xs
xsm
sm
md
lg

THBA กระทุ้งรัฐออกมาตรการหนุนรับสร้างบ้าน ดึงกำลังซื้อกลุ่มเงินออมแทนเงินกู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สิทธิพร สุวรรณสุต
THBA เชื่อไตรมาส 4 ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านกระเตื้อง ผลจากกำลังซื้อที่อั้นมานาน ผนวกปัจจัยบวกราคาน้ำมันลด ต้นทุนวัสดุนิ่ง ผู้ประกอบการโหมกิจกรรมตลาด และมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ภาครัฐ ด้านนายกสมาคมฯ แนะรัฐบาล “ลุงตู่” หันสร้างแรงจูงใจประชาชนนำเงินออมมาลงทุนสร้างบ้านใหม่ แทนดึงเงินในอนาคตมาใช้จ่าย เชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแต่หนี้ครัวเรือนไม่ขยับ ด้านพีดีเฮ้าส์ เตรียมอัดงบการตลาด 10 ล้านบาท หวังดันยอดขายโค้งสุดท้ายเข้าเป้า 1,400 ล้านบาท

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีดี เฮ้าส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ และเอคิวโฮม เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านไตรมาสสุดท้ายปี 2558 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หลังจากความต้องการสร้างบ้าน และกำลังซื้อผู้บริโภคอั้นมานาน กอปรกับราคาวัสดุก่อสร้างที่ไม่ขยับขึ้น และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง รวมถึงทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ มีมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ออกมา ซึ่งถือเป็นจังหวะที่ดี และสอดรับต่อกำลังซื้อที่เริ่มขยับฟื้นตัว ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้รับข้อมูลจากสมาชิกกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้าน หรือศูนย์รับสร้างบ้าน ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งในต่างจังหวัดทั่วประเทศ ว่า มีผู้บริโภค และประชาชนสนใจสอบถามเข้ามากันคึกคักเกี่ยวกับเงื่อนไข และวงเงินให้กู้ยืมเพื่อปลูกสร้างบ้านตามมาตรการที่รัฐบาลประกาศออกมา อย่างไรก็ดี พบว่าผู้บริโภคที่สนใจส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่สูงนัก และยังมีภาระหนี้สินอื่นที่ต้องผ่อนชำระต่อสถาบันการเงิน แต่เมื่อรู้ว่ารัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น จึงมีความสนใจ และคิดจะปลูกสร้างบ้านของตัวเอง

“ธุรกิจรับสร้างบ้านนั้นเกิดจากกลุ่มผู้ประกอบการหลักๆ ที่เรียกตัวเองว่า บริษัทรับสร้างบ้าน หรือศูนย์รับสร้างบ้าน ซึ่งได้พัฒนา และยกระดับมาตรฐานธุรกิจของตัวเองให้มีความแตกต่างจากผู้รับเหมารายย่อยทั่วไป ด้วยการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ และเข้าสู่ระบบของรัฐ ด้วยการชำระภาษีถูกต้องตามกฎหมาย ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการเปิดดำเนินธุรกิจ และมีสำนักงานตั้งอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทุกภูมิภาคกว่า 200 ราย โดยจำนวน 1 ใน 3 เป็นสมาชิกของ 2 สมาคมไทยรับสร้างบ้าน และสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน โดยที่ผ่านมา มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ของทุกรัฐบาลนั้นธุรกิจรับสร้างบ้าน หรือผู้ประกอบการแทบไม่ได้รับอานิสงส์ใดๆ มาก่อน สาเหตุเป็นเพราะภาครัฐเองไม่เข้าใจว่าธุรกิจรับสร้างบ้านนั้นมีบทบาทไม่ต่างกับธุรกิจบ้านจัดสรร มาตรการครั้งนี้ก็เช่นกันที่รัฐบาลให้น้ำหนักไปที่บ้านจัดสรร”

ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีความเข้าใจธุรกิจรับสร้างบ้าน และออกมาตรการมาช่วยกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคกลุ่มที่เลือกปลูกสร้างบ้านเองต่อผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน หรือศูนย์รับสร้างบ้านที่อยู่ในระบบ เชื่อมั่นว่าจะเป็นผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเช่นกัน ที่สำคัญก็คือ จะไม่ก่อให้เกิดภาระหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น เหตุผลก็เพราะว่า ประการแรก ผู้บริโภค และประชาชนกลุ่มนี้กว่าร้อยละ 70 ใช้เงินออมที่สะสมไว้มาลงทุนสร้างบ้านหลังใหม่ จึงเท่ากับว่าเป็นการกระตุ้นให้นำเงินออมที่อยู่นิ่งๆ มาก่อให้เกิดการลงทุน และใช้จ่าย แทนการดึงเงินในอนาคตมาใช้ล่วงหน้า ประการที่สอง ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีที่ดินเปล่าเป็นของตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้น เม็ดเงินที่ลงทุน หรือใช้จ่ายเรื่องบ้านจะเป็นค่าก่อสร้าง หรือตกแต่งบ้านเกือบทั้งหมด โดยไม่มีค่าซื้อที่ดินเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น วัสดุก่อสร้างและตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ภายในบ้าน ฯลฯ ได้รับประโยชน์ และก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในภาคธุรกิจต่อเนื่องร่วมกัน

“สมาคมฯ มองว่า ในเมื่อรัฐบาลมีแนวคิดจะกระตุ้นเศรษฐกิจ และกำลังซื้อภายในประเทศก็ไม่ควรเลือกใช้มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ เฉพาะต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น โดยมาตรการทางภาษี หรือลดหย่อนภาษีน่าจะจูงใจมากที่สุด สำหรับผู้บริโภคที่เลือกสร้างบ้านเอง (ไม่ซื้อบ้านจัดสรร) เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้บริโภคมักจะมองว่าการเลือกผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่อยู่ในระบบจะทำให้มีภาระภาษี และต้องจ่ายค่าก่อสร้างบ้านแพงขึ้นจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่แฝงอยู่ในราคาบ้าน ส่วนใหญ่จึงยังนิยมใช้บริการกับผู้รับจ้างรายย่อยๆ นอกระบบมากกว่า ดังนั้น หากภาครัฐมีมาตรการคืนภาษีให้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง นอกจากจะกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภค และประชาชนแล้ว ยังเป็นการช่วยผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่อยู่ในระบบ ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถฝ่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวครั้งนี้ไปได้อีกด้วย”

นายสิทธิพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพีดีเฮ้าส์ และบริษัทในเครือ ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ทำยอดขายได้เพียง 300 ล้านบาทเศษ จากเป้าที่ตั้งไว้ 500 ล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้าร้อยละ 40 แม้ว่าจะใช้กลยุทธ์การตลาดทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ พร้อมๆ กับอัดโปรโมชันอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่อาจดันยอดขายให้เป็นไปตามเป้าได้ สาเหตุหลักๆ เป็นผลมาจากเศรษฐกิจชะลอตัวสะสมต่อเนื่อง รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้โภค และประชาชนที่ถดถอย อย่างไรก็ตาม ไตรมาสสุดท้ายปีนี้ พีดีเฮ้าส์ ได้เร่งปรับกลยุทธ์การแข่งขัน พร้อมทุ่มงบโฆษณา และประชาสัมพันธ์กว่า 10 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการรับรู้ และเร่งการตัดสินใจของผู้บริโภค โดยชูจุดเด่นรับสร้างบ้านอนุรักษ์พลังงาน คุ้มค่าต่อเม็ดเงินที่จ่ายไป และมีสาขาให้บริการมากที่สุดกว่า 40 สาขาทั่วประเทศ โดยตั้งเป้ายอดขายไตรมาสที่ 4 ไว้ทั้งสิ้น 500 ล้านบาท ทั้งนี้ หากยอดขายเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ก็จะทำให้ยอดขายรวมปี 2558 นี้คิดเป็น 1,400 ล้านบาท นายสิทธิพร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น