่ในธุรกิจของ “คน” ต้องมีคนที่จะช่วยฝ่าฟันอุปสรรคที่กำลังเจออยู่ และเมื่อทำมากเพียงพอ ผลสำเร็จทางธุรกิจจะตามมาเอง”
ทั้งนี้ สำหรับหนังสือที่อยากจะแนะนำเอสเอ็มอีเพื่อจะเป็นแรงบันดาลใจทางธุรกิจได้ คือ start with why, zero to one และ mission ซึ่งหนังสือเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถหา WHY สำหรับธุรกิจของตัวเองได้
“สุดท้าย คำถามที่ดิฉันอยากฝากไว้ให้เอสเอ็มอีทุกคนต้องกลับไปหา คือ WHY หรือแก่นธุรกิจของแต่ละท่านคืออะไร” ทายาทธุรกิจสาวกล่าว
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *