xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อมั่น SMEs พ.ย.หดตัว เชื่อ 3 เดือนข้างหน้ากระเตื้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
สสว.เผยดัชนีเชื่อมั่น SMEs เดือน พ.ย. 2558 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 43.2 เพราะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ กำลังซื้อผู้บริโภคหดหาย ส่วนคาด 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 57.8 ผลจากการมาตรการลดหย่อนภาษีของภาครัฐเพื่อกระตุ้นการบริโภคและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index: TSSI) ประจำเดือนพฤศจิกายน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2558 พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ ลดลงอยู่ที่ 43.2 จากระดับ 51.2 (ลดลง 8.0) ซึ่งเป็นผลจากการดัชนีภาคค้าส่งลดลงอยู่ที่ระดับ 46.2 จาก 48.5 (-2.3) ภาคค้าปลีกลดลงอยู่ที่ระดับ 42.5 จาก 52.2 (-9.7) และภาคบริการลดลงอยู่ที่ระดับ 42.6 จาก 51.3 (-8.7)

สาเหตุเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมในประเทศยังฟื้นตัวไม่เด่นชัด ผลจากระดับราคาสินค้าเกษตรมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง กระทบรายได้ของเกษตรกรซึ่งถือเป็นกำลังซื้อสำคัญของประเทศ ส่งผลต่อเนื่องไปยังกิจการบริการด้านขนส่งสินค้า ซึ่งภาคเกษตรถือเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่ใช้บริการ ขณะที่การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ SET Index ปรับตัวลดลง และภาคการส่งออกยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง

ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีภาพรวมภาคการค้าและบริการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 57.8 จากระดับ 53.9 (เพิ่มขึ้น 3.9) โดยภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 55.0, 59.6 และ 56.9 จากระดับ 52.8, 55.9 และ 51.9 (เพิ่มขึ้น 2.2, 3.7 และ 5.0) สำหรับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 52.0 จากระดับ 51.0 (เพิ่มขึ้น 1.0) ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อธุรกิจตนค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 68.1 จากระดับ 58.7 (เพิ่มขึ้น 9.4) อย่างไรก็ดี ค่าดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับที่เกินกว่าค่าฐาน คือ 50 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการ SMEs เชื่อมั่นว่าการประกอบธุรกิจในช่วง 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้น

โดยมีปัจจัยบวกสำคัญมาจากค่าเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าลง ณ สิ้นเดือน พ.ย. อยู่ที่ 35.7833 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาขายปลีกน้ำมันในปัจจุบันปรับตัวในทิศทางที่ลดลงต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ SMEs ขณะที่สถานการณ์ค่าครองชีพเริ่มปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในเดือน พ.ย.ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องคิดเป็นร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการใช้จ่ายภาคบริการเป็นหลัก เช่นเดียวกับสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับผลการสำรวจดัชนีรายภูมิภาคเดือน พ.ย. เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ต.ค.พบว่า ค่าดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า เกือบทุกภูมิภาคปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยภูมิภาคที่ค่าดัชนีคาดการณ์เพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ ภาคเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 61.5 จากระดับ 53.7 (เพิ่มขึ้น 7.8) รองลงมาคือ ภาคกลาง ตะวันออกและตะวันตก ค่าดัชนีอยู่ที่ 61.4 จากระดับ 57.6 (เพิ่มขึ้น 3.8) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 59.7 จากระดับ 56.9 (เพิ่มขึ้น 2.8) และภาคใต้ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 55.5 จากระดับ 50.6 (เพิ่มขึ้น 4.9) ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 53.0 จากระดับ 52.8 (เพิ่มขึ้น 0.2)

อย่างไรก็ดี สถานการณ์เศรษฐกิจโดยภาพรวมยังมีปัจจัยเกื้อหนุนมาจาก ค่าครองชีพปรับตัวดีขึ้น ต่อเนื่อง ผลจากการปรับตัวลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ เช่นเดียวกับสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 โดยเดือน พ.ย. มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจำนวน 2.55 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับค่าเงินบาทมีแนวโน้มปรับตัวอ่อนค่าลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังเชื่อมั่นว่าการที่หน่วยงานภาครัฐจะเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการต่างๆ จะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น ซึ่งปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของ SMEs ในระยะต่อไป

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น