ASTVผู้จัดการ - ภาพผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้อาวุธปืนสั้นยิงใส่คนเสื้อแดงบริเวณหลักสี่ของกรุงเทพฯ ของนายโจนาส กรัทเซอร์ ได้รับรางวัลอันดับ 1 ประเภทภาพในเหตุการณ์ข่าวยอดเยี่ยม ส่วนตัวเขาเองก็คว้าตำแหน่งช่างภาพดีเด่นประจำปีไปอีกรางวัล จากการประกาศของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (เอฟซีซีที) เมื่อวันพุธ (5 ส.ค.)
นายโจนาส กรัทเซอร์ ช่างภาพอิสระชาวสวีเดน ที่มีความเชี่ยวชาญการถ่ายภาพในเรื่องสิทธิมนุษยชน การแสวงหาผล ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมและเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ได้รับการคัดเลือกให้เป็นช่างภาพแห่งปี ประจำปี 2015 ในการแข่งประกวดภาพถ่ายจากทั่วเอเชีย โดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (เอฟซีซีที) และไลต์ร็อกเกต (www.lightrocket.com)แพล็ตฟอร์มออนไลน์อันทันสมัย ที่ให้บริการภาพถ่าย และภาพเขียนศิลปินจากทั่วโลก ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และในปีนี้ได้รับความสนใจจากช่างภาพที่ร่วมประกวดมากกว่า 140 คน รวมเป็นภาพถ่ายจำนวนเกือบ 3,000 ภาพ
นอกจากนี้แล้ว นายกรัทเซอร์ซึ่งได้รับความชื่นชมจากเหล่าคณะกรรมการต่องานภาพถ่ายของเขา ยังคว้ารางวัลที่หนึ่ง ประเภทภาพในเหตุการณ์ข่าวอีกหนึ่งรางวัลซึ่งภาพดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้อาวุธปืนสั้นเปิดฉากดวลปืนกับคนเสื้อแดงบริเวณหลักสี่ของกรุงเทพฯ ระหว่างเหตุความวุ่นวายทางการเมืองของไทย ส่วนรางวัลชมเชย เป็นภาพผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาในพม่า จากฝีมือของพอลลาร์ บรอนสไตน์
ส่วนประเภทอื่นๆ ก็มีรางวัลภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกับข่าว ซึ่งภาพที่ชนะเลิศอันดับ 1 เป็นภาพคนงานเดินสายไฟในบังกลาเทศของโพรบาล ราชิด ช่างภาพสารคดี จากกรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทสิ่งแวดล้อมเป็นของ รูเบ็น ซัลกาโด เอสคุเดโร ช่างภาพอิสระชาวสเปน (พลังงานโซลาร์ในพม่า) ขณะที่ผู้ชนะเลิศรางวัลประเภทเล่าเรื่อง ได้แก่ อนิค ราห์มัน ช่างภาพข่าวอิสระจากบังกลาเทศ (ภัยพิบัติเรือข้ามฟากในบังกลาเทศ)
คณะกรรมการกล่าวว่า รู้สึกประทับใจและแปลกใจเป็นอย่างมากกับผลงานในปีที่ผ่านของ โจนาส กรัทเซอร์ ที่รวบรวม เอาภาพถ่ายรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วทั้งเอเชียได้อย่างครอบคลุมและรวดเร็ว และอยู่ในสภาพการทำงานที่ยากเย็นอยู่ตลอด
คำตัดสินของคณะกรรมการบอกว่างานต่างๆ ของของกรัทเซอร์ ซึ่งคว้าตำแหน่งช่างภาพดีเด่นประจำปี เป็นการนำเสนอด้วยมุมมองที่ลึกซึ้งราวกับรายงานสด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสภาพพื้นที่ที่ถูกลืม หรือในเขตพื้นที่ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ
ทั้งนี้ รูปถ่ายที่ส่งเข้าประกวดของเขานั้นรวมถึงการติดตาม เจ้าหน้าที่กฎหมายอิสลาม ที่เป็นกองตำรวจส่วนขบวนการสันติภาพอาเจะห์ในประเทศอินโดนีเซีย และโปรไฟล์ภาพชุดเยาวชนสตรี ในอินเดียที่กำลังรวมตัวกันเพื่อต่อสู้ กับการละเมิดสิทธิทางเพศ และการละเมิด ในรูปแบบอื่นๆ และชุดภาพที่เผยให้เห็นความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินงานโรงฟอกหนัง ที่ไม่ได้มาตรฐานในบังกลาเทศ โดยสิ่งที่คณะกรรมการรู้สึกต่อชุดภาพของกรัทเซอร์แต่ละชุดคือ การรายงาน ผ่านภาพถ่ายในมุมมองที่กว้างขึ้น จากการมีพื้นฐานทางวัฒธรรมที่แตกต่างกัน