คอลัมน์ “SMEs Boost-Up” คอลัมน์ใหม่ที่จะมาพบผู้อ่านทุกวันอาทิตย์ ในเซ็คชั่น SMEs ในเว็บไซต์ manager online (www.manager.co.th/SMEs) ซึ่งเรียบเรียงขึ้นโดยทีมงาน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ของกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ต้องการขอสินเชื่อกับธนาคาร แต่ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
สิ่งที่เราจะนำเสนอนอกจากความรู้ทางด้านการเงิน การขอสินเชื่อ และการค้ำประกันสินเชื่อแล้ว ยังนำเสนอมาตรการต่างๆ ของภาครัฐครอบคลุมในทุกๆ ด้าน เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ จึงเป็นที่รู้กันว่า หากผู้ประกอบการ SMEs เข้มแข็ง นั่นหมายถึงเศรษฐกิจของประเทศจะเข้มแข็งตามไปด้วย
ไม่แปลกที่รัฐบาลของหลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการออกนโยบาย และมาตรการส่งเสริม เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ SMEs ของตัวเอง เห็นได้ชัดจากทั้งญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ เพื่อนบ้านใกล้เคียง ที่มีการฟูมฟักผู้ประกอบการของตัวเองจนเติบใหญ่ กลายเป็นธุรกิจระดับภูมิภาค กระทั่งระดับโลก ก็มีให้เห็นมาแล้ว
กลไกขับเคลื่อนสำคัญ จึงไม่พ้นภาครัฐที่ต้องมา เป็นแพคเกจการช่วยเหลือ ทั้งมาตรการทางการเงิน การคลัง อุตสาหกรรม และพาณิชย์ ฯลฯ ผนวกเข้าด้วยกัน แบบ “ฟูล ออปชั่น” จึงจะ “แรง” พอจนทำให้ SMEs เหล่านี้กลายเป็นผู้ประกอบการที่สามารถลืมตา อ้าปาก และสร้างเนื้อ สร้างตัว จนกลายเป็นพี่ใหญ่ในวงการได้
ภาพดังกล่าว ไม่ได้ห่างตัวมากนัก หากดูสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในไทย โดยเฉพาะยุคของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่หยิบยกเรื่องของ “เอสเอ็มอี” ขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ
ทำให้การช่วยเหลืออย่างเข้มข้น มีให้เห็นเป็นระยะๆ มาตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดย บสย. ซึ่งทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ต้องการขอสินเชื่อกับธนาคาร แต่ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งการมี บสย. มาช่วยรับความเสี่ยงแทน ทำให้ธนาคารมีความกล้าที่จะปล่อยสินเชื่อมากยิ่งขึ้น
บสย. จึงถือเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนหลักของรัฐบาล เพื่อช่วย SMEs ที่ต้องการขอสินเชื่อธนาคาร กรณีไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาที่เกิดกับกับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ทำให้การขอสินเชื่อกลายเป็นเรื่องยากของคนกลุ่มนี้
โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ที่การค้าขายเป็นรายวัน เงินทุนหมุนเวียนจึงเป็นเรื่องจำเป็น บางรายเงินกู้เพียง 5 หมื่นบาทก็สามารถช่วยต่อชีวิต และทำให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และคนกลุ่มนี้เอง ที่ปัญหาหลักๆ ในการขอสินเชื่อธนาคารก็คือ การหาหลักทรัพย์ค้ำประกัน ที่ยากยิ่ง หรือการหาคนมาค้ำประกัน ก็เป็นเรื่องที่ลำบากมากขึ้น ทำให้จำนวนมากต้องไปพึ่งหนี้นอกระบบ พร้อมกับดอกเบี้ยที่สูงลิ่ว
ข่าวดีเร็วๆ นี้ คือ บสย.จะมีโครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อยเฟส2 (วงเงินขอสินเชื่อสูงสุด 200,000 บาท) กับวงเงินค้ำประกันที่อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากรัฐบาล ออกมาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มนี้ หลังจากปีที่แล้ว โครงการนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง กับวงเงินค้ำประกัน 5,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ถึงกว่า 40,000 ราย สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการ SMEs ของ บสย.
โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม ร้านค้าปลีก ร้านขายอาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงร้านขายปลีกตามแผงลอย และตลาดสด ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ปีนี้ บสย. สามารถสานต่อการช่วยเหลือ SMEs รายย่อยได้อีกจำนวนมาก
ขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป (วงเงินสินเชื่อสูงกว่า 200,000 บาท) บสย.ยังมีโครงการค้ำประกัน PGS5 ปรับปรุงใหม่ ซึ่งรัฐบาลอนุมัติเมื่อเดือนกันยายน 2558 ในวงเงิน 100,000 บาท คอยให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการ โดยโครงการดังกล่าวจะหมดเขตรับคำขอในวันที่ 30 มิถุนายน 2559
ใครที่ต้องการสอบถามเรื่องการขอสินเชื่อ และการค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. เพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ บสย. 02-890-9999 หรือในเว็บไซต์ www.tcg.or.th เราพร้อมสร้างความเข้มแข็ง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs
บทความโดย : บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *