xs
xsm
sm
md
lg

ชี้จุดอ่อน “เอสเอ็มอีไทย” ขาดผลิตภาพ แรงงานฝีมือด้อย จี้เร่งยกระดับปรับตัวสู้!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี
“ดร.ณรงค์ชัย” ชี้ทิศทางเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงชะลอตัว การค้าขายและส่งออกยากลำบากขึ้น ปลุกเอสเอ็มอีต้องปรับตัว โดยเฉพาะสร้างมาตรฐานตรงกับกฎสากล ชี้ปมธุรกิจไทยขาดแคลนแรงงานฝีมือ และพึ่งพาแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก รวมถึงขาดผลิตภาพที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ แนะเร่งสำรวจตัวเอง และหาประโยชน์จากการเชื่อมโยงธุรกิจกับกลุ่ม CLMV

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “SMEsไทย เตรียมพร้อมรับมือเศรษฐกิจ ปี 2559อย่างไร” ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงโตช้า จากที่ก่อนหน้านี้มีประเทศเศรษฐกิจใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจีนและอินเดีย รวมถึงบราซิล รัสเซีย เป็นต้น มีแรงงานจำนวนมาก ต้นทุนถูก ทำให้เกิดการผลิตและบริโภคสูง ทำให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่ง ถึงจุดต้องชะลอตัวลง ทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจของโลกช้าตามไปด้วย ดังนั้นการขายสินค้าจึงยากขึ้น อย่างไรเสีย ตลาดก็ใหญ่ขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ในเวลานี้เราอยู่ในช่วงพลังงานราคาถูก กล้าการันตีว่าปีนี้ (2559) ราคาจะต่ำตกต่อเนื่อง และจะไม่สูงเหมือนช่วง 10 ปีที่แล้ว เพราะเชิงเศรษฐกิจ อะไรก็ตามราคาสูงเกินไปจะเกิดกระบวนผลิตพลังงานใหม่ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่สามารถดูดก๊าซในแนวนอนได้ ทำให้เปลี่ยนภาพด้านพลังงานน้ำมันและก๊าซ ซึ่งเริ่มรับซื้อพลังงานก๊าซจากทั่วโลก ทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตอัตราแค่ 1 ใน 3 ที่โลกใช้อยู่ และอนุญาตให้ส่งออกได้ รวมถึงพลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น พลังงานไฟฟ้าในรถยนต์ ทำให้ความต้องการใช้พลังงานน้ำมันและก๊าซราคาจึงตก ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเป็นผลดีที่ต้องนำเข้าพลังงานมูลค่ามหาศาล

อย่างไรก็ตาม เรามีปัญหาเรื่องมาตรฐานสากล โดยเฉพาะผู้ประกอบการระดับเล็ก ไม่ว่าจะเป็น TIP (Trafficking in Persons) การค้ามนุษย์/ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ซึ่งประเทศใช้แรงงานเหล่านี้จำนวนมาก, IUU มาตรการป้องกันและขจัดการทำประมงผิดกฎหมายของสหภาพยุโรป ซึ่งไทยทำผิดกฎสากลมานาน, CITES การค้าของป่า ทั้งสัตว์ป่าและพืชป่า และ ICAO กฎระเบียบการบินพลเรือน นอกจากนั้น อาจจะมีปัญหาภัยก่อการร้ายสากลด้วย เหล่านี้คือสิ่งที่ประชาชนไม่เข้าใจ กินเวลาของรัฐบาลไป 1 ใน 3 กระทบการทำงานรัฐบาลอย่างยิ่ง ซึ่งคนทำธุรกิจต้องรู้ รับทราบ และปฏิบัติตามให้ได้

ทั้งนี้ เศรษฐกิจของประเทศไทยมูลค่าเพิ่มสูงสุดคือภาคบริการ ตามด้วยภาคการผลิต และเกษตร ซึ่งประเทศไทยจึงมีโอกาสเติบโตด้านภาคบริการสูงมาก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจแบบเปิด ดังนั้น เราต้องปฏิบัติตามกฎของสากลให้ได้ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านนิยมสินค้าไทย เราต้องปรับทัศนคติที่มีต่อเพื่อนบ้าน

ส่วนแนวโน้มสำหรับเศรษฐกิจไทย อยู่ในช่วงเศรษฐกิจ/การค้าโตช้า โลกการเงินเชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์ อิสรภาพในการบริหารเองมีจำกัด ปัญหาโครงสร้างภายในประเทศของเราเอง ซึ่งส่วนนี้เราสามารถปรับได้ แต่ที่ผ่านมาเรามีปัญหาเรื่องอุปทาน โดยผลิตภาพ (Productivity) จำกัด เพราะแรงงานคุณภาพต่ำ เกิดจากการศึกษาต่ำกว่า 9 ปี เทคโนโลยีใหม่ไม่สามารถเสริมศักยภาพมาก รวมถึงการลงทุนเรื่อง Productivity จำกัด ส่วนใหญ่ทำเฉพาะในองค์กรขนาดใหญ่ และอัตราการขยายของเศรษฐกิจไทยผันผวน ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ดร.ณรงค์ชัยกล่าวต่อว่า สำหรับเอสเอ็มอีไทยอยู่ในภาคการค้าและซ่อมบำรุงกว่า 42% ซึ่งเป็นรายย่อย และใช้แรงงานเข้มข้น เมื่อปัจจัยภายนอก และภายในดังกล่าว โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานเถื่อน รวมถึงแรงงานหนีกลับบ้าน แม้จะพยายามจัดระเบียบให้เกิดการจดแจ้งตั้งแต่เดือน มี.ค. 28 จำนวนกว่า 1.5 ล้านราย รวมๆ แล้วกว่า 4 ล้านคน แสดงให้เห็นว่าเราต้องจัดการเรื่องแรงงานให้ดีอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ สิ่งที่เอสเอ็มอีต้องเร่งปรับตัว สิ่งสำคัญที่สุดคือ การรับมือ ซึ่งแต่ละรายต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับตัวเอง โดยรายละเอียดต้องไปดูตัวเอง ไม่สามารถระบุเฉพาะเจาะจง เพราะมีความหลากหลายสูง อย่างไรก็ตาม แนวทางสำคัญที่ควรทำ คือ บริหารสภาพคล่อง จัดโครงสร้างหนี้สินและทุนให้ดี บริหารความเสี่ยงทางการชำระเงิน รักษาฐานะทางธุรกิจ โดยเพิ่มมาตรฐาน และเพิ่มช่องทางการผลิตแบบเครือข่าย

นอกจากนั้น ที่กำลังมาแรง ใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กๆ จะใช้ประโยชน์และปรับตัวได้เร็วกว่า ซึ่งรัฐบาลพยายามสร้างฟอร์มสมบูรณ์แบบที่ผู้ประกอบการใช้ได้ง่ายที่สุด ทั้งถูกและสะดวก อีกปัจจัย ต้องเพิ่มความสามารถในการปรับตัวของพนักงาน เช่น ฝึกอบรม เพิ่มความยืดหยุ่นในการโยกย้ายภายในองค์กร และใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่ม CLMV อย่างจังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น เกิดการพัฒนาสูงมาก และมีเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เกิดเปลี่ยนภูมิศาสตร์ทางเศรษฐกิจไปทั้งหมด ดังนั้น กลุ่มธุรกิจใดก็ตามที่อยู่ไม่ใกล้จากประเทศเพื่อนบ้าน จะได้ประโยชน์อย่างมาก

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น