“กระวาน” พืชในตำนานที่ขึ้นในเทือกเขาสอยดาว จ.จันทบุรี เป็นที่ยอมรับด้านคุณประโยชน์สูงนานาประการ มีการสกัดเป็นสมุนไพร และใช้ประกอบอาหารมานานนับร้อยๆ ปี ทว่า ชื่อเสียงดังกล่าว มักจำกัดเฉพาะกลุ่มผู้นิยมสมุนไพร ในขณะที่ ปัจจุบันปริมาณการปลูกลดลงเรื่อยๆ เพราะราคาขายวัตถุดิบสดที่ต่ำ ประกอบกับความยากลำบากในปลูกและเก็บ ล้วนไม่จูงใจเกษตรกร หากปล่อยสถานการณ์เป็นเช่นนี้ อนาคต กระวานเมืองจันท์อาจสูญพันธุ์
เพราะไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น “ชรัตน์ เนรัญชร” หนุ่มวัย 33 ปี ชาว อ.สอยดาว โดยกำเนิด ลุกขึ้นมาเป็นหัวหอกฟื้นตำนานกระวานให้เป็นที่รู้จักอีกครั้ง โดยสร้างนวัตกรรมแปรรูปกระวานเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตอบความต้องการผู้บริโภคได้กว้างขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเพิ่มมูลค่าจากเดิมหลายเท่า
หนุ่มคนนี้ ดีกรี จบปริญญาโทด้านการเงิน และเคยทำงานในองค์กรชั้นนำ ก่อนจะกลับมาช่วยดูแลธุรกิจสวนผลไม้ของครอบครัวที่ อ.สอยดาว จ.จันทบุรี เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว
“แนวคิดในการทำธุรกิจของผม อยากจะต่อยอดพืชผลการเกษตรประจำท้องถิ่น ผ่านการแปรรูป ซึ่ง “กระวาน” เป็นพืชที่ผมคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และอาหารพื้นบ้านของชาวจันทบุรีมักมีกระวานเป็นส่วนประกอบเสมอ และเมื่อไปค้นข้อมูลของกระวาน ยิ่งทำให้ผมสนใจ เพราะมีสรรพคุณสูงมาก คนโบราณนำไปทำสมุนไพรมากว่าร้อยปีแล้ว อีกทั้ง การปลูกต้องอยู่ในพื้นที่อากาศชื้น ร่มรื่น และร่มเย็นของป่า แสงแดดไม่จัด ตลอดจนธาตุอาหารในดินต้องสมบูรณ์ ปัจจัยดังกล่าว เขาสอยดาวจึงเป็นพื้นที่ปลูกกระวานคุณภาพดีที่สุดของประเทศ” เขาเล่าแนวคิดเริ่มต้น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กระวาน ถูกใช้แค่ส่วน “ผล” นำไปอบแห้งทำเป็นเครื่องเทศ หรือบดเป็นเครื่องยาโบราณเท่านั้น ราคาขายอยู่ประมาณ 250-500 บาทต่อกิโลกรัม ส่วน “หน่ออ่อน” ที่ใช้ประกอบอาหารขายราคาแค่ไม่กี่สิบบาท เมื่อเทียบกับความยากในการปลูก กว่าจะเก็บเกี่ยวได้ นานถึง 3 ปี และปีหนึ่งจะเก็บได้ครั้งเดียวในช่วงเดือนสิงหาคม รวมถึง ต้องลำบากไปเก็บบนเขาสอยดาว ทำให้ปริมาณการปลูกกระวานน้อยลงเรื่อยๆ
“แนวคิดหลักของผมต้องการเพิ่มมูลค่าให้กระวาน เพื่อจะจูงใจให้ชาวบ้านอยากจะปลูกต่อ ซึ่งจะทำให้ได้ต้องแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ผู้บริโภคนิยมใช้ได้ในวงกว้าง ผมเลยนำแนวคิดนี้ไปปรึกษากับกองยาแผนไทยและสมุนไพร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ปรากฏว่า มีงานวิจัยเกี่ยวกับการแปรรูปกระวานอยู่แล้ว ผมและหน่วยงานรัฐแห่งนี้จึงร่วมกันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปกระวาน” ชรัตน์ เผย
เบื้องต้น ติดต่อชาวบ้านผู้ปลูกให้นำกระวานมาขาย โดยในส่วนของผลกับหน่ออ่อน จะรับซื้อในราคาตลาด ส่วน “ใบ” ที่เดิมตัดทิ้งเปล่าๆ ไม่มีค่า นำมาขายได้ราคา 40 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนการผลิตแปรรูปต่างๆ ใช้วิธีจ้างโรงงานแปรรูปมาตรฐานระดับส่งออกใน จ.จันทบุรี ระยะแรกทำออกมา 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ชุดเครื่องต้มยำอบแห้ง ชาพร้อมดื่ม และน้ำมันหอมระเหย ดำเนินงานภายใต้กลุ่มกระวานจันท์พันธุ์แท้
หนุ่มไฟแรง เผยด้วยว่า กระวานจัดเป็นพืชล้มลุกตระกูลเดียวกับขิง และข่า มีสรรพคุณเด่นด้านช่วยระบบทางเดินอาหาร อีกทั้ง มีกลิ่นหอมช่วยระบบหายใจ นอกจากนั้น ยังมีสารที่เหมาะสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ส่วนการทำตลาด ผ่านการออกงานแสดงสินค้าภูมิปัญญาไทย เช่น โอทอปซิตี้ รวมถึง ขายผ่านออนไลน์ และวางขายในร้านค้าชุมชนที่ จ.จันทบุรี
“ช่วงแรกถือเป็นการทดสอบตลาด และแนะนำสินค้าให้ผู้บริโภครู้จัก หากตลาดตอบรับดี ในปี 2559 ผมมีแผนจะสร้างโรงงานของตัวเองที่ได้มาตรฐานสากล โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่สนับสนุนธุรกิจของเอสเอ็มอีที่มีนวัตกรรม โดยจะมุ่งแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าสูง โดยเฉพาะกลุ่มเวชสำอาง เพราะกระวานจันท์มีคุณสมบัติเหมาะสมอย่างยิ่ง อีกทั้ง เป็นสินค้าใหม่ไม่เคยมีมาก่อนในตลาด และตรงกับเทรนด์คนรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพอีกด้วย”
เขาเสริมด้วยว่า ปัจจุบัน บนเขาสอยดาว มีพื้นที่ปลูกกระวานกว่า 1,500 ไร่ หากเกษตรกรมีตลาดรองรับซื้อแน่นอน จะจูงใจให้คงการปลูกกระวานต่อเนื่อง ช่วยให้มีปริมาณวัตถุดิบเพียงพอ โดยแผนธุรกิจที่เตรียมไว้ ในช่วงหน้าเก็บเกี่ยว จะรับซื้อผลผลิตจากชาวบ้าน เพื่อนำมาเข้ากระบวนการอบแห้งสำหรับเตรียมไว้สำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขายได้ตลอดทั้งปี
ส่วนเป้าหมาย ต้องการจะสร้างชื่อกระวานให้เป็นที่รู้จักในนามพืชสมุนไพรล้ำค่าด้วยภูมิปัญญาประจำท้องถิ่นเขาสอยดาว จ.จันทบุรี ผ่านการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ด้วยมาตรฐานสากล เพื่อตอบไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ไม่เพียงแค่ในตลาดเมืองไทยเท่านั้น แต่หวังให้ขายในตลาดโลกด้วย
ติดต่อ โทร.08-1209-3637
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *